Loading color scheme

รองปลัด ศธ. “พิเชฐ” กล่าวต้อนรับในพิธีเปิดการประชุม “The 4th Integrated STEM Leadership Summit in Asia สอดรับนโยบาย ศธ “เรียนดี มีความสุข”

SEAMEO STEM ED 13 6 2567

          วันอังคารที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2567 นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ มอบหมายให้ นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.) พร้อมผู้แทนจากสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป. เข้าร่วมพิธีเปิดการประชุม Integrated STEM Leadership Summit in Asia ครั้งที่ 4 โดยมี นายกฤษฎ์ชัย สมสมาน ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคว่าด้วยสะเต็มศึกษาขององค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia Ministers of Education Organization Reginal Center for STEM Education : SEAMEO STEM-ED) ให้การต้อนรับ พร้อมผู้แทนจากสำนักงาน UNESCO กรุงเทพฯ ผู้บริหาร Unilab Foudation ที่ปรึกษาและผู้บริหารจากมหาวิทยาลัย Massachusetts Institute of Technology (MIT), สหรัฐอเมริกา และผู้เชี่ยวชาญนานาชาติในสาขา สะเต็มศึกษา วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว ณ โรงแรมเรดิสัน บลู พลาซ่า กรุงเทพฯ

SEAMEO STEM ED1 13 6 2567

          นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวต้อนรับในพิธีเปิดการประชุม โดยเน้นย้ำว่า กระทรวงศึกษาธิการไทย ได้ตระหนักถึงบทบาทสำคัญของสะเต็มศึกษาต่อการพัฒนาทรัพยากรบุคคล ความมุ่งมั่นของเราได้นำไปสู่การก่อตั้งศูนย์ SEAMEO STEM-ED ในประเทศไทย และการยกระดับสะเต็มศึกษาในระดับภูมิภาค ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้สนับสนุนความร่วมมือกับศูนย์ SEAMEO STEM-ED อย่างต่อเนื่องเพื่อบรรลุเป้าหมายที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในโลกปัจจุบันที่จะส่งผลต่อการศึกษาและด้านวิชาชีพภายหลังสำเร็จการศึกษา โดยจะส่งเสริมการเรียนการสอน การพัฒนาครูและนักเรียนให้มีการคิดวิเคราะห์เชิงระบบ มีตรรกะในการเรียนและการทำงาน มีการบูรณาการในศาสตร์การเรียนด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง การประชุมจะเน้นไปที่กลยุทธ์ เครื่องมือ และความพยายามในการทำงานร่วมกันสำหรับการใช้ประโยชน์จาก AI และเทคโนโลยีด้านต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการบรรลุความเป็นเลิศทางการศึกษาและการเติบโตทางเศรษฐกิจในภาคส่วนการประกอบอาชีพ ซึ่งมีความสอดคล้องกับนโยบายหลักของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ คือ “เรียนดี มีความสุข” ที่มุ่งส่งเสริมการใช้ AI และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เพื่อกระตุ้นและส่งเสริมการเรียนการสอนที่น่าสนใจ เป็นการลดภาระของนักเรียนและครูให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงการเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา “Anywhere Anytime” ส่งเสริมและสนับสนุนระบบหรือแพลตฟอร์มการเรียนรู้ โดยผู้เรียนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ตลอดจนเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำด้วยการส่งเสริมบทบาทภาคเอกชนและทุกภาคส่วนให้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนและจัดการศึกษา ตามแนวทาง “จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน” มีเป้าหมายสำคัญที่จะทำให้ผู้เรียนมีความสุขและมีผลการเรียนที่ดี สนใจใฝ่เรียนรู้ด้าน AI มีความรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่มีบทบาทสูงต่อการดำเนินชีวิตในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคตด้วย

SEAMEO STEM ED2 13 6 2567

          นายกฤษฎ์ชัย สมสมาน ผู้อำนวยการศูนย์ SEAMEO STEM-ED ได้กล่าวถึงการจัดประชุม Integrated STEM Leadership Summit in Asia ครั้งที่ 4 ภายใต้แนวคิดหลักคือ "เส้นทางแห่งการปฏิวัติวงการการศึกษาด้วย AI: การเตรียมกำลังคนและผู้เรียนในเอเชียเพื่ออนาคต" “Navigating the AI Revolution: Equipping Asia’s Workforce and Learners for the Future” เป็นการให้ความสำคัญต่อการยกระดับเส้นทางของการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ วิศวกรรมและเทคโนโลยี การประชุมดังกล่าวได้จัดขึ้นแล้ว 3 ครั้ง ครั้งที่ 1 จัดขึ้นที่สาธารณัฐฟิลิปปินส์ ในปี 2019 ครั้งที่ 2 จัดที่ประเทศไทย (รูปแบบออนไลน์) ในปี 2021 และครั้งที่ 3 จัดที่ฟิลิปปินส์ ในปี 2022 และกล่าวถึงวาระการประชุมตลอดจนกิจกรรมการทั้ง 3 วัน ประกอบด้วยการบรรยายจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ การอภิปราย การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อระดมความคิดร่วมกันเกี่ยวกับผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงของ AI ในด้านการศึกษา อนาคตของการเรียนการสอนสะเต็มศึกษา และความก้าวหน้าทางอาชีพที่เกี่ยวข้องกับสะเต็มศึกษาสู่สาขาต่างๆ ได้แก่ ความปลอดภัยทางไซเบอร์และอวกาศ พร้อมทั้งการเปิดตัวแหล่งข้อมูลใหม่ที่พัฒนาขึ้นสำหรับการศึกษา STEM ควบคู่ไปกับกิจกรรมการแข่งขันของผู้เรียนที่ใช้เทคโนโลยี AI เพื่อแก้ปัญหาในโลกแห่งความเป็นจริง พร้อมกล่าวขอบคุณพันธมิตรผู้ร่วมจัดงานทุกท่าน ได้แก่ Unilab Foundation, CISTEM, UP NISMED และกระทรวงศึกษาธิการไทย

SEAMEO STEM ED3 13 6 2567

          สำหรับการประชุม Integrated STEM Leadership Summit in Asia ในครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 11 – 13 มิถุนายน 2567 ณ โรงแรมเรดิสัน บลู พลาซ่า กรุงเทพฯ โดยการจัดงานเป็นความร่วมมือของศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยสะเต็มศึกษาของซีมีโอ (SEAMEO STEM-ED) ร่วมกับ Center for Integrated STEM Education (CISTEM) and Unilab Foundation สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ เป็นการประชุมในรูปแบบผสมผสาน (Hybrid) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ (AI) การเรียนรู้แนวปฏิบัติด้านการศึกษาที่เป็นนวัตกรรม รวมทั้งแนวทางการเชื่อมโยงการใช้ AI ในการศึกษาและการพัฒนากำลังคน ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย นักการศึกษา ผู้กำหนดนโยบาย ผู้นำจากภาคอุตสาหกรรม และผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี จากประเทศสมาชิกซีมีโอ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและภูมิภาคอื่น ๆ จำนวนประมาณ 200 คน เข้าร่วมงานดังกล่าว พร้อมผู้แทนจากกระทรวงศึกษาธิการจากหน่วยงานต่างๆ อาทิ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กรมส่งเสริมการเรียนรู้ และศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เข้าร่วมการประชุม ในรูปแบบ on-site และรูปแบบ online ไม่จำกัดจำนวน โดยมีหัวข้อการประชุม ฯ สำหรับช่วงเวลาต่างๆ อาทิ 1) Forum on STEM Education in the age of AI 2) AI Tools for Education 3) Forum on Accessibility and Inclusiveness 4) Forum on STEM in TVET 5) Forum on Future STEM Careers 6) Leadership on STEM 7)Regional STEM Collaboration [Policy Recommendation: Workshop]

SEAMEO STEM ED4 13 6 2567

          นอกจากการประชุมแล้วภายในบริเวณสถานที่จัดการประชุมยังได้มีการจัดบูทนิทรรศการด้าน AI ดิจิทัล เทคโนโลยี เพื่อการศึกษาในทุกระดับและวิชาชีพอย่างน่าสนใจ อาทิ การเรียนรู้โค้ดดิ้งและปัญญาประดิษฐ์ในรูปแบบสะเต็มศึกษา การจัดจำลองห้องเรียนและแพลตฟอร์มในการจัดการเรียนรู้ การบังคับหุ่นยนต์และแขนกล จากหน่วยงานพันธมิตรผู้ร่วมสนับสนุนการประชุม ได้แก่ Chevron, the International Labour Organization, Vex Robotics Didacta Asia, Festo, MIT RAISE, and Starlight Education for their significant contributions.

SEAMEO STEM ED5 13 6 2567

ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมรับชมการเผยแพร่ออกอากาศทาง *Live and Broadcast via YouTube and Facebook SEAMEO STEM-ED

Facebook Page :


YouTube link :

สรุป/เรียบเรียง : พิชญสุดา พลเสน
กนกวรรณ แกว่นถิ่นภู
กุสุมา นวพันธ์พิมล
กลุ่มความร่วมมือระดับภูมิภาค
รายงานโดย : กลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
12 มิถุนายน 2567