Loading color scheme

สำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยยูเนสโกร่วมกับสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินส่งเสริมการเรียนการสอนผ่านการเรียนรู้จากแหล่งที่ได้รับการขึ้นทะเบียนของยูเนสโก

unesco1 31 3 2566

          เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2566 นางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์ ที่ปรึกษาพิเศษด้านความร่วมมือกับต่างประเทศ ของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวเปิดโครงการฝึกอบรมนานาชาติเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับพลเมืองโลกกับแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติพื้นที่ 3 มรดกยูเนสโก (International Training Program on The Promotion of Learning for Global Citizens within 3 Nature Learning sites of UNESCO Designated sites) ณ โรงแรมแคนทารี จังหวัดนครราชสีมา โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร. อดิศร เนาวนนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมโครงการ และนางสาวสุปราณี คำยวง รองเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติเป็นผู้แทนของกระทรวงศึกษาธิการเข้าร่วมงาน

unesco2 31 3 2566

          ในช่วงพิธีเปิดการประชุม นางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์ ได้กล่าวขอบคุณผู้มีส่วนร่วมในการจัดโครงการครั้งนี้ ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่ได้เรียนรู้จากแหล่งพื้นที่จริงในจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมี UNESCO Designated Sites ถึง 3 แห่ง ได้แก่ มรดกโลกป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ พื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราช และโคราชจีโอปาร์ค ผู้เข้าร่วมการอบรมจะได้รับความรู้เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในชั้นเรียน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์จากนักวิชาการและเจ้าหน้าที่ ที่ดูแลแหล่งขึ้นทะเบียนของยูเนสโก อีกทั้งบางประเทศที่ยังไม่มีแหล่งพื้นที่ เช่น geopark ก็ยังได้ศึกษาแนวทางและเตรียมความพร้อมในการนำเสนอแหล่งของประเทศตนในอนาคต โอกาสนี้ นางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์ ยังได้กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ Education for Sustainable Development (ESD) โดยกล่าวถึงการบูรณาการแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนกับการศึกษา ที่เชื่อมโยงไปสู่พื้นที่ UNESCO Designated Sites รวมถึงเครือข่ายอื่นๆ ของยูเนสโก ทั้งนี้ การศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญที่นำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 4 (SDG 4) อีกทั้ง ประเทศไทยยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทาง ที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในมิติต่างๆ ด้วย นอกจากนี้ ยังได้กล่าวถึงบทบาทของสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ กระทรวงศึกษาธิการ ที่ยินดีสนับสนุนการดำเนินของเครือข่ายต่างๆ ของยูเนสโก พร้อมทั้งสร้างความเข้มแข็งไปยังสถาบันการศึกษา เช่น เครือข่ายสถาบันเพื่อความเข้าใจอันดีระหว่างชาติของยูเนสโก (UNESCO Associated Schools Network : ASPnet) เป็นต้น

unesco3 31 3 2566

          โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ กระทรวงศึกษาธิการ กับสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับพลเมืองโลกกับแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติพื้นที่ 3 มรดกยูเนสโก ได้แก่ อุทยานธรณี (Geoparks) พื้นที่สงวนชีวมณฑล (Biosphere Reserves) และมรดกโลก (World Heritage) โครงการจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 – 29 มีนาคม 2566 ณ จังหวัดนครราชสีมา ประกอบด้วย ภาคบรรยายความรู้ และภาคปฏิบัติโดยการลงพื้นที่ มีผู้เข้าร่วมโครงการซึ่งเป็นครู นักวิชาการ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจำนวน 40 คน จากประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย ลาว เวียดนาม และไทย

unesco4 31 3 2566

สรุป / เรียบเรียง : พัทธดนย์ หลงปาน
รัชนินท์ พงศ์อุดม
จิตรลดา จันทร์แหยม
กลุ่มงานความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศ
รายงานโดย : กลุ่มงานยุทธศาสตร์และสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
31 มีนาคม 2566