ข่าวสารกิจกรรม
ไทย-ยูเนสโกร่วมกันผลักดันบทบาทของโรงเรียนบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
เมื่อวันอังคารที่ 15 ธันวาคม 2563 เวลา 09.30 น. นางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และผู้ประสานงานระดับชาติเครือข่ายโครงการการศึกษาเพื่อความเข้าใจอันดีระหว่างชาติ (National coordinator for UNESCO Associated Schools Network) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อขับเคลื่อนโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการว่าด้วยบทบาทของโรงเรียนในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 1/2563 ณ ห้องประชุมหม่อมหลวงมานิจ ชุมสาย สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีนางสาวจุไรรัตน์ แสงบุญนำ อดีตรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฯ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ (นางสาวชฎารัตน์ สิงหเดชากุล) แทนปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นักวิชาการ ตลอดจนผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม โดยมีสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป. ทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการ
การประชุมข้างต้นมีวัตถุประสงค์เพื่อหารือแนวทางการดำเนินโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการว่าด้วยบทบาทของโรงเรียนในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (UNESCO Associated Schools Network - ASPnet: Collaborative Action Research on the Role of Schools in Achieving SDGs in Asia-Pacific) โดยประเทศไทยได้รับเลือกจากสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ ให้เข้าร่วมโครงการดังกล่าว ในฐานะประเทศนำร่องร่วมกับญี่ปุ่นและเวียดนาม ในการนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบให้เลือก โรงเรียนเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ และโรงเรียนเบญจะมะมหาราช จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นโรงเรียนสมาชิกครือข่ายโครงการการศึกษาเพื่อความเข้าใจอันดีระหว่างชาติ (UNESCO Associated Schools Network: ASPnet) ASPnet ที่เปิดสอนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ซึ่งเป็นเกณฑ์ตามที่ยูเนสโกกำหนด เป็นโรงเรียนกรณีศึกษา (case study) เข้าร่วมการดำเนินการวิจัยดังกล่าว โดยผลที่คาดว่าจะได้รับจากการวิจัยครั้งนี้คือข้อมูลเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมและบทบาทของโรงเรียนในการผลักดันเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป้าหมายที่ ๔.๗ ว่าด้วยการสร้างสันติภาพ ความเท่าเทียมระหว่างเพศ การส่งเสริมประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ความเป็นพลเมืองโลก ความเข้าใจความหลากหลายทางวัฒนธรรม ฯลฯ มุ่งเน้นศึกษาสามประเด็นหลัก ได้แก่ หลักสูตร (curriculum) การจัดการเรียนการสอน (pedagogy) และการวัดผลการเรียนรู้ (assessment)
สรุปข่าวและภาพประกอบ : พัทธดนย์ หลงปาน
รัชนินท์ พงศ์อุดม
เรียบเรียง : สุปราณี คำยวง
กลุ่มความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศ
รายงานโดย กลุ่มสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
ข้อมูล ณ วันที่ : 17 ธันวาคม 2563