ข่าวสารกิจกรรม
การประชุมผู้นำอาชีวศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 6 (6th High Officials Meeting on SEA-TVET)
กระทรวงศึกษาธิการ เยาวชนและกีฬา และกระทรวงแรงงานและอาชีวศึกษาแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ร่วมกับสำนักงานเลขาธิการซีมีโอและศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยการพัฒนาการศึกษาทางเทคนิคของซีมีโอ (SEAMEO TED) จัดการประชุมผู้นำอาชีวศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 6 (6th High Officials Meeting on SEA-TVET) หัวข้อ “อาชีวศึกษาในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) -TVET during the pandemic” เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2564 ระหว่างเวลา 10.00 – 15.30 น. ผ่านระบบการประชุมทางไกล มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวปฏิบัติที่ดี ในระดับประเทศและภูมิภาค การสร้างสรรค์นวัตกรรม และข้อริเริ่มต่างๆเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องของ TVET ในช่วงวิกฤตโควิด-19 เครื่องมือกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันและแก้ปัญหาต่างๆที่พบร่วมกันในภูมิภาค โดยมีผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป. เข้าร่วม การประชุมดังกล่าว
Ms Soo-Hyang Choi ผู้อำนวยการศูนย์ UNESCO-UNEVOC International Centre ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ โดยกล่าวถึงผลกระทบและความท้าทายจาก COVID-19 ที่มีต่อการเรียนการสอน และการฝึกอบรมด้านอาชีวศึกษา ที่มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการให้ความรู้ด้านดิจิทัลแก่ครู การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและซอฟท์แวร์เพื่อรองรับและการลดช่องว่างทางดิจิทัล (Digital Gap) สร้างแรงงานที่มีทักษะตอบสนองความต้องการของตลาดผ่านการพัฒนาและปรับปรุงหลักสูตร การนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ อย่างปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence -A.I.) การจำลองภาพให้เสมือนจริง (Virtual Reality -VR) และเทคโนโลยีโลกเสมือนผสานโลกแห่งความจริง (Augmented Reality –AR) โดยมุ่งเน้นไปยังแรงงานในด้านการท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นรายได้หลักให้แก่หลาย ๆ ประเทศในภูมิภาคนี้ ประเทศไทยที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวคิดเป็น 20% GDP โดยการฟื้นฟูและกระตุ้นให้กลับมามีการเดินทางได้อีกครั้ง ภาคอาชีวศึกษาได้มีส่วนในการผลิตแรงงาน กว่า 80-100% ในสาขาที่พักและอาหาร การพัฒนาทักษะเดิม (Upskill) การเพิ่มเติมทักษะใหม่ (Reskill) ในเรื่อง digital technology จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำผ่านการจัดหลักสูตรแบบออนไลน์ สร้างโอกาสในการเข้ารับการฝึกอบรม โดยมีกรอบสนับสนุน การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างระบบแรงงานโดยคำนึงถึง informal worker และ เยาวชนกลุ่มด้อยโอกาส ลดเครื่องกีดขวางและสร้างโอกาส
ในระหว่างการประชุมฯ มีการเปิดตัวของศูนย์ระดับภูมิภาคของซีมีโอด้านการพัฒนาทักษะและความรู้ทางเทคนิคเพื่อการมีอาชีพในประเทศกัมพูชา (SEAMEO Regional Centre for Technical Education Development -SEAMEO TED) โดยมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาด้านเทคนิคและการอาชีวศึกษา สร้างแรงงานที่มีทักษะเข้าสู่ตลาดแรงงานในประเทศกัมพูชาและประเทศสมาชิกซีมีโอ
ประเทศสมาชิกซีมีโอได้นำเสนอแนวปฏิบัติที่ดี หัวข้อ “Innovative solutions to continue TVET during the Pandemic” ในส่วนของประเทศไทยนำเสนอโดย นายรังสรรค์ เทพมนตรี ผู้อำนวยการกลุ่มยุทธศาสตร์การอาชีวศึกษาต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้กล่าวถึง การดำเนินการเรียนการสอนในช่วง COVID-19 เป็นแบบ onsite 25% และแบบ online 75% โดยการดำเนินงานที่ผ่านมาได้มีการพัฒนาหลักสูตร และการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางการอาชีวศึกษา (Excellent Center) 120 แห่ง โดยมี 25 แห่งเป็นศูนย์บริหารเครือข่ายการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (Center of Vocational Manpower Networking Management -CVM) 15 ศูนย์อาชีวศึกษาทวิภาคีเขตพื้นที่ (Dual Vocational Center Region) การสนับสนุนครูในการจัดตั้ง Professional Teacher Club การจัดการอบรมผ่านระบบออนไลน์ การสนับสนุนในด้านต่างๆ ได้แก่ การให้เงินสนับสนุนจำนวน 2,000 บาท การช่วยเหลือค่าเล่าเรียน การให้ยืมหนังสือและอุปกรณ์การเรียนอิเล็กทรอนิกส์ รวมไปถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบไอที การจัดทำห้องเรียนอัจฉริยะ (Smart Classroom) ใน 77 จังหวัด ระบบการเรียนการสอนทางไกลผ่านทีวี และการจัดให้มี online classroom ในทุกชั้นเรียน
ที่ประชุมนำเสนองานวิจัย TVET Research Paper ใน 3 ระดับ ได้แก่ ระดับมัธยมศึกษา การศึกษาในระดับหลังมัธยมปลาย และการศึกษาผู้ใหญ่และการเรียนรู้ตลอดชีวิต ประเทศไทยส่งตัวแทนจากวิทยาลัยเทคโนโลยีสยามบริหารธุรกิจ (SBAC) Mr. Michael Belgica เข้าร่วมนำเสนอในหัวข้อ “Blending Course Content and Design Addressing to the New Normal Teaching and Learning Carapace in the TVET Industry” เป็นการนำกรอบการสอนวิชาภาษาอังกฤษที่มีอยู่มาพัฒนาวิธีการเรียนการสอนในช่วง COVID-19 โดยเน้นในด้านสะเต็มศึกษาเพื่อเตรียมให้นักศึกษาสามารถนำไปใช้กับงานในอนาคตหรือเรียนต่อในต่างประเทศ
อนึ่ง ประเทศสมาชิกองค์การซีมีโอและองค์กรพันธมิตร ได้ให้การรับรอง SEAMEO TVET Action Agenda 2021-2025 โดยมุ่งเน้นในประเด็นสำคัญ ดังนี้
1. นำแผน SEAMEO Strategic Plan 2021-2030 เป็นหลักการขับเคลื่อนกิจกรรมต่าง ๆ
2. พัฒนาและส่งเสริมการใช้ platform SEA-VET.net ให้เป็นศูนย์กลางความรู้และ ความร่วมมือด้าน TVET
3. ขยายโครงการแลกเปลี่ยนระดับภูมิภาค SEAMEO TVET Exchange Programme
4. เสริมสร้างความแข็งแกร่งของเครือข่าย SEA Vocational-Technical High School Network กับภาคส่วน
5. จัดการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของบุคลากร TVET ผ่านการอบรม online การจัดทำสื่อการเรียนการสอนและการเรียนรู้ผ่าน online learning Platform
6. พัฒนามาตรฐานต่างๆ ในระดับภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง
7. จัดทำงานวิจัยในประเด็นสำคัญเพื่อประกอบการวางแผนนโยบายและการประชุมต่างๆ
ในส่วนของประเทศไทย เรืออากาศโท สมพร ปานดำ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้กล่าวให้การสนับสนุนต่อถ้อยแถลงเกี่ยวกับ SEAMEO TVET Action Agenda 2021-2025 ข้างต้นด้วย
สรุปและเรียบเรียง : พงศกร รุทระวณิช
กุสุมา นวพันธ์พิมล
กลุ่มความร่วมมือระดับภูมิภาค
รายงานโดย : กลุ่มสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
12 พฤศจิกายน 2564