ข่าวสารกิจกรรม
การประชุมระหว่างประเทศ “Reimagining Development Futures in the Age of the Anthropocene and the Climate Crisis”
เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2565 เวลา 09.20 น. นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้รับมอบหมายจากปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้แทนกล่าวในพิธีเปิดการประชุมระหว่างประเทศ เรื่อง Reimagining Development Futures in the Age of the Anthropocene and the Climate Crisis ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งจัดในรูปแบบผสมผสาน (Hybrid) โดยศาสตราจารย์ ดร. บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้กล่าวต้อนรับ และศาสตราจารย์สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วย Professor Dr. Emma E. Porio ประธานสมาคมสังคมวิทยาแห่งเอเชียแปซิฟิก (APSA) เป็นผู้กล่าวแนะนำการประชุม นอกจากนี้ วิทยากรพิเศษร่วมกล่าว ได้แก่ Madam Antonia Yulo Loyzaga ปลัดกระทรวงสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติของฟิลิปปินส์ Professor Dr. Armida Salsiah Alisjahbana เลขาธิการบริหารของ UNESCAP รวมถึง ดร.พิจิตต รัตตกุล อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวถึงความสำคัญของปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะผลกระทบที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ว่ามีผลต่อธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ภูมิอากาศ ระบบนิเวศ รวมถึงความหลากหลายทางชีวภาพ ความท้าทายเหล่านี้เป็นผลมาจากกิจกรรมที่มนุษย์กระทำมาอย่างยาวนาน หากไม่รีบดำเนินการแก้ไขปัญหาเหล่านี้โลกก็จะเป็นอันตรายและไม่ปลอดภัยสำหรับการดำรงชีวิต ทุกคนจึงมีหน้าที่ให้ความรู้แก่ผู้คนและชุมชนให้เกิดการตระหนักรับรู้และเรียนรู้ถึงการช่วยเหลือโลกนี้ไปด้วยกัน การประชุมนี้จึงเป็นโอกาสอันดีในการที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนได้มาแลกเปลี่ยนหารือและร่วมกันหาแนวทางสำหรับการจัดการกับปัญหาเหล่านี้อย่างเหมาะสม
การประชุมดังกล่าวถือเป็นงานประชุมวิชาการประจำปี 2565 ที่ APSA จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 17 ระหว่างวันที่ 28 - 29 ตุลาคม 2565 โดยในปีนี้ ได้จัดร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (ธ.พ.ส.ส. หรือ GSEI) สถาบันอุดมศึกษาทั้งในและต่างประเทศ ภาคประชาสังคม รวมถึงเครือข่ายต่าง ๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างองค์ความรู้ผ่านการสนทนาอภิปรายร่วมกับผู้เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างหลากหลาย อาทิ นักวิชาการ นักวิจัย องค์กรนอกภาครัฐและภาคประชาสังคมทั้งในระดับชาติและนานาชาติ นักปฏิบัติการ กลุ่มชุมชนท้องถิ่น กลุ่มเยาวชนกลุ่มเปราะบาง รวมถึงกลุ่มคนชายขอบ โดยเน้นประเด็นด้านการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะในบริบทเอเชียแปซิฟิกซึ่งได้รับผลกระทบและมีความเสี่ยงจากปัจจัยต่าง ๆ มากกว่าภูมิภาคอื่น ๆ
หัวข้อหลักการประชุมครอบคลุมถึงการพัฒนาในยุคที่สิ่งแวดล้อมเป็นมลภาวะอันเกิดจากการกระทำของมนุษย์ (Anthropocene) วิกฤตสภาพภูมิอากาศ การพัฒนาที่ไม่เท่าเทียม กลุ่มเปราะบางและยากจนที่ได้รับผลกระทบ โดยมีหัวข้อการอภิปรายกลุ่มย่อย ได้แก่ 1) สุขภาพของโลก มนุษย์และธรรมชาติ 2) ภัยธรรมชาติในเมืองและการจัดการความเสี่ยงในสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนไป 3) ความท้าทายด้านการวางแผนและการบริหารจัดการเมืองในบริบทของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 4) ความท้าทายในการพัฒนาและสร้างความยืดหยุ่น 5) นิเวศเกษตรกับระบบอาหารทางเลือกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 6) น้ำ การพัฒนาที่ยั่งยืนและความยืดหยุ่น 7) ระบบอาหารและความปลอดภัยด้านอาหาร 8) ความรู้ ภูมิอากาศและความยั่งยืน 9) เทคโนโลยีและนวัตกรรมสังคมเพื่อปฏิบัติการด้านภูมิอากาศ และ 10) ความเคลื่อนไหวและสิทธิของชาวนาในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ต้องเผชิญกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศในยุคหลังโควิด
สรุปเรียบเรียง : ศิริพร วิริยะอัครเดชา
จิตรลดา จันทร์แหยม
กลุ่มความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศ
รายงานโดย : กลุ่มสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
1 พฤศจิกายน 2565