ข่าวสารกิจกรรม
ประเทศไทยร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการศึกษาในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2567 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบหมายให้ ดร. สุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการเข้าร่วมและกล่าวในพิธีเปิดการประชุมระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกว่าด้วยการศึกษา 2030 ครั้งที่ 6 (6th Asia-Pacific Meeting on Education: APMED6) ณ โรงแรมแบงค็อก แมริอ็อท มาคีส์ ควีนส์ ปาร์ค โดยมีคณะผู้บริหารจากหน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพหลักและภาคีความร่วมมือร่วมกล่าวในพิธีเปิดการประชุมประกอบด้วย Ms. Soohyun Kim ผู้อำนวยการสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ Ms. June Kunugi, ผู้อำนวยการ UNICEF EAPRO และ Mr. Hiroaki Motomura, ผู้อำนวยการด้านแผนและยุทธศาสตร์ต่างประเทศ กระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประเทศญี่ปุ่น
ในโอกาสนี้ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการได้กล่าวถึงความสำคัญของการประชุมในครั้งนี้ว่า สังคมของเรากำลังอยู่ในช่วงเวลาสำคัญที่การปรับเปลี่ยนระบบการศึกษามีความจำเป็นเร่งด่วนมากกว่าเดิม ความท้าทายที่มนุษย์ต้องเผชิญในช่วงการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้เกิดช่องว่างทางการเรียนรู้ที่มากขึ้น อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วต่อรูปแบบการจัดการเรียนการสอนและการเรียนรู้ นอกจากนี้ ประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคยังต้องเผชิญกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เช่น มลพิษทางอากาศ ภาวะโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และภัยแล้ง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้พวกเราต้องพิจารณาและปรับเปลี่ยนแนวทางการจัดการศึกษาใหม่ ด้วยเหตุนี้ หัวข้อของการประชุมในปีนี้ คือ “การเร่งรัดการดำเนินการ: การเปลี่ยนแปลงเนื้อหาและวิธีการเรียนรู้เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน” (Accelerating Actions: Transforming the What and How of Learning for a Sustainable Future) จึงมีความเหมาะสมอย่างยิ่ง หัวข้อการประชุมนี้ไม่เพียงแต่เรียกร้องให้พวกเราทุกคนทบทวนเกี่ยวกับความก้าวหน้าในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 4 (การศึกษาที่มีคุณภาพ) แต่ยังทำให้ผู้เข้าร่วมการประชุมได้ตระหนักถึงความจำเป็นในการเร่งความพยายามของพวกเราเพื่อให้การศึกษาในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีความครอบคลุม ยืดหยุ่น และสอดคล้องกับความต้องการของสังคมมากขึ้น
อนึ่ง การประชุม APMED6 จะจัดขึ้นเป็นเวลา 3 วัน (10-12 กันยายน 2567)ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวจะเปิดโอกาสให้ผู้แทนจากประเทศสมาชิกองค์การยูเนสโกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดและประสบการณ์ด้านการจัดการศึกษา การพัฒนาแนวทางและนโยบายการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ การสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ การนำเสนอผลลัพธ์การวิจัย และการฝึกอบรมครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนและเพิ่มการเข้าถึงการศึกษาในภูมิภาคการประชุมนี้จึงเป็นเวทีสำคัญในการสร้างความก้าวหน้าและการเปลี่ยนแปลงในระบบการศึกษา
สรุป / เรียบเรียง: พนิดา ทวีลาภ
จิตรลดา จันทร์แหยม
กลุ่มความร่วมมือกับองค์การยูเนสโก
รายงานโดย: กลุ่มสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
10 กันยายน 2567