ข่าวสารกิจกรรม
กระทรวงศึกษาธิการส่งเสริมความร่วมมือและบทบาทในฐานะเป็นสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยยูเนสโก
เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2564 กระทรวงศึกษาธิการในฐานะสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการรูปแบบออนไลน์ หัวข้อ “Strengthening the framework of the Viet Nam National Commission for UNESCO” ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักเลขาธิการฯ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การดำเนินงานของสำนักเลขาธิการฯ ภายใต้กรอบงานทั้ง 5 สาขาของยูเนสโก ได้แก่ การศึกษา วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม สังคมศาสตร์ และสื่อสารมวลชน การส่งเสริมภาพลักษณ์ บทบาท เครือข่ายความร่วมมือระหว่างสำนักเลขาธิการฯ ประเทศในภูมิภาค รวมถึงสำนักงานยูเนสโกระดับภูมิภาคและองค์การยูเนสโก สำนักงานใหญ่ มีผู้เข้าร่วมการประชุมประมาณ 60 คน เป็นผู้แทนจากองค์การยูเนสโก สำนักงานใหญ่ สำนักงานยูเนสโก กรุงฮานอย สำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติฯ ประเทศญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี และไทย รวมถึงหน่วยงานในระดับภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกรอบยูเนสโกของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
การประชุมแบ่งเป็นสองช่วง ช่วงเช้าเป็นพิธีเปิดการประชุมโดย Mr. Mai Phan Dung เลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติฯ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม Mr. Firmin Edouard Makoto ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่องค์การยูเนสโกด้านแอฟริกาและความร่วมมือระหว่างประเทศ และ Mr. Toshiyuki Matsumoto ผู้อำนวยการสำนักงานยูเนสโก กรุงฮานอย กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมการประชุมตามลำดับ การนำเสนอบทบาทและความร่วมมือในมิติต่างๆ ภายใต้กรอบงานยูเนสโกของสำนักเลขาธิการฯ สาธารณรัฐเกาหลี เวียดนาม และไทย โดยในส่วนของประเทศไทยนั้น นางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์ ที่ปรึกษาด้านความร่วมมือกับต่างประเทศ ได้นำเสนอโครงสร้างและการดำเนินงานของสำนักเลขาธิการฯ ประเทศไทยภายใต้หัวข้อ “Opportunities and Challenges of Thailand NATCOM” โดยประเทศไทยมีการดำเนินงานภายใต้โครงสร้างคณะกรรมการเฉพาะสาขา (Specialized Committee) ประกอบด้วยกระทรวงและสถาบันต่างๆ และมีเครือข่ายการดำเนินงานที่เข้มแข็งทั้ง 5 สาขา อีกทั้งยังเป็นที่ตั้งของสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ และองค์การสหประชาชาติอื่นๆ จึงมีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดทั้งด้านการศึกษารวมถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งประเทศไทยได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางในการดำเนินงานที่สอดคล้องกับเป้าหมาย SDG นอกจากนี้ สำนักเลขาธิการฯ อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของกระทรวงศึกษาธิการจึงมีความคล่องตัวในการจัดการบริหารด้านงบประมาณตามแผนงาน อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีผลกระทบต่อกิจกรรมและการดำเนินโครงการที่ต้องชะลอหรือปรับเปลี่ยนรูปแบบ และความท้าทายในการดำเนินงานที่เน้นการมีส่วนร่วมเชิงบูรณาการและการเป็นสหสาขาวิชามากขึ้น
ช่วงบ่ายของการประชุมเป็นการนำเสนอและแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีของการดำเนินงานภายใต้กลไกคณะอนุกรรมการในสาขาต่าง ๆ ของประเทศญี่ปุ่นและสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม อาทิ อนุกรรมการด้านพื้นที่สงวนชีวมณฑล และอนุกรรมการพื้นที่อุทยานธรณี เป็นต้น กลไกดังกล่าวมีความสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการและกิจกรรม ของสำนักเลขาธิการฯ การประชุมครั้งนี้ประสบความสำเร็จด้วยดี มีความหลากหลายในการดำเนินงานของแต่ละประเทศ แต่เป้าหมายเดียวกันคือการพัฒนางานในกรอบยูเนสโกในระดับชาติ ทั้งนี้ จะมีการประชุมระหว่างสำนักเลขาธิการฯ ระดับภูมิภาค ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 ก่อนการประชุมสมัยสามัญองค์การยูเนสโก ครั้งที่ 41
สรุป/เรียบเรียง/ภาพประกอบ : รัชนินท์ พงศ์อุดม
สุปราณี คำยวง
กลุ่มความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศ
รายงานโดย : กลุ่มสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
ข้อมูล ณ วันที่ : 1 ตุลาคม 2564