ข่าวสารกิจกรรม
การประชุมสัมมนาเชิงวิชาการเพื่อเปิดตัวสรุปรายงานการติดตามผลการศึกษาทั่วโลก ประจำปี 2564-2565 ระดับชาติ “ผู้มีบทบาทางการศึกษานอกภาครัฐ : ใครเลือก ใครสูญเสีย”
เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2565 เวลา 13.00 น. นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวเปิดการประชุมสัมมนาเชิงวิชาการเพื่อเปิดตัวสรุปรายงานการติดตามผลการศึกษาทั่วโลก ประจำปี 2564-2565 ระดับชาติ (National Launch on 2021/22 Global Education Monitoring Report) ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยถ่ายทอดจากห้องประชุมจันทรเกษม อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ มีผู้เข้าร่วมการประชุมผ่านระบบประมาณ 140 คน และมีผู้ชมผ่านการถ่ายทอดสด Facebook Live ศธ 360 องศา Click..
โอกาสนี้ นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการได้กล่าวแสดงความขอบคุณและยินดีกับยูเนสโกที่จัดทำสรุปรายงานการติดตามผลการศึกษาทั่วโลก ประจำปี 2564-2565 อย่างสมบูรณ์ โดยสรุปรายงานฉบับนี้ได้กล่าวถึงผู้มีบทบาทนอกภาครัฐต่อการจัดการด้านการศึกษา ซึ่งแสดงข้อมูลสำคัญในหลายมิติที่ชี้ ให้เห็นว่า ผู้มีบทบาทของภาครัฐมีบทบาททั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการศึกษาแทบทั้งสิ้น สำหรับประเทศไทยนั้น รัฐธรรมนูญกล่าวถึงการส่งเสริมความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการจัดการศึกษาให้กับทุกคนตามความต้องการในรูปแบบที่หลากหลาย และมีแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560-2579 ซึ่งระบุถึงหลักการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนของสังคม หรือ All for Education เพื่อจัดการศึกษาที่เปิดโอกาสในการเข้าถึงและมีความเสมอภาคทางการศึกษาที่มีคุณภาพ
การประชุมสัมมนาเชิงวิชาการดังกล่าวได้จัดขึ้นด้วยความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) กับสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ ในรูปแบบการอภิปรายให้ความรู้เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนและภาคประชาสังคมในด้านการศึกษา โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรจากหลายภาคส่วน อาทิ หอการค้าและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กองทุน เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา มูลนิธิช่วยไร้พรมแดน มูลนิธิรักษ์เด็ก มูลนิธิเอสซีจี Asia South Pacific Association for Basic and Adult Education (ASPBAE) มูลนิธิธรรมิกชนเพื่อคนตาบอดในประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กลุ่มเซ็นทรัล และกลุ่มทรู ซึ่งวิทยากรจากแต่ละหน่วยงานได้ถ่ายทอดประสบการณ์เกี่ยวกับบทบาทที่ได้ดำเนินการในการสนับสนุนการศึกษาเพื่อโอกาสและความเสมอภาคในการเข้าถึงการศึกษา โดยหน่วยงานให้ความสำคัญต่อการพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนในทุกช่วงวัย การพัฒนาทักษะเดิม และการเพิ่มเติมทักษะใหม่ การพัฒนาการศึกษาเพื่อเด็กกลุ่มชายขอบและกลุ่มเปราะบาง เป็นต้น วิทยากรต่างให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่สำคัญเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในการจัดการศึกษาและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งจำเป็นต้องมีการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนและภาคประชาสังคมอย่างแท้จริง เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างราบรื่น เข้มแข็ง และมีคุณภาพ โดยเชื่อมั่นว่า การได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน จะนำมาซึ่งความแข็งแกร่งในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป
สรุป/เรียบเรียง:หงษ์ฟ้า วีระนพรัตน์
รัชนินท์ พงศ์อุดม
ภัสศรี ศิริประภา
กลุ่มความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศ
รายงานโดย : กลุ่มสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
19 สิงหาคม 2565