ข่าวสารกิจกรรม
การประชุมแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อประกอบการประเมินความจำเป็น (needs assessment) เกี่ยวกับการดำเนินงานตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก
เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2566 เวลา 15.30 น. ณ ห้องประชุมจันทรเกษม อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้รับมอบหมายจากปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธานการประชุมแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อประกอบการประเมินความจำเป็น (needs assessment) เกี่ยวกับการดำเนินงานตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก (WHO Framework Convention on Tobacco Control: FCTC) ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขโดยกรมควบคุมโรคในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ได้นำผู้แทนจากสำนักเลขาธิการ WHO FCTC และผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ เข้าร่วมการประชุมแลกเปลี่ยนฯ เพื่อหารือการดำเนินการที่เกี่ยวข้องในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการและแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็นในการเสริมประสิทธิภาพการดำเนินการตามกรอบอนุสัญญาฯ ตามบทบาทหน้าที่ของหน่วยงาน โดยมีผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป. เข้าร่วมการประชุมดังกล่าวด้วย
รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมฯ โดยเน้นย้ำถึงบทบาทหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการในการให้การศึกษาและการปกป้องนักเรียนนักศึกษาจากสภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัยและความเสี่ยงในด้านสุขภาพ โดยเฉพาะการใช้ยาสูบที่ปัจจุบันมีแนวโน้มว่านักเรียนนักศึกษาสามารถเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าได้ง่ายและรวดเร็วโดยยังไม่มีความรู้และไม่ตระหนักถึงโทษและพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้าต่อสุขภาพ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการในด้านต่าง ๆ โดยร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภายในและภายนอก โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของบุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษาและการให้ความรู้แก่นักเรียนนักศึกษา ครูและบุคลากรทางการศึกษา อีกทั้งได้กำหนดมาตรการเพื่อเป็นแนวทางให้สถานศึกษาดำเนินการเพื่อให้เป็นสถานศึกษาปลอดบุหรี่ เป็นต้น ทั้งนี้ มีความยินดีร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อขจัดพิษภัยของสิ่งเสพติดให้โทษเหล่านี้
ผู้แทนจาก สพฐ. ให้ข้อมูลว่าได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและภาคีเครือข่ายในการจัดทำสื่อความรู้และคู่มือเพื่อให้สถานศึกษาในสังกัดเป็นแนวทางในการดำเนินการ ได้แก่ คู่มือการขับเคลื่อนสถานศึกษาปลอดบุหรี่สำหรับสถานศึกษาต่ำกว่าระดับอุดมศึกษา คู่มือเกณฑ์การประเมินสถานศึกษาปลอดบุหรี่สำหรับสถานศึกษาต่ำกว่าระดับอุดมศึกษา แนวทางการพัฒนาศักยภาพบุคลากรเพื่อการดำเนินงานสถานศึกษาปลอดบุหรี่แบบบูรณาการ (เพื่อนที่ปรึกษา) และคู่มือกิจกรรมเสริมหลักสูตรทักษะการปฏิเสธบุหรี่ของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษา นอกจากนี้ สพฐ. ได้กำหนดระเบียบห้ามมิให้โรงเรียนยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดโดยเด็ดขาด การบูรณาการในกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน เช่น โครงการ ‘To be Number one’ ลูกเสือต้านภัยยาเสพติด เพื่อนนักเรียนที่ปรึกษา เป็นต้น การตรวจตรา อบรมนักเรียน และจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อดูแล รวมถึงมีศูนย์แนะแนวในพื้นที่ในแต่ละระดับ และมีการสรุปผลการดำเนินงานเพื่อให้ทราบปัญหาและความสำเร็จ โดยเน้นนโยบายเรื่องความปลอดภัยในทุกมิติซึ่งดูแลโดยศูนย์ความปลอดภัย สพฐ. (OBEC Safety Center)
ผู้แทนจาก สอศ. ให้ข้อมูลว่ามีศูนย์อาชีวศึกษาปลอดภัย (OVEC Safty Center) เพื่อดูแลนักศึกษาทั้งด้านร่างกาย จิตใจและความปลอดภัยในสังคม มีการจัดรายวิชายาเสพติดศึกษาเป็นวิชาเลือกเสรี จัดกิจกรรมลูกเสือบูรณาการเรื่องบุหรี่ จัดทำแผนการรณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานศึกษาแบบบูรณาการ โดยปัจจุบันสถานศึกษาภาครัฐทุกแห่งมีการจัดทำแผนฯ ครบแล้ว ส่วนภาคเอกชนยังมีไม่ครบทุกแห่ง แต่ได้ตั้งเป้าหมายการจัดทำแผนฯ ให้ครบทุกแห่ง โดยมีแผนด้านการคัดกรองผู้เรียนเพื่อปรับพฤติกรรมให้กลุ่มเสี่ยงต่อไป รวมถึงการบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการกำหนดมาตรการสถานศึกษาปลอดภัย การทำกิจกรรม เช่น ประกวดหนังสั้น เพื่อให้ตระหนักถึงโทษภัยของยาเสพติด การดูแลนักศึกษาฝึกงานร่วมกับสถานประกอบการ โครงการเพื่อนช่วยเพื่อน เป็นต้น โดยมีการขับเคลื่อนการดำเนินงานในแต่ละพื้นที่ รวบรวมข้อมูลและรายงานต่อหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่
Dr. Adriana Blanco Marquizo หัวหน้าคณะจากสำนักเลขาธิการ WHO FCTC กล่าวว่าประเทศไทยมีความก้าวหน้าในการดำเนินการด้านการควบคุมยาสูบ แต่การติดตามการดำเนินงานนี้เป็นการเสริมและสนับสนุนให้เกิดประสิทธิผลดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะความร่วมมือระหว่างทุกภาคส่วนเป็นสิ่งสำคัญ การเรียนรู้จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้รู้ถึงความท้าทายและปัญหาจะทำให้การกำหนดมาตรการต่าง ๆ รวมถึงด้านกฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยเฉพาะบุหรี่ไฟฟ้ามีพิษภัยร้ายแรงจากนิโคตินมากกว่าบุหรี่ทั่วไป เป็นปัญหาใหม่ของสังคมและเราต้องช่วยกันเพื่อปกป้องสังคมโดยเฉพาะเด็กและเยาวชนของเราให้รู้เท่าทันและไม่ตกเป็นเหยื่อของพิษภัยนี้
ศ.เกียรติคุณ นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กล่าวว่านักเรียนนักศึกษาส่วนใหญ่ยังคิดว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีอันตราย โดยได้สอบถามประสบการณ์จาก Dr. Adriana ในการให้ความรู้ของประเทศต่าง ๆ ทั้งนี้ Dr. Adriana ให้ข้อมูลว่าปัจจุบันมีจำนวน 35 ประเทศที่กำหนดว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสิ่งผิดกฎหมาย และสหรัฐอเมริกาเป็นกรณีพิเศษที่มีเยาวชนจำนวนมากเสพบุหรี่ไฟฟ้าซึ่งมีนิโคตินสูงทาง WHO ได้มีการจัดทำสื่อรณรงค์เพื่อให้ความรู้แก่เยาวชนและครูถึงอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า และการรู้เท่าทันผู้ผลิต/ผู้ประกอบการซึ่งได้พยายามแทรกแซงในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้ความรู้ผิด ๆ เพื่อให้มีผู้นิยมใช้บุหรี่ไฟฟ้า เช่น การใส่ตัวกรองสามารถช่วยบรรเทาพิษได้ เป็นต้น
นอกจากนี้ คณะผู้แทนฯ ได้สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้แก่ ข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการดำเนินการ การสำรวจจำนวนนักเรียนนักศึกษาที่สูบบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้า โดยผู้แทน สพฐ. และ สอศ. ให้ข้อมูลว่า ไม่มีข้อร้องเรียนในการดำเนินการเนื่องจากปัจจุบันนักเรียนนักศึกษาที่เสพจะไม่เสพภายในบริเวณโรงเรียนหรือในบ้าน ทำให้ครูและผู้ปกครองไม่ทราบข้อมูล ส่วนการสำรวจจำนวนนักเรียนที่เสพบุหรี่ยังไม่มีการแยกประเภทระหว่างบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้า และมีรายงานจำนวนผู้เสพของ สพฐ. จำนวนประมาณสองพันคน ซึ่งจะขอนำข้อเสนอในการแยกประเภทการสำรวจไปพิจารณาดำเนินการต่อไป
นายแพทย์นิติ เหตานุรักษ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวขอบคุณรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการและผู้แทนที่ให้ข้อมูลการดำเนินการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะได้รวบรวมเพื่อนำไปรายงานผลและประเมินข้อมูลเพื่อหาแนวทางในการพัฒนาการดำเนินการในภาพรวมของประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การดำเนินการตามกรอบอนุสัญญา WHO FCTC ในส่วนของประเทศไทยเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลดียิ่งขึ้น
สรุป / เรียบเรียง : ศิริพร วิริยะอัครเดชา
ปานเทพ ลาภเกษร
กลุ่มความร่วมมือพหุภาคี
รายงานโดย : กลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
15 มิถุนายน 2566