ข่าวสารกิจกรรม
การประชุมเชิงปฏิบัติการโครงการพัฒนาคุณภาพสถิติการศึกษาไทย ครั้งที่ 1 ภายใต้โครงการ Country Programme ระยะที่ 2 ของ OECD
เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2566 เวลา 10.00 น. ดร. ปานเทพ ลาภเกษร ผู้อำนวยการกลุ่มความร่วมมือพหุภาคี สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สต.สป.) ร่วมเป็นวิทยากรกระบวนการ (Facilitator) จากกระทรวงศึกษาธิการ ในบทบาทของผู้เชื่อมให้เกิดการเปลี่ยนแปลง (Catalyst) ร่วมกับ ว่าที่ ร.ต. พุฒิเมธ กันธะ นักวิเทศสัมพันธ์ ปฏิบัติการ สต.สป. และ ดร. รังสรรค์ วิบูลย์อุปถัมภ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา และ ดร. รับขวัญ ธรรมาพรณ์พิลาศ เจ้าหน้าที่ฝ่ายการศึกษา จากองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ในการเป็นผู้นำการเรียนรู้ เอื้ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เข้าร่วมการประชุมและกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และดำเนินกิจกรรมให้บรรลุวัตถุประสงค์ โดยมี คุณอิทธิกร ช่างสากล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ สป. เป็นผู้กล่าวเปิดการประชุม และมีผู้เชี่ยวชาญจากองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) Mr. Till Kaderiet ที่ปรึกษาฝ่ายการศึกษาและทักษะ และ Mr. Abel Schumann หัวหน้าโครงการตัวชี้วัดระบบการศึกษา รวมถึงผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ อาทิ ผู้แทนจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นางมนต์ทิพย์ สัมพันธวงศ์ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และสังคม เป็นผู้นำเสนอโครงการพัฒนาคุณภาพสถิติการศึกษาไทย ครั้งที่ 1 (1st Workshop Improving the Quality of Education Statistics) หัวข้อ “การใช้และการพัฒนาตัวชี้วัดทางการศึกษาของไทย (Use and Improve Education Indicators in Thailand)” ภายใต้โครงการCountry Programme ระยะที่ 2 ของ OECD ในแต่ละหัวข้อย่อย ทั้งนี้ ตลอดทั้งการประชุมจะมีการเก็บรวบรวมข้อมูลข้อคิดเห็นในการตอบคำถามผ่านเว็บไซต์ Slido เป็นระยะ โดยมีผู้แทนจากมูลนิธิคีนันแห่งเอเชีย (Kenan Foundation Asia) ผู้แทนจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ และผู้แทนจากองค์การอื่น ๆ จำนวน 30 คน เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้
ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ สป. ได้กล่าวต้อนรับผู้มีเกียรติทุกท่าน โดยเฉพาะผู้เชี่ยวชาญจากองค์การ OECD สาธารณรัฐฝรั่งเศสทั้งสองท่าน ที่มีความประสงค์จะเข้ามาปฏิบัติภารกิจในประเทศไทยเพื่อขับเคลื่อนโครงการ CP 2 ให้บรรลุวัตถุประสงค์เพื่อหารือด้านนโยบายการศึกษาและศึกษาแนวปฏิบัติที่ดีจากนานาชาติ และหารือหรือระบุความท้าทาย การนำไปใช้ และแนวทางการแก้ไขเชิงนโยบายด้านการออกแบบและการใช้ตัวชี้วัดตามเป้าหมายของการศึกษาไทย นอกจากนี้ ยังได้ชี้แจ้งถึงความร่วมมือระหว่างองค์กรภายในประเทศไทยกับองค์การ OECD ในห้วงที่ผ่านมาถึงโครงการ CP ระยะที่ 1 ซึ่งประสบความสำเร็จและได้รับการตอบรับจากประเทศไทยเป็นอย่างดี และในการดำเนินโครงการระยะที่ 2 นี้ไทยเล็งเห็นว่าการพัฒนาคุณภาพข้อมูลด้านการศึกษาในประเทศไทยจะส่งผลต่อการพัฒนาด้านการศึกษาและเศรษฐกิจของชาติ พร้อมทั้งกล่าวขอบคุณเจ้าหน้าที่ ผู้แทนการศึกษา และองค์การต่าง ๆ ที่ปฏิบัติหน้าที่ด้านสถิติการศึกษาของประเทศไทย
Mr. Till Kadereit และ Mr. Abel Schumann กล่าวขอบคุณกระทรวงศึกษาธิการไทยที่ได้จัดการประชุมในครั้งนี้เพื่อเปิดโอกาสให้ OECD มีบทบาทในการสนับสนุนการพัฒนาการศึกษาของประเทศไทย และให้การต้อนรับเป็นอย่างดีเรื่อยมาตั้งแต่โครงการ CP 1 ทั้งนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการประชุมโครงการ CP 2ในครั้งนี้จะสามารถสร้างความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับนโยบายทางการศึกษาของประเทศไทย โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่การศึกษาผู้แทนการศึกษา และองค์การต่าง ๆ ที่ปฏิบัติหน้าที่ด้านสถิติการศึกษาของประเทศไทย สามารถยกตัวอย่างกรอบแนวคิดตัวชี้วัดด้านการศึกษานานาชาติ รวมถึงเสนอแนวทางปฏิบัติที่ดีในการออกแบบและใช้งานตัวชี้วัดทางการศึกษา ตลอดจนสามารถอภิปรายความท้าทายและวิธีการแก้ไขปัญหาในการออกแบบและใช้งานตัวชี้วัดทางการศึกษาอย่างบูรณาการในประเทศไทยต่อไป
สรุปและเรียบเรียง: พุฒิเมธ กันธะ
ปานเทพ ลาภเกษร
กลุ่มความร่วมมือพหุภาคี
รายงานโดย : กลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
25 กันยายน 2566