Loading color scheme

ท่าทีไทยต่อยุทธศาสตร์ แผนงานและงบประมาณของยูเนสโกด้านวิทยาศาสตร์ การประชุมคณะกรรมาธิการฝ่ายวิทยาศาสตร์ในการประชุมสมัยสามัญของยูเนสโก ครั้งที่ 41

unesco1 41 1 18 11 2564
          ยุทธศาสตร์ แผนงานและงบประมาณของยูเนสโกในปี พ.ศ. 2565 - 2572 ของยูเนสโก ในสาขาวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ (Natural sciences) เป็นวาระสำคัญที่พิจารณาในการประชุมคณะกรรมาธิการด้านวิทยาศาสตร์ (Science Commission) ของการประชุมสมัยสามัญของยูเนสโก ครั้งที่ 41 (41st UNESCO General Conference) วาระดังกล่าวได้มีการพิจารณาเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 โดยนางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์ ผู้แทนไทยในการประชุมดังกล่าว ได้กล่าวถ้อยแถลงเกี่ยวกับ ยุทธศาสตร์ แผนงานและงบประมาณของยูเนสโกในปี พ.ศ. 2565 -2572 ว่า แผนดังกล่าวสะท้อนวิสัยทัศน์ของการเปลี่ยนแปลงเพื่อรับมือกับความท้าทายในศตวรรษนี้ และการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้หน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์ของแต่ละประเทศได้มีโอกาสร่วมงานกับภาคส่วนอื่น ๆ ในการลดความเหลื่อมล้ำ ส่งเสริมการเรียนรู้ และส่งเสริมสังคมสร้างสรรค์ โดยประเทศไทยยินดีให้ความร่วมมือกับยูเนสโกและรัฐสมาชิกเพื่อให้บรรลุซึ่งความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และผลประโยชน์ที่มีต่อสังคมโลก ผู้แทนไทยยังได้กล่าวเน้นถึงการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ที่เชิญชวนให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีบทบาทในการขับเคลื่อนทรัพยากรที่จำเป็นในการสร้างสังคมอุดมปัญญา และเสนอให้ยูเนสโกให้การช่วยเหลือประเทศสมาชิกในการเสริมสร้างขีดความสามารถการออกแบบและสรรค์สร้างระบบวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อให้สามารถนำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไปใช้ในการตอบสนองความต้องการของสังคมและรับมือกับความท้าทายท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ในการนี้ ได้ยกตัวอย่างโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model หรือ BCG Economy Model) ซึ่งเป็นหนึ่งในวาระระดับชาติที่บูรณาการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถให้ภาคส่วนต่าง ๆ โดยโมเดลเศรษฐกิจนี้จำเป็นต้องอาศัยวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในภาคส่วนต่าง ๆ ให้เป็นภาคส่วนที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม มีมูลค่าเพิ่ม มีความยั่งยืน และครอบคลุมทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาคเกษตรกรรม อาหาร พลังงาน และการท่องเที่ยว เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของโมเดลเศรษฐกิจ BCG จำเป็นต้องพึ่งพาการบริหารจัดการและการอนุรักษ์ทรัพยากรทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก ในการนี้ ประเทศไทยเรียกร้องให้หน่วยงานทางวิทยาศาสตร์ ทำงานร่วมกับภาคส่วนอื่น ๆ เพื่อให้สอดรับกับวาระและความท้าทายระดับโลกเกี่ยวกับการคุกคามสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะการทำงานร่วมกันผ่านโครงการระหว่างรัฐบาล โครงการนานาชาติ และพื้นที่ในประกาศของยูเนสโก ความร่วมมือนี้จะช่วยให้การศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อมมีการลงสู่พื้นที่ในแต่ละภูมิภาค อันจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศสมาชิก

IOC2 18 11 2564
          ผู้แทนไทยได้กล่าวถึงระบบลาดตระเวนอัจฉริยะ (Smart Patrol System) ซึ่งเป็นระบบที่เพิ่มเพิ่มขีดความสามารถในการอนุรักษ์และบริหารจัดการพื้นที่สงวนต่าง ๆ ในประเทศไทย เช่น อุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ เขตป่าชายเลน พื้นที่สงวนชีวมณฑล และแหล่งมรดกทางธรรมชาติ เป็นต้น โดยมีแผนการจัดการน้ำที่บูรณาการกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บท ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งในการนำพาประเทศไทยไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วย เช่น แผนความมั่นคงด้านน้ำ การจัดการอุทกภัย และการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ เป็นต้น

          สำหรับโครงการนานาชาติด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐาน (International Basic Science Programme : IBSP) ประเทศไทยได้ให้การสนับสนุนโครงการดังกล่าว โดยโครงการดังกล่าวเป็นรากฐานของกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ทั้งปวง ในส่วนการดำเนินงานประเทศไทย โดยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ได้จัดงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับชาติ (National Science and Technology Fair) เป็นประจำทุกปีเพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ให้กับเด็กและเยาวชน

          นอกจากนี้ ผู้แทนไทยได้กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน (Sustainable transformation) ว่าเป็นความท้าทายที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ หากปราศจากความร่วมมือกับหุ้นส่วนในประเทศต่าง ๆ อย่างเปิดกว้างแล้วก็อาจไม่สามารถไปถึงอนาคตที่วางเป้าหมายไว้ ดังนั้น ประเทศไทยพร้อมที่จะทำงานร่วมกับยูเนสโกเพื่อประโยชน์ในระยะยาวที่จะตกทอดไปสู่คนรุ่นต่อไป

          อนึ่ง การประชุมสมัยสามัญยูเนสโก ครั้งที่ 41 (41st UNESCO General Conference ) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12 - 24 พฤศจิกายน 2564 ณ สำนักงานใหญ่ยูเนสโก กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส โดยการประชุมคณะกรรมาธิการฝ่ายวิทยาศาสตร์ (Science Commission) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15 - 16 พฤศจิกายน 2564

สรุปและเรียบเรียงโดย : พัทธดนย์ หลงปาน
สุปราณี คำยวง
กลุ่มความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศ
รายงานโดย : กลุ่มสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
19 พฤศจิกายน 2564