การประชุมคณะทำงานด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ภายใต้กรอบเอเปค ครั้งที่ 37
และการประชุมเตรียมการสำหรับการประชุมผู้บริหารระดับสูงของเอเปคด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ในระดับอุดมศึกษา ครั้งที่ 1
ระหว่างวันที่ 14 – 20 พฤษภาคม 2558
เมืองโบราไกย์ สาธารณรัฐฟิลิปปินส์
***************
การประชุมคณะทำงานด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ภายใต้กรอบเอเปค ครั้งที่ 37 ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองโบราไกย์ สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ระหว่างวันที่ 14 – 17 พฤษภาคม 2558 และการประชุมเตรียมการสำหรับการประชุมผู้บริหารระดับสูงของเอเปคด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในระดับอุดมศึกษา ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 19 – 20 พฤษภาคม 2558 มีผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยขอสรุปผลการประชุมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ ดังนี้
1. การจัดประชุมคณะทำงานด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ภายใต้กรอบเอเปค ครั้งที่ 37
จัดขึ้นระหว่างวันที่ 14 – 17 พฤษภาคม 2558 ที่เมืองโบราไกย์ สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ มีสมาชิกเข้าร่วมประชุม จำนวน 20 เขตเศรษฐกิจ คือ ออสเตรเลีย บรูไน ดารุสซาลาม แคนาดา ชิลี สาธารณรัฐประชาชนจีน จีนฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี เปรู ฟิลิปปินส์ รัสเซีย จีนไทเป สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา เวียดนาม และไทย โดยมี Dr. Sergey Ivanets ประธานคณะทำงานทรัพยากรมนุษย์กล่าวเปิดการประชุม และนาง Reydeluz D. Conferido ปลัดสำนักงานแรงงานและการจ้างงาน ฟิลิปปินส์ กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุม
2. การประชุมเครือข่ายการศึกษา ครั้งที่ 31 (EDNET) มี Dr. Wang Yan ผู้ประสานงาน
เครือข่าย EDNET เป็นประธาน โดยมีวาระการประชุม ดังนี้
2.1 การหารือเกี่ยวกับแผนการดำเนินงานของคณะทำงานด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ภายใต้กรอบเอเปค และการปรับปรุงข้อมูลด้านการศึกษาของเอเปคในเว็บไซต์ ทั้งนี้ แผนการดำเนินงาน
ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของเอเปคยังคงให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจให้มีความเข้มแข็ง และสนองตอบต่อความต้องการของกลุ่มคนส่วนใหญ่ และสนับสนุนให้มีการเคลื่อนย้ายประชากรระหว่างกัน รวมถึงการส่งเสริมการศึกษาที่ตอบสนองต่อความต้องการด้านอาชีพ การพัฒนาแรงงานและทักษะฝีมือแรงงานที่สอดคล้องกับตลาดแรงงานของศตวรรษที่ 21
2.2 การรับฟังรายงานผลการดำเนินโครงการต่าง ๆ ซึ่งมีโครงการที่ประเทศไทย
โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่นร่วมกับมหาวิทยาลัยสึคุบะ ประเทศญี่ปุ่น ร่วมดำเนินการ คือ โครงการจัดการศึกษาเพื่อเตรียมพร้อมรับภัยพิบัติอัคคีภัยและแผ่นดินไหว (Emergency Preparedness Education: Learning from Experience, Science of Disasters, and Preparing for the Future (III) – Focus on Fire and Eruption) (Japan & Thailand) มีการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการขึ้น จำนวน 2 ครั้ง ดังนี้ 1) ระหว่างวันที่ 13 – 16 กุมภาพันธ์ 2557 ณ ประเทศญี่ปุ่น มีผู้เข้าร่วมประชุม จำนวน 185 คน จาก 13 เขตเศรษฐกิจ (ญี่ปุ่น 85 คน ต่างชาติ 100 คน) 2) ระหว่างวันที่ 13 – 16 กันยายน 2557 ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น มีผู้เข้าร่วม 920 คน จาก 11 เขตเศรษฐกิจ (ไทย 825 คน ต่างชาติ 95 คน) โดยในการประชุมทั้งสองครั้งผู้เข้าร่วมประชุมได้พิจารณาเกี่ยวกับการพัฒนาสื่อการสอนที่เกี่ยวกับอัคคีภัยและแผ่นดินไหว และแต่ละเขตเศรษฐกิจมีการนำเสนอสื่อของตนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว เพื่อรวบรวมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะนำมาพัฒนาเป็นสื่อออนไลน์ในด้านอัคคีภัยและแผ่นดินไหวซึ่งดำเนินการเสร็จสิ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม 2557 นอกจากนี้ โครงการฯ ยังได้พัฒนาสื่อการสอนออนไลน์ด้านคณิตศาสตร์ภาษาอังกฤษ โดยได้นำไปใช้ในประเทศญี่ปุ่น เกาหลี ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ประเทศไทย มาเลเซีย ชิลี เวียดนาม รัสเซียและสิงคโปร์
2.3 การนำเสนอโครงการฯ ภายใต้กรอบการศึกษา มีโครงการของประเทศไทยร่วมกับประเทศญี่ปุ่น จำนวน 1 โครงการ คือ โครงการการพัฒนาสื่อการสอนด้านประสิทธิภาพการใช้พลังงาน
ความปลอดภัยในการใช้พลังงาน และความยืดหยุ่นในการใช้พลังงานผ่านความร่วมมือการศึกษาข้ามพรมแดน
โดยใช้การเรียนการสอน (Textbook Development for Energy Efficiency, Energy Security and Energy Resiliency: A Cross-Border Education Cooperation Through Lesson Study) เป็นโครงการต่อเนื่อง 3 ปี มีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตสื่อการสอนด้านคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ในด้านความมีประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน (2016) ความปลอดภัยในการใช้พลังงาน (2017) และความยืดหยุ่นในการใช้พลังงาน (2018) โดยจะนำความรู้ที่ได้รับมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนให้แก่นักเรียนในระดับมัธยมศึกษาของเอเปค
2.4 การเตรียมการสำหรับการจัดประชุมรัฐมนตรีศึกษาเอเปค ครั้งที่ 6 (the 6th APEC Education Ministerial Meeting: AEMM) ซึ่งมี 2 เขตเศรษฐกิจที่เสนอตัวเป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมฯ คือ เปรู และรัสเซีย นอกจากนี้ ที่ประชุมเสนอให้มีการจัดประชุมเตรียมการสำหรับการจัดประชุมรัฐมนตรีศึกษาเอเปค เพื่อกำหนดประเด็นสำคัญที่ควรจะหยิบยกในที่ประชุมฯ ต่อไป
3. การประชุมเตรียมการสำหรับการประชุมผู้บริหารระดับสูงของเอเปคด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในระดับอุดมศึกษา โดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ จัดการประชุมเตรียมการฯ ระหว่างวันที่ 19 – 20 พฤษภาคม 2558 มี 15 เขตเศรษฐกิจเข้าร่วมการประชุม คือ ออสเตรเลีย แคนาดา สาธารณรัฐประชาชนจีน อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี นิวซีแลนด์ เปรู ฟิลิปปินส์ รัสเซีย สิงคโปร์ จีนไทเป สหรัฐอเมริกา เวียดนาม และประเทศไทย ในส่วนของประเทศไทยกระทรวงศึกษาธิการมีผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และผู้แทนจากสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป. เข้าร่วมการประชุม
นาง Laura Q. del Rosario ประธานการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค และปลัดสำนักงานการต่างประเทศ ฟิลิปปินส์ เป็นประธาน โดยที่ประชุมได้พิจารณาวาระการประชุมฯ ซึ่งมีหัวข้อหลักของการประชุมคือ 1) Ensuring Relevance, Utilization and Contribution of Products of S&T in Higher Education to Economic Development in the APEC Region 2) Innovations in Higher Education Delivery Modalities and Strategies Focusing on Science and Technology Programs 3) Future Scientific and Technological Jobs and Careers โดยจะเน้นในสาขาด้านการผลิตอาหารและความปลอดภัยด้านอาหาร ด้านสิ่งแวดล้อมและการป้องกันภัยพิบัติ ด้านชีวมณฑล ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้านการอนุรักษ์ ด้านการคิดวิเคราะห์และนวัตกรรม รวมทั้งด้านสุขภาพด้วย และพิจารณาร่างข้อเสนอแนะสำหรับการประชุมผู้บริหารระดับสูง ซึ่งหากแต่ละเขตเศรษฐกิจต้องการที่จะปรับแก้หรือเพิ่มเติมในส่วนใดขอให้จัดส่งข้อเสนอแนะไปยังเจ้าภาพได้ไม่เกินปลายเดือนมิถุนายน นอกจากนี้ เจ้าภาพขอให้แต่ละเขตเศรษฐกิจพิจารณาเสนอชื่อวิทยากรที่จะมาบรรยายในแต่ละช่วงของการประชุม โดยขอให้เสนอชื่อภายในวันที่ 5 มิถุนายน 2558 ซึ่งในส่วนของการจัดหาวิทยากรเข้าร่วมการบรรยาย สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษารับที่จะเสนอชื่อวิทยากรและจัดส่งชื่อไปยังฟิลิปปินส์ต่อไป
*****************************************************************
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
20 พฤษภาคม 2558