ข่าวสารกิจกรรม
การประชุมสัมมนาออนไลน์ ภายใต้โครงการ Global Citizenship in the New Normal for ASPnet
เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2565 เวลา 9.00 น. ดร. วีระ แข็งกสิการ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาออนไลน์ โครงการ Global Citizenship in the New Normal for ASPnet ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากยูเนสโกภายใต้ Participation Programme 2020 – 2021 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้ และส่งเสริมความเข้าใจเรื่องพลเมืองโลกศึกษา (Global Citizenship Education - GCED) แก่ครูหรือผู้ประสานงานเครือข่ายสถานศึกษาเพื่อความเข้าใจอันดีระหว่างชาติของยูเนสโก (UNESCO Associated Schools Project Network - ASPnet) ของประเทศไทย เพื่อให้สามารถนำแนวคิดเรื่องพลเมืองโลกศึกษามาปรับใช้ในการเรียนการสอนในการรับมือกับปัญหาท้าทายในปัจจุบัน รวมถึงการส่งเสริมความเข้มแข็งของเครือข่ายโรงเรียน ASPnet ในประเทศไทยให้มีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่และต่อยอดแนวคิด/หัวข้อส่งเสริมต่าง ๆ ของยูเนสโก
ดร. วีระ แข็งกสิการ ได้กล่าวในพิธีเปิดการประชุมรูปแบบการบันทึกวีดิทัศน์เกี่ยวกับความสำคัญของพลเมืองโลกศึกษาว่า เป็นองค์ความรู้ที่จะช่วยให้ผู้เรียนมีทักษะที่จะรับมือกับอุปสรรคปัญหาท้าทายต่างๆ ที่ไม่ใช่แค่เพียงในระดับท้องถิ่น แต่มีความเข้าใจและรู้ทันต่อปัญหาและผลกระทบในระดับโลก พลเมืองโลกศึกษาถือเป็นยุทธศาสตร์ด้านการศึกษาที่สำคัญของยูเนสโก เป็นกลไกในการสร้างสันติภาพและส่งเสริมเรื่องสิทธิมนุษยชนศึกษา ปลูกฝังค่านิยม ทัศนคติ และอุปนิสัยที่ดีงาม เพื่อให้เกิดความรับผิดชอบต่อสังคมในฐานะที่เป็นพลเมืองโลก โดยเน้นเรื่องกิจกรรมสร้างสรรค์ การสร้างนวัตกรรม และความรับผิดชอบต่อสังคมในการสร้างสันติภาพ สิทธิมนุษยชน และการพัฒนาที่ยั่งยืน อีกทั้งองค์การยูเนสโกได้จัดตั้งเครือข่าย ASPnet เพื่อเป็นแหล่งในการปลูกฝังค่านิยม แนวคิด และองค์ความรู้ต่างๆ ของยูเนสโก ทั้งนี้ ครูและนักเรียนสามารถส่งเสริม สนับสนุน และประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้ทางปัญญาไปยังครอบครัว ชุมชน ประเทศ และโลกได้อย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทของชุมชน โดยปัจจุบันมีสถานศึกษากว่าหมื่นแห่งในประเทศสมาชิกยูเนสโกที่ร่วมเป็นสมาชิกเครือข่ายดังกล่าว ในประเทศไทยมีโรงเรียนที่อยู่ในเครือข่าย ASPnet กว่าร้อยแห่ง หลายโรงเรียนมีประสบการณ์ในการร่วมกิจกรรม ดำเนินโครงการ และเข้าร่วมการประชุมภายใต้กรอบงานยูเนสโก ดังนั้น จึงเป็นโอกาสอันดีที่การประชุมครั้งนี้ โรงเรียนทั้งที่เป็นและไม่เป็น ASPnets จะได้มีโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ร่วมกันในเรื่องพลเมืองโลกศึกษา
กิจกรรมในระหว่างการประชุมสัมมนาออนไลน์ในโครงการดังกล่าว สามารถชมผ่าน Facebook ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะศูนย์ความร่วมมือด้านพลเมืองโลกศึกษา ประเทศไทย Click..
โครงการได้รับการสนับสนุนทางวิชาการเป็นอย่างดีจากศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะศูนย์ความร่วมมือด้านพลเมืองโลกศึกษา ประเทศไทย เพื่อบรรยายและแลกเปลี่ยนความรู้อย่างเข้มข้น ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการในฐานะสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติฯ จะจัดกิจกรรมต่อเนื่องภายใต้โครงการดังกล่าว ซึ่งจะเป็นการประชุมเชิงปฏิบัติการในวันที่ 28 – 29 มีนาคม 2565 ณ กรุงเทพมหานคร เพื่อต่อยอดความรู้เรื่องพลเมืองโลกศึกษาให้แก่สถานศึกษาในเครือข่าย ASPnet ในลำดับต่อไป
สรุป / เรียบเรียง : รัชนินท์ พงศ์อุดม
ภัสศรี ศิริประภา
กลุ่มความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศ
ขอขอบคุณ : Fb ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในฐานะศูนย์ความร่วมมือด้านพลเมืองโลกศึกษา ประเทศไทย
รายงานโดย : กลุ่มสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
21 มีนาคม 2565