Loading color scheme

นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และคณะผู้แทนไทย นำเสนอหัวข้อ “ภาพรวมเกี่ยวกับประเด็นสำคัญและโอกาสในการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคการศึกษาดิจิทัล

unesco1 18 4 2567

          เมื่อเวลา 16.15 น. ของวันที่ 17 เมษายน 2567 ณ องค์การยูเนสโก กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้มอบหมายให้ นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ได้นำเสนอในหัวข้อ “ภาพรวมเกี่ยวกับประเด็นสำคัญและโอกาสในการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคการศึกษาดิจิทัล” โดยนำเสนอประเด็นท้าทายในการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการศึกษา รวมถึงนโยบายและแผนดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาความท้าทาย อาทิ การส่งเสริมให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการศึกษา สนับสนุนอุปกรณ์ในการเรียนรู้ พัฒนาเนื้อหาในแอปพลิเคชัน รวมถึงการพัฒนาแพลตฟอร์มการเรียนรู้ระดับชาติเพื่อให้นักเรียนและประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ได้ เป็นต้น นอกจากนี้ นางพวงทอง ศรีวิลัย ผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ร่วมนำเสนอแพลตฟอร์มที่มีการใช้งานปัจจุบัน เช่น OBEC Content Center ซึ่งเป็นห้องเรียนออนไลน์ขนาดใหญ่ที่สามารถตอบโจทย์การเรียนรู้ตลอดชีวิต พร้อมทั้งพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 ซึ่งเน้นทักษะเฉพาะทางตามความต้องการของตลาด รวมถึงมาตรการในการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้แก่ ดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อการเรียนรู้แห่งชาติ (National Digital Learning Platform: NDPL) การพัฒนาเครือข่าย การพัฒนาสื่อการเรียนรู้ดิจิทัล รวมทั้งการจัดหาระบบคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ดิจิทัลเพื่อสนับสนุนการทำงานของครู และพัฒนาสมรรถนะเทคโนโลยีดิจิทัล เป็นต้น นอกจากนี้ ได้นำเสนอกิจกรรมและโครงการต่างๆ ในการสนับสนุน การจัดการเรียนรู้ทุกที่ทุกเวลา (Anywhere Anytime) และเรียนดีมีความสุข โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

unesco2 18 4 2567

          ในการประชุมโครงการ UNESCO-Huawei Funds-in-Trust on Technology-enabled Open Schools for All ในครั้งนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-18 เมษายน 2567 โดยองค์การยูเนสโกร่วมกับบริษัทหัวเว่ย เพื่อขับเคลื่อนการเรียนรู้ดิจิทัลในโรงเรียน โดยยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลางโดยผสมผสานเทคโนโลยีและความสามารถของมนุษย์ในการสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น ครอบคลุม และมีคุณภาพ ทั้งในรูปแบบห้องเรียนและการเรียนรู้ออนไลน์ โครงการในระยะที่ 1 ได้ดำเนินการแล้วในอียิปต์ เอธิโอเปีย และกานาตั้งแต่ปี 2563 และกำลังจะดำเนินโครงการระยะที่ 2 ในบราซิล อียิปต์ และไทยในปี 2567 นี้

สรุป / เรียบเรียง : หงษ์ฟ้า วีระนะรัตน์
จิตรลดา จันทร์แหยม
กลุ่มความร่วมมือกับองค์การยูเนสโก
รายงานโดย : กลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
17 เมษายน 2567