Loading color scheme

การประชุมระดับภูมิภาคของอาเซียนเรื่องอนาคตของการศึกษา (ASEAN Regional Forum on Future of Education) ผ่านโปรแกรม zoom

Future of Education1 24 5 2566

          เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2566 นายอรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้รับเชิญให้ร่วมอภิปรายในระหว่างการประชุมระดับภูมิภาคของอาเซียนเรื่องอนาคตของการศึกษา (ASEAN Regional Forum on Future of Education) ภายใต้หัวข้อ "Greening Education and Climate Action: Taking on 21st Century Challenges." ผ่านการประชุมทางไกล ซึ่งการจัดการประชุมครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยและพัฒนาของด้านสังคมและวัฒนธรรมของอาเซียน มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) หารือเกี่ยวกับประเด็นเฉพาะด้านการศึกษา 2) การแบ่งปันแผนด้านการจัดการศึกษาและการคาดการณ์ล่วงหน้าเชิงกลยุทธ์เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ การฟื้นฟูและการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล 3) หารือเกี่ยวกับวิธีแก้ปัญหาที่เป็นนวัตกรรมเพื่อให้บรรลุวาระการศึกษาเพื่อการเปลี่ยนแปลง 4) รวบรวมคำแนะนำเพื่อสนับสนุนการศึกษาที่เท่าเทียม มีคุณภาพ และเข้าถึงได้สำหรับผู้เรียนทุกคนในภูมิภาค และ 5) รวบรวมฉันทามติในการสร้างอนาคตการศึกษาในอาเซียน

โดยในที่ประชุมมีการนำเสนอในหัวข้อที่สำคัญดังนี้

1) “Leading Digital Transformation, Reforms and Innovation in ASEAN”

2) "Greening Education and Climate Action: Taking on 21st Century Challenges."

3) “Addressing the Digital Divide and Exclusion for Disadvantaged Learners: Good Practices”

4) Teacher Development: Innovations and Best Practices for the Future of Education and Beyond และ

5) Inclusive ASEAN 2050: Building Equitable Societies and Learning Cities

Future of Education2 24 5 2566

          ในการนี้ปลัดกระทรวงศึกษาธิการได้กล่าวในหัวข้อ "Greening Education and Climate Action: Taking on 21st Century Challenges." โดยได้เน้นย้ำถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นความท้าทายของโลก ที่จำเป็นต้องร่วมกันรับผิดชอบเพื่อให้เกิดความมีความยั่งยืนขึ้นในอนาคต ซึ่งการศึกษาจะเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญที่เตรียมเยาวชนให้พร้อมรับกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม สำหรับประเทศไทยมีการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนแม่บทการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ซึ่งมุ่งเน้นให้ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน และภายใต้ยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 รัฐบาลสนับสนุนให้มี “Thinking Innovation” และการส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียวหมุนเวียนชีวภาพ ซึ่งเป็นการบูรณาการทางความคิดให้สอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในส่วนของภาคการศึกษานั้นนอกจากนักเรียนจำเป็นต้องมีทักษะขั้นพื้นฐานด้านการรู้หนังสือและการคำนวณแล้ว นักเรียนยังจำเป็นต้องพัฒนาทักษะของศตวรรษที่ 21 ด้วย ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่มีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนประเทศให้เป็นประเทศที่มีรายได้สูงและบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายในปี 2537 ที่มุ่งเน้น 5 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ การพัฒนาเศรษฐกิจ การพัฒนาทุนมนุษย์ ความเท่าเทียมทางสังคม การปกป้องสิ่งแวดล้อม และการปฏิรูปสถาบัน สิ่งสำคัญประการหนึ่งคือการปกป้องสิ่งแวดล้อมผ่านการศึกษาสีเขียวและการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้ประเทศไทยได้มีการบูรณาการหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (SEP) เข้ากับการศึกษา ซึ่งได้นำมาใช้ในการเรียนการสอนในโรงเรียนเพื่อปลูกฝังจิตสำนึกด้านความยั่งยืน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และความเป็นพลเมืองที่มีความรับผิดชอบในตัวนักเรียน นอกจากนี้ นักเรียนได้รับการสอนให้คำนึงถึงการบริโภคและเห็นคุณค่าของทรัพยากรที่มี เช่น การเรียนรู้เกี่ยวกับการทำเกษตรอินทรีย์ พลังงานทดแทน และเทคนิคการลดของเสีย เป็นต้น โดยจำเป็นต้องให้เยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสนับสนุนเยาวชนให้มีเวทีนำเสนอความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่าง ๆ และสามารถใช้เทคโนโลยีและดิจิทัลเป็นเครื่องมือในการจัดการศึกษาสีเขียว รวมทั้งใช้แพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อการเรียนรู้ระหว่างกัน ทั้งนี้ การศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมและการดำเนินการด้านสภาพอากาศเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการจัดการกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมในศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นความรับผิดชอบร่วมกันเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน การส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งความยั่งยืน การบูรณาการเทคโนโลยีและเครื่องมือดิจิทัล และการมีส่วนร่วมของเยาวชนในการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับด้านสภาพภูมิอากาศ ที่มีผลกระทบโดยตรงต่อสิ่งแวดล้อมและร่วมกันสร้างอนาคตที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต

Future of Education3 24 5 2566

          การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นโดยสำนักงานเลขาธิการอาเซียน ระหว่างวันที่ 24-26 พฤษภาคม 2566 ผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งมีผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียนและคู่เจรจา องค์การซีมีโอและศูนย์ระดับภูมิภาค และนักวิชาการเข้าร่วมการประชุมกว่า 100 คน โดยได้มีการแลกเปลี่ยนนโยบายและแผนการดำเนินงานของประเทศสมาชิกที่เกี่ยวข้องทั้งในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ช่องว่างทางดิจิทัลในกลุ่มผู้ด้อยโอกาส ความท้าทายในเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ นวัตกรรมและแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดสำหรับการศึกษาในอนาคตทั้งในด้านการพัฒนาครู มาตรฐานการเรียนการสอน การเรียนการสอนในยุคปัญญาประดิษฐ์ การสร้างสังคมที่เท่าเทียมกันและเมืองแห่งการเรียนรู้ เป็นต้น

สรุปและเรียบเรียง : รุ่งกานต์ พันธุ์ภักดี
กุสุมา นวพันธ์พิมล
ข้อมูล : กลุ่มความร่วมมือระดับภูมิภาค
รายงานโดย : กลุ่มสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
 24 พฤษภาคม 2566