ข่าวสารกิจกรรม
การประชุมคณะกรรมการบริหารของศูนย์ซีมีโออินโนเทค ครั้งที่ 65 (ผ่านระบบการประชุมทางไกล)
ศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษาของซีมีโอ หรือศูนย์ซีมีโออินโนเทค สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ (SEAMEO Regional Center for Educational Innovation and Technology: SEAMEO INNOTECH) ได้จัดการประชุมคณะกรรมการบริหารของศูนย์ซีมีโออินโนเทค ครั้งที่ 65 ผ่านระบบการประชุมทางไกล ระหว่างวันที่ 19 - 20 ตุลาคม 2564 โดยปลัดกระทรวงศึกษาธิการได้มอบหมายให้ นายสมทรง งามวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป. ในฐานะผู้แทนกรรมการบริหารของศูนย์ฯ เข้าร่วมในการประชุมฯ พร้อมกับคณะกรรมการบริหารของประเทศสมาชิกซีมีโอ จำนวน 11 ประเทศ (บรูไนดารุสซาลาม กัมพูชา อินโดนีเซีย สปป.ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย ติมอร์ เลสเต และเวียดนาม) สำนักงานเลขาธิการซีมีโอ และศูนย์ซีมีโออินโนเทค รวม 24 คน
ที่ประชุมได้เลือกตั้งให้ Mr. Suraj Nair ผู้อำนวยการแผนกเทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้เทคโนโลยีทางการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะกรรมการบริหารของสิงคโปร์ ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริหารฯ และ Atty. Nepomuceno A. Malaluan ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะกรรมการบริหารของฟิลิปปินส์ ดำรงตำแหน่งรองประธานฯ ทั้งนี้ ที่ประชุมได้รับรองประเด็นตามข้อมติวาระการประชุม จำนวน 4 เรื่อง ได้แก่ รายงานความสำเร็จของศูนย์ซีมีโออินโนเทค รายงานโครงการ/ข้อริเริ่มภายใต้กองทุนบริจาคของศูนย์ซีมีโออินโนเทค รายงานด้านการเงิน และรางวัลนวัตกรรมด้านการศึกษาของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
Mr. Suraj Nair ผู้อำนวยการแผนกเทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้เทคโนโลยีทางการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ
ในฐานะกรรมการบริหารของสิงคโปร์ ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริหารของศูนย์ซีมีโออินโนเทค
Atty. Nepomuceno A. Malaluan ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะกรรมการบริหารของฟิลิปปินส์
ดำรงตำแหน่งรองประธานคณะกรรมการบริหารของศูนย์ซีมีโออินโนเทค
ในโอกาสนี้ ผู้แทนไทยได้แลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีของประเทศร่วมกับกรรมการบริหารของประเทศสมาชิกซีมีโอเกี่ยวกับการจัดการ องค์ความรู้ หัวข้อ“The Future Learning Ecosystem - Emerging Roles for Learners, Teachers, School Heads and Communities” ซึ่งในภาพรวมที่ประชุมจะให้ความสำคัญในทิศทางเดียวกัน โดยเฉพาะในเรื่องของการสร้างนวัตกรรมในการจัดการเรียนการสอน โดยการพลิกโฉมการจัดการศึกษาด้วยระบบดิจิทัล (digital transformation) ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์โดยใช้ประโยชน์ จากความก้าวหน้าทางดิจิทัลและเทคโนโลยี เพื่อส่งเสริมคุณภาพทางการศึกษาท่ามกลางความท้าทายของประเทศในช่วงวิกฤตการณ์ของการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) การสร้างเครือข่ายกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางการศึกษา การส่งเสริมบทบาทของชุมชนและพ่อแม่ในการจัดการศึกษา การส่งเสริมการเรียนรู้ที่เน้นเด็กเป็นศูนย์กลาง การบูรณาการด้านการจัดการเรียนการสอนผ่านการจัดการเรียนรู้แบบผสมผสาน (blended learning) ทั้งแบบตัวต่อตัว(face-to-face) และแบบออนไลน์ ซึ่งรวมถึงการจัดการเรียนรู้แบบยืดหยุ่นและปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ (hybrid learning) การเรียนรู้จากที่บ้าน (home-based learning: HBL) การจัดการเรียนรู้ผ่านโทรทัศน์เพื่อการศึกษา การเรียนรู้ทางไกล การเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน (project-based learning) การจัดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง การส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของนักเรียน การออกแบบพื้นที่การเรียนรู้ (learning space) การพัฒนาสมรรถนะครูด้านดิจิทัลและเทคโนโลยี
อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น ประเทศไทยยังมุ่งจัดการเรียนรู้โดยใช้ปรากฏการณ์เป็นฐาน (phenomenon-based learning) การพัฒนาหลักสูตรขั้นพื้นฐานโดยปรับปรุงจากการใช้หลักสูตรอิงมาตรฐาน (standard-based curriculum) ไปสู่การจัดทำหลักสูตรอิงฐานสมรรถนะ (competency-based curriculum) การกำหนดรูปแบบวาระการศึกษาใหม่เพื่อรองรับการจัดการเรียนการสอนในช่วงโควิด-19 แบ่งเป็น 5 รูปแบบที่เหมาะสมตามบริบทพื้นที่ของโรงเรียน ประกอบด้วย การเรียนปกติที่โรงเรียน (On-site) โดยจำกัดจำนวนนักเรียนต่อห้อง การเรียนที่บ้านผ่านโทรทัศน์ด้วยระบบดาวเทียมและทีวี (On-air) การเรียนทางไกลผ่านอินเทอร์เน็ต (On-line) การเรียนทางไกลผ่าน Youtube และสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต (On-demand) และการเรียนทางไกลที่บ้านสำหรับนักเรียนที่ไม่มีความพร้อมด้านอุปกรณ์การรับชม ผ่านหนังสือ แบบฝึกหัด และใบงาน (On-hand) โดยครูออกไปเยี่ยมเป็นครั้งคราว หรือผู้ปกครองให้ความช่วยเหลือ เพื่อให้นักเรียนสามารถเรียนได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการเตรียมความพร้อมด้านทักษะในศตวรรษที่ 21 ซึ่งเน้นการพัฒนาทักษะ CODING ให้กับพลเมืองของประเทศเพื่อสร้าง CODING Community ซึ่งปัจจุบันกระทรวงศึกษาธิการได้จัดฝึกอบรมให้กับครู ศึกษานิเทศก์ และศึกษาธิการจังหวัด มากกว่า 300,000 คน การปรับการเรียนรู้จากสะเต็มศึกษา (STEM Education) ซึ่งประกอบด้วย วิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) และคณิตศาสตร์ (Mathematics) เป็นสตีมศึกษา (STEAM Education) โดยเพิ่มเรื่องของศิลปะ (Arts) ที่ครอบคลุมด้านคุณธรรม ศีลธรรม จริยธรรม วัฒนธรรม และประเพณีที่ดีงาม รวมทั้งการพลิกโฉมสร้างนวัตกรรมครูสู่นวัตกรรมนักเรียนเพื่อก้าวข้ามสภาวะวิกฤตโควิด-19 แบบการเรียนรู้โดยลงมือปฏิบัติ (Active Learning) ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ “GPAS 5 Steps” ซึ่งผู้เรียนสามารถนำไปเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติจริง แบ่งเป็น 1. การรวบรวมข้อมูล (Gathering) 2. การวางแผน ลงมือทำ ตรวจสอบแก้ปัญหา (Processing) 3. การพัฒนาไปสู่ระดับนวัตกรรม โดยผู้เรียนสามารถสรุปเป็นความรู้ระดับต่าง ๆ จนถึงระดับหลักการ (Applying which are Applying and Constructing the Knowledge) 4. การนำเสนออย่างมีแบบแผนและประเมินภาพรวม (Applying the Communication Skill) และ 5. การกำกับความคิดตนเองและขยายค่านิยมสู่สังคมและสิ่งแวดล้อมให้กว้างขวางขึ้น (Self-Regulating)
ในท้ายสุด ประธานที่ประชุมได้เสนอให้กัมพูชาเป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมคณะกรรมการบริหาร ครั้งที่ 66 ช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนตุลาคม 2565 และเสนอให้สิงคโปร์เป็นประเทศเจ้าภาพสำรองในกรณีที่กัมพูชาไม่สามารถรับเป็นเจ้าภาพในครั้งต่อไปได้
สรุปและเรียบเรียง : สิริภัคค์ ธรรมบุศย์
กุสุมา นวพันธ์พิมล
กลุ่มความร่วมมือระดับภูมิภาค
รายงานโดย : กลุ่มสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
20 ตุลาคม 2564