seameo
บทบาทของไทยในองค์การซีมีโอ
ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งองค์การ และได้ให้ความสำคัญกับองค์การดังกล่าว โดยได้สนับสนุนที่ตั้งสำนักเลขาธิการองค์การซีมีโอในประเทศไทยตามความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อปี พ.ศ. 2510 และในปี พ.ศ. 2545 ประเทศไทยได้จัดสรรงบประมาณเพื่อทำการบูรณะอาคารที่เป็นที่ตั้งสำนักเลขาธิการขององค์การ (อาคารดังกล่าวเป็นที่ตั้งของสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯด้วย) และได้เปลี่ยนชื่ออาคารจากอาคารดาราคารเป็น อาคาร 100 ปี หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล เพื่อรำลึกถึงผู้แทนประเทศไทยที่มีบทบาทในการก่อตั้งองค์การ คือ ม.ล. ปิ่น มาลากุล ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของไทยในขณะนั้น
นอกจากนี้ ในปี พ.ศ. 2510 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ไทยรับเป็นเจ้าภาพโครงการระดับภูมิภาคว่าด้วยเวชศาสตร์เขตร้อนของซีมีโอ (ทรอปเมด) โดยมีสำนักงานอยู่ที่คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ซี่งปัจจุบันได้ปรับเป็นเครือข่ายระดับภูมิภาค ต่อมาปี พ.ศ. 2521 กระทรวงศึกษาธิการได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขอความเห็นชอบในการรับเป็นเจ้าภาพโครงการระดับภูมิภาคว่าด้วยโบราณคดีและวิจิตรศิลป์ของซีมีโอ ซึ่งได้เปลี่ยนเป็นศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยโบราณคดีและวิจิตรศิลป์ (สปาฟา) เมื่อปี พ.ศ. 2528 และได้จัดสร้างอาคารเพื่อใช้เป็นสำนักงานที่เทเวศร์ ติดกับหอสมุดแห่งชาติ และในปี พ.ศ. 2531 ประเทศไทยได้รับเป็นเจ้าภาพศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยการอุดมศึกษาและการพัฒนาของซีมีโอ (ไรเฮด)
ในการเป็นเจ้าภาพสำนักเลขาธิการซีมีโอและศูนย์ระดับภูมิภาคต่างๆ อีก 3 ศูนย์ ทำให้ประเทศไทยต้องชำระเงินสนับสนุนสำนักงานและกิจกรรมของศูนย์ดังกล่าวได้แก่ ศูนย์สปาฟา ทรอปเมด ส่วนการสนับสนุนศูนย์ไรเฮด ได้ตั้งงบประมาณไว้ที่ทบวงมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ประเทศไทยยังได้ชำระเงินอุดหนุนให้กับองค์การมาโดยตลอดซึ่งหากคิดตามดัชนีค่าบำรุงของสมาชิก ประเทศไทยเป็นประเทศที่ชำระค่าบำรุงสูงสุด คือ ร้อยละ 25 นอกจากนี้ประเทศไทยยังได้ชำระเงินอุดหนุนให้กองทุนพัฒนาการศึกษาของซีมีโอ (SEAMEO Educational Development Fund : EDF) โดยการผูกพันด้วย
ในด้านการบริหารประเทศไทยได้มีบทบาทสำคัญ โดยการจัดส่งผู้แทนเข้าปฏิบัติงานในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักเลขาธิการซีมีโอมาแล้ว 5 คน คือ
1. ศาสตราจารย์ ดร. ก่อ สวัสดิ์พาณิชย์ (ธันวาคม 2508 – มกราคม 2511)
2. ศาสตราจารย์สุกิจ นิมมานเหมินทร์ (กุมภาพันธ์ 2511 – มีนาคม 2512)
3. พลเอกเนตร เขมะโยธิน (มกราคม 2513 – กุมภาพันธ์ 2515)
4. ศาสตราจารย์ ดร. อดุล วิเชียรเจริญ (กุมภาพันธ์ 2524 - กุมภาพันธ์ 2530)
5. ดร. สุภารักษ์ รัชอินทร์ (มิถุนายน 2540 – พฤษภาคม 2544)
ในปี 2554 ดร.วิทยา จีระเดชากุล จากประเทศไทย จะเข้าดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการซีมีโอ สืบต่อจาก Dato Ahamad bin Sipon จากมาเลเซีย ตามมติที่ประชุมสภาซีเมค ครั้งที่ 45 ในปี 2553
โครงการ | โครงการการมีส่วนร่วมของชุมชนขององค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAMEO Community Involve Programme) |
เริ่มต้นโครงการ | ตั้งแต่ปี 2539 จนถึงปัจจุบัน |
วัตถุประสงค์ |
1. เพื่อพัฒนาครู ทักษะของครูในการพัฒนาการเรียนของนักเรียน 2. เพื่อพัฒนาศักยภาพของครูใหญ่ในการจัดการโรงเรียน 3. ปรับปรุงให้อุปกรณ์การเรียนมีความทันสมัยมากขึ้น 4. พัฒนาศักยภาพและความพร้อมของเด็กในการเรียน 5. เพื่อเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองในการศึกษาของเด็ก |
การดำเนินงาน |
โดยการคัดเลือกโรงเรียนประถมศึกษาในชุมชนเพื่อให้ความช่วยเหลือในสิ่งที่จำเป็น เพื่อให้โรงเรียนสามารถดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน เช่น ทุนและการฝึกอบรมให้แก่บุคลากรของโรงเรียน ให้คำแนะนำ ปรับปรุงความพร้อม ความสามารถของนักเรียนโดยเน้นเรื่องสุขภาพ จัดหาหนังสือและอุปกรณ์ให้แก่ห้องสมุดของโรงเรียน จัดหาคอมพิวเตอร์พร้อมให้การฝึกอบรมการใช้อินเทอร์เน็ตแก่บุคลากรในโรงเรียน |
|
|
โครงการ | โครงการความร่วมมือระดับคุณภาพว่าด้วยคุณภาพและความเสมอภาคทางการศึกษาของซีมีโอ (QEE) |
เริ่มต้นโครงการ | ริเริ่มโครงการโดยประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2545 - ปัจจุบัน |
วัตถุประสงค์ |
จุดเน้นที่สำคัญ 5 ประการ ได้แก่ ด้านการจัดการโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานและวิธีการมีส่วนร่วมของบุคลากร เนื้อหาหลักสูตรและสื่อการเรียนการสอน สภาพแวดล้อมในการเรียนการสอน ความสามารถของครูและระบบตอบแทน และการมีส่วนร่วมของชุมชน ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อให้เครือข่ายในประเทศสมาชิกของซีมีโอ ได้ร่วมมือกันพัฒนาคุณภาพและความเสมอภาคทางการศึกษา |
การดำเนินงาน |
ประเทศไทยมีสถานศึกษาเข้าร่วมเป็นเครือข่ายระดับชาติ จำนวน 315 แห่ง ได้มีการจัดสัมมนาและประชุมปฏิบัติการหลายครั้ง ทั้งในระดับชาติและภูมิภาค โดยเมื่อปี 2546 ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมสัมมนาในระดับภูมิภาคเป็นครั้งแรก ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมีผู้แทนโรงเรียนเครือข่ายของประเทศสมาชิกได้มีโอกาสพบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน นับได้ว่าประสบผลสำเร็จอย่างดียิ่ง สำหรับประเทศสมาชิกอื่น เช่น ประเทศฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ก็ได้ไปขยายผลเช่นกัน |
|
|
โครงการ | โครงการจัดการศึกษาสำหรับผู้ด้อยโอกาสเพื่อบรรลุเป้าหมายการจัดการศึกษาเพื่อปวงชน (To Reach the Unreached in Southeast Asia and Achieve Education for All Goals by 2015) |
เริ่มต้นโครงการ | |
วัตถุประสงค์ |
เพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้ด้อยโอกาสอันจะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการจัดการศึกษาเพื่อปวงชน และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ |
การดำเนินงาน |
เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างองค์การซีมีโอและอาเซียน ประกอบด้วยโครงการจัดการศึกษาในรูปแบบต่างๆ โดยประเทศสมาชิกซีมีโอและอาเซียนรับเป็นเจ้าภาพในแต่ละโครงการ จำนวน 10 โครงการ ซึ่งครอบคลุมการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในมิติต่างๆ โดยประเทศไทย เป็นเจ้าภาพหลักในการดำเนินโครงการ |
|
|
โครงการ | โครงการ “ภาษาแม่เพื่อเป็นสื่อในการเรียนการสอนในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยุทธศาสตร์และการสนับสนุน” (Mother Tongue as Bridge Language of Instruction in Southeast Asian Countries : Policy, Strategies and Advocacy) |
เริ่มต้นโครงการ | โครงการระยะแรก เดือนมิถุนายน 2550 - 2552 โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากธนาคารโลก |
วัตถุประสงค์ |
เพื่อศึกษาแนวทางในการกำหนดนโยบายด้านภาษาเพื่อบรรลุเป้าหมายการจัดการศึกษาเพื่อปวงชน เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงลดปัญหาการเรียนซ้ำชั้นและการเลิกเรียนกลางคันและปรับปรุงผลการเรียน |
การดำเนินงาน |
โครงการระยะแรกประสบความสำเร็จอย่างดียิ่งในการรวบรวมนโยบายของประเทศต่างๆ ตลอดจนแนวปฏิบัติที่ดีในการใช้ภาษาแม่ในการเรียนการสอนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่อมาธนาคารโลกตกลงที่จะสนับสนุนเงินในการดำเนินโครงการและกิจกรรมในปี 2553 ให้แก่ประเทศสมาชิกซีมีโอ สำนักเลขาธิการซีมีโอเป็นผู้ประสานการดำเนินการ โดยมีศูนย์ซีมีโอ QTEP ด้านภาษา ที่กรุงจาการ์ต้า เป็นผู้ดำเนินการ รวมทั้งศูนย์อินโนเทค และสปาฟา ทั้งนี้เครือข่ายหน่วยงานด้านการศึกษาเพื่อปวงชน เช่นยูเนสโก ยูนิเซฟ และคณะทำงานการศึกษาด้านพหุภาษาในเอเชียจะให้การสนับสนุนด้านเทคนิค กิจกรรมดำเนินการประกอบด้วย การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการและฝึกอบรมระดับภูมิภาคเพื่อกำหนดแนวทางจัดทำแผน การสนับสนุน การดำเนินการและการประเมินผล Mother tongue-based MLE programmes |
|
|
โครงการ | โครงการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพของน้ำสะอาดสำหรับมนุษย์ การพัฒนาระบบสุขาภิบาลที่ดีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ |
เริ่มต้นโครงการ | ปี 2548-2551 โดย UN HABITAT สนับสนุนด้านเทคนิคและการเงินเพื่อบรรลุเป้าหมายการดำเนินการที่ตั้งไว้ เริ่มต้นโครงการระยะที่ 2 ปี 2554-2556 |
วัตถุประสงค์ |
มุ่งผลสัมฤทธิ์ของเป้าหมายในการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ การพัฒนาคุณภาพของน้ำสะอาด และการพัฒนาระบบสุขาภิบาลที่ดี เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการส่งเสริมคุณค่าในการใช้น้ำสะอาด การพัฒนาระบบสุขาภิบาลที่ดี การศึกษาด้านสาธารณสุข / สุขอนามัยในโรงเรียนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และการส่งเสริมการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพ |
การดำเนินงาน |
องค์การซีมีโอ โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ และธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) จัดทำปฏิญญาThe Ministerial Declaration on Value-based Water Education ต่อมาได้มีการจัดทำข้อตกลงความร่วมมือในการดำเนินโครงการดังกล่าวระหว่างองค์การซีมีโอและ UN HABITAT เพื่อร่วมกันส่งเสริมการใช้น้ำอย่างมีประโยชน์ การสุขาภิบาล และการศึกษาด้านระบบสุขาภิบาลที่ดีในโรงเรียนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน และการให้ความรู้เรื่องค่านิยมด้านจริยธรรมในการใช้น้ำให้แก่นักเรียนในโรงเรียน ซึ่งเป็นแนวทางสำคัญในการพัฒนาสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรมทรัพยากรน้ำสำหรับชุมชนเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษในเรื่องน้ำและสุขอนามัย พัฒนา / สร้างจริยธรรมการใช้น้ำอย่างมีคุณค่า และสุขอนามัยในโรงเรียนสมาชิกของโครงการความร่วมมือระดับภูมิภาคว่าด้วยคุณภาพและความเสมอภาคทางการศึกษาของซีมีโอ (QEE) ต่อไป |
โครงการ | โครงการพัฒนาศักยภาพผู้นำในศตวรรษที่ 21 |
เริ่มต้นโครงการ | |
วัตถุประสงค์ |
เตรียมความพร้อมของผู้บริหารการศึกษาของไทยและในภูมิภาคเพื่อพัฒนาความสามารถและทักษะที่จำเป็นในการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งกำหนดเป้าหมายภายในปี 2558 โดยเน้นการเสริมสร้างวิสัยทัศน์ ความรู้ และทักษะจำเป็นในด้านการบริหารจัดการ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมในการพัฒนาสถาบันการศึกษา และพัฒนาเครือข่ายผู้บริหารการศึกษาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ |
การดำเนินงาน |
กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมมือกับองค์การซีมีโอ และศูนย์ภูมิภาคของซีมีโอดำเนินโครงการฝึกอบรมให้แก่ ผู้บริหารการศึกษาทั้งของไทยและในอาเซียน หลักสูตรการฝึกอบรมประกอบด้วย หลักสูตรการใช้ภาษาอังกฤษสำหรับผู้บริหารการศึกษา ภาวะผู้นำ เทคโนโลยีสารสนเทศด้านการศึกษาสำหรับผู้บริหาร |