ข่าวสารกิจกรรม
ไทยร่วมผลักดันกรอบการดำเนินงานสำหรับวัฒนธรรมและศิลปศึกษา
เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2565 เวลา 17.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นกรุงปารีส นางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์ ที่ปรึกษาด้านความร่วมมือกับต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ หนึ่งในคณะผู้แทนไทยที่เดินทางเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการบริหารของยูเนสโก ครั้งที่ 214 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 มีนาคม – 13 เมษายน 2565 ณ องค์การยูเนสโกสำนักงานใหญ่ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส โดยมีนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ได้ร่วมแสดงข้อคิดเห็นต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการด้านโครงการและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (Programme and External Relations Commission) เพื่อสนับสนุนการดำเนินการของยูเนสโกเกี่ยวกับกรอบการดำเนินงานสำหรับวัฒนธรรมและศิลปศึกษา (A Framework for Culture and Arts Education) ซึ่งกรอบการดำเนินงานดังกล่าวถือเป็น การหลอมรวมความร่วมมือที่สำคัญระหว่างสาขาที่เชี่ยวชาญของยูเนสโก คือ การศึกษาและวัฒนธรรม ซึ่งพัฒนาจากกรอบความร่วมมือเดิมจากที่ประชุม International Conference on Arts Education เมื่อปี 2546 ที่โปรตุเกส และปี 2553 ที่สาธารณรัฐเกาหลี ตามลำดับ ต่อมาที่ประชุมสมัยสามัญของยูเนสโก ครั้งที่ 40 เมื่อปี 2562 ได้มีมติเรื่องการส่งเสริมสัปดาห์นานาชาติว่าด้วยศิลปศึกษาเพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมและศิลปศึกษาที่มีความเกี่ยวเนื่องในฐานะเป็นพื้นฐานของมนุษย์ในการใช้ชีวิตและสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับสังคม ทั้งนี้ กรอบการดำเนินงานฯ มีวัตถุประสงค์ในการสร้างกระบวนการหารือระหว่างภูมิภาคเพื่อทบทวนและปรับกรอบการดำเนินงานเดิมให้สอดคล้องกับบริบทจริงและสิ่งแวดล้อมของแต่ละภูมิภาค รวมถึงการจัดทำคู่มือ/แนวทางที่ตอบสนองกับนวัตกรรมสมัยใหม่ทั้งด้านเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์ รวมถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 4 และการศึกษาตลอดชีวิต
ผู้แทนไทยได้กล่าวทิ้งท้ายว่ากรอบการทำงานดังกล่าวซึ่งเป็นแนวคิดที่แสดงให้เห็นถึงการดำเนินงาน ด้านการศึกษาควรมีความร่วมมือข้ามสาขาอื่นๆ ศิลปะและวัฒนธรรมสามารถส่งเสริมคุณภาพการศึกษาได้ ดังนั้น การส่งเสริมนโยบายของประเทศจึงรวมถึงการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ซึ่งผสานความรู้ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรมกับการศึกษา นอกจากนี้ ยังแสดงความชื่นชมการทำงานของฝ่ายเลขานุการในการรวบรวมข้อคิดเห็นจากประเทศสมาชิกเกี่ยวกับกรอบการทำงานฯ ผ่านการจัดทำแบบสอบถาม และเชื่อมั่นว่ากรอบการทำงานนี้จะนำไปสู่การดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมาย SDG4 และเป้าหมายอื่นๆ ทั้ง 17 เป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน ประเทศไทยขอสนับสนุนยูเนสโกในการดำเนินงานดังกล่าวด้วยความราบรื่นต่อไป
สรุป / เรียบเรียง : รัชนินท์ พงศ์อุดม
สุปราณี คำยวง
กลุ่มความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศ
รายงานโดย : กลุ่มสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
9 เมษายน 2565