Loading color scheme

พิธีเปิดโครงการทุนสนับสนุนนักเรียน นักศึกษา และบุคลากรต่างประเทศเข้ามาศึกษาและฝึกอบรมในประเทศไทย ประจำปี 2565

scholarship 3 20 7 2565

          เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2565 เวลา 09.00 น. นายสมทรง งามวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป. ได้เป็นผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการร่วมกล่าวให้โอวาทในพิธีเปิดโครงการทุนสนับสนุนนักเรียน นักศึกษา และบุคลากรต่างประเทศเข้ามาศึกษาและฝึกอบรมในประเทศไทย ประจำปี 2565 โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร. นภเรณู สัจจรักษ์ ธีระฐิติ รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร และรองศาสตราจารย์ ดร.มรกต ไมยเออร์  ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกล่าวในพิธีเปิดโครงการฯ ทั้งนี้ โดยมีนักศึกษาชาวต่างประเทศที่กำลังศึกษาในประเทศไทย รวมทั้งในมหาวิทยาลัยเครือข่ายจากต่างประเทศผู้ได้รับคัดเลือกให้เข้ารับการอบรมเข้าร่วมงานดังกล่าวผ่านระบบออนไลน์

scholarship 5 20 7 2565

          โครงการทุนสนับสนุนนักเรียน นักศึกษา และบุคลากรต่างประเทศเข้ามาศึกษาและฝึกอบรมในประเทศไทย เป็นโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการได้ร่วมกับสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล จัดฝึกอบรมให้แก่นักศึกษาต่างประเทศเป็นครั้งที่ 2 โดยในปี 2565 ได้จัดขึ้นในหลักสูตรการสร้างเสริมเครือข่ายนานาชาติด้วยมิติภาษาและวัฒนธรรมเพื่อเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน “Global Virtual Course: Fostering Intercultural Connections Through Language and Cultural Dimensions for Sustainable Development Goals (SGDs)” ระหว่างวันที่ 16 กรกฎาคม - 3 กันยายน 2565 ผ่านระบบออนไลน์เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มพูนความรู้ด้านวิชาการและวัฒนธรรมระหว่างประเทศให้แก่นักศึกษาต่างประเทศจากประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงประเทศอื่นๆ ตลอดจนส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างกลุ่มเยาวชนจากต่างประเทศอันจะนำไปสู่การกระชับความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับนานาประเทศให้มีความแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ซึ่งในปีนี้มีผู้เข้ารับการอบรมจากประเทศต่างๆ อาทิ เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมา จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน อินเดีย เนปาล และฮังการี เป็นต้น

scholarship6 20 7 2565

          สำหรับหลักสูตรการสร้างเสริมเครือข่ายนานาชาติด้วยมิติภาษาและวัฒนธรรมเพื่อเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน มุ่งเน้นให้มีการศึกษาและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางด้านวิชาการและประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางวัฒนธรรม ความเป็นพลเมือง ความสัมพันธ์ระหว่างเชื้อชาติ วัฒนธรรม การอยู่ร่วมกันและการปฏิสัมพันธ์กันในสังคมโลก อีกทั้งยังส่งเสริมให้ผู้เข้าร่วมอบรมมีโอกาสในการพัฒนาความรู้ความเข้าใจภาษาและวัฒนธรรมไทยเบื้องต้น และเพิ่มเติมความรู้ในด้านสมรรถนะด้านการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม เข้าใจในความหลากหลายทางวัฒนธรรม และสามารถประยุกต์ความรู้และทักษะด้านการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรมเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขท่ามกลางความหลากหลาย ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการคาดว่าจะสามารถขยายกลุ่มเป้าหมายของผู้เข้ารับการอบรมและรูปแบบของการจัดฝึกอบรมให้สอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทของสถานการณ์โลกในปัจจุบันในการดำเนินโครงการในครั้งต่อไป

scholarship7 20 7 2565

ข้อมูล : กนกวรรณ แกว่นถิ่นภู
จิตรลดา จันทร์แหยม
กลุ่มความร่วมมือทวิภาคี
รายงานโดย : กลุ่มสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
20 กรกฎาคม 2565