ข่าวสารกิจกรรม
การประชุมเชิงปฏิบัติการภายใต้โครงการ Global Citizenship in the New Normal for ASPnet
เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2565 เวลา 9.00 น. ดร. วีระ แข็งกสิการ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ โครงการ Global Citizenship in the New Normal for ASPnet ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 – 29 มีนาคม 2565 ณ โรงแรมอมารี วอเตอร์เกท กรุงเทพมหานคร มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้ และส่งเสริมความเข้าใจเรื่องพลเมืองโลกศึกษา (Global Citizenship Education - GCED) แก่ครูหรือผู้ประสานงานเครือข่ายสถานศึกษาเพื่อความเข้าใจอันดีระหว่างชาติของยูเนสโก (UNESCO Associated Schools Project Network - ASPnet) โดยมีครูจากสถานศึกษาเครือข่าย ASPnet ในกรุงเทพมหานครเข้าร่วมการประชุม ฯ
ดร. วีระ แข็งกสิการ ได้กล่าวถึงความสำคัญของเรื่องพลเมืองโลกศึกษาว่า ไม่ใช่แค่การเรียนวิชาใดวิชาหนึ่ง และไม่ใช่ความรู้เฉพาะเด็กและเยาวชน แต่เป็นองค์ความรู้ที่จะช่วยจุดประกายให้กับผู้เรียนทุกรุ่นอายุให้รู้จักมีบทบาทอย่างกระตือรือร้นเพื่อสร้างสังคมที่สงบสุข รู้จักการอดทนอดกลั้น มีส่วนร่วม และสร้างความมั่นคง พลเมืองโลกศึกษาเป็นส่วนหนึ่งที่จะเสริมสร้างเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 4 การศึกษาที่เท่าเทียม โดยข้อที่ 4.7 นั้น เน้นความรู้และทักษะที่จะช่วยส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านกลไกด้านการศึกษา ซึ่งพลเมืองโลกศึกษาเป็นหนึ่งในแนวคิดเหล่านั้น อันได้แก่ สิทธิมนุษยชน สันติศึกษา ความหลากหลายทางวัฒนธรรม และความเท่าเทียมระหว่างเพศ เป็นต้น ดังนั้น ผู้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ จะได้มีโอกาสแบ่งปันความรู้อย่างเต็มที่เพื่อนำแนวคิดพลเมืองโลกศึกษามาขัดเกลาให้นักเรียน/เยาวชนมีความรู้ความสามารถอย่างรอบด้าน คิดวิเคราะห์ได้ และรับผิดชอบต่อส่วนรวมอย่างเข้มแข็ง และกระทรวงศึกษาธิการก็พร้อมที่จะร่วมมือกับยูเนสโกภายใต้กรอบกิจกรรมอื่นๆ ต่อไป
นอกจากนี้ Ms. Margarete Sachs-Israel หัวหน้าฝ่ายการศึกษาที่ครอบคลุมและมีคุณภาพ สำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ ได้กล่าวในพิธีเปิดการประชุมมีใจความว่า รายงานของยูเนสโกที่ชื่อว่า Reimagining our futures together: a new social contract for education ได้เน้นย้ำความสำคัญในช่วงของการเปลี่ยนแปลง เพื่อไปสู่การพัฒนาด้านการศึกษาว่า จะต้องสร้างความเข้มแข็งและปลูกฝังแนวคิดเกี่ยวกับการไม่เลือกปฏิบัติ สังคมแห่งความยุติธรรม การเคารพสิ่งมีชีวิต ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และความหลากหลายทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของพลเมืองโลกศึกษา หลักสูตรการเรียนการสอนและแนวทางการพัฒนาครูจะต้องคิดใหม่เพื่อให้สอดคล้องและเป็นหนึ่งเดียวกับการศึกษาที่ต้องปรับเปลี่ยนไปสู่การพัฒนา สร้างนวัตกรรมที่ส่งเสริม การเรียนรู้และเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างอนาคตที่ดี โครงการ Global Citizenship in the New Normal for ASPnet ถือเป็นการพัฒนาวิชาชีพครู พัฒนาการเรียนการสอน และได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและเพื่อให้เป้าหมายการศึกษามีวิวัฒนาการไปพร้อมกับปัญหาท้าทายในโลกปัจจุบัน รวมถึงการสร้างคุณค่าของครู ผู้เรียนเพื่อสร้างการมีส่วนร่วม ความรับผิดชอบ และความมั่นคงปลอดภัยในสังคม
ทั้งนี้ โครงการ Global Citizenship in the New Normal for ASPnet ได้รับการสนับสนุนจากยูเนสโกภายใต้ Participation Programme 2020 – 2021 โดยได้แบ่งกิจกรรมเป็น 2 ช่วง คือ การประชุมสัมมนาออนไลน์เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2565 ซึ่งเชิญครูจากสถานศึกษาเครือข่าย ASPnet ทั่วประเทศ เข้าร่วม การประชุม และการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้เป็นกิจกรรมต่อเนื่อง
สรุป / เรียบเรียง : รัชนินท์ พงศ์อุดม
ภัสศรี ศิริประภา
กลุ่มความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศ
รายงานโดย : กลุ่มสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
4 เมษายน 2565