ข่าวสารกิจกรรม
ประเทศไทยร่วมถกแนวทางส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตในเวทียูเนสโก
เมื่อวันที่ 21-23 ตุลาคม 2567 คณะผู้แทนประเทศไทยนำโดย ดร. พิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยผู้แทนกรมส่งเสริมการเรียนรู้ ผู้แทนสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยยูเนสโก ผู้แทนกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ผู้แทนมหาวิทยาลัยพะเยา ผู้แทน อบจ. พะเยา และ อบจ. ระยอง ได้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการ หัวข้อ "การเสริมสร้างระบบการศึกษาให้แข็งแกร่งด้วยมุมมองการเรียนรู้ตลอดชีวิต" (Capacity-Building Workshop: Strengthening Education Systems from a Lifelong Learning Perspective) ณ มหาวิทยาลัยเปิดเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Open University) สาธารณรัฐประชาชนจีน
การประชุมเชิงปฏิบัติการนี้จัดขึ้นโดยสถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งยูเนสโก (UIL) ร่วมกับมหาวิทยาลัยเปิดเซี่ยงไฮ้ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของประเทศสมาชิกยูเนสโกในการพัฒนานโยบายและการดำเนินการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) โดยทีมจากประเทศไทยได้เข้าร่วมเวิร์คช็อปเพื่อเรียนรู้แนวทางการพัฒนานโยบายด้านการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ร่วมกับประเทศสมาชิกยูเนสโกที่ได้รับเชิญเข้าร่วมโครงการ อาทิ จีน แทนซาเนีย มัลดีฟส์ สปป. ลาว กัมพูชา แอฟริกาใต้ และนามีเบีย อีกทั้งยังได้ร่วมกันพัฒนาเอกสารผลลัพธ์ในหัวข้อ "ยุทธศาสตร์การดำเนินนโยบายการเรียนรู้ตลอดชีวิต" ซึ่งจะเป็นแนวทางสำคัญในการนำไปปรับใช้ในบริบทการศึกษาไทย เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาและเพิ่มโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้กับประชาชนทุกกลุ่มอายุ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ด้อยโอกาส เด็กและเยาวชนที่หลุดออกจากระบบการศึกษา ตลอดจนการตอบสนองต่อสังคมผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
การพัฒนาเอกสารดังกล่าวเป็นผลมาจากการนำเสนอแนวคิดและแผนงานที่ได้รับการปรับปรุงในระหว่างการประชุม โดยคณะผู้แทนไทยได้นำเสนอในที่ประชุมในประเด็นที่สอดคล้องกับข้อท้าทายในการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตภายใต้บริบทของประเทศไทย ซึ่งจะเน้นการสร้างกลไกระดับชาติในการดำเนินนโยบายการเรียนรู้ตลอดชีวิตผ่านการประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน การสร้างแพลตฟอร์มการเรียนรู้ดิจิทัลเพื่อให้การเรียนรู้เข้าถึงได้ในทุกพื้นที่ รวมถึงการส่งเสริมแนวคิดเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning Cities) ภายใต้เครือข่ายระดับโลกด้านเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโก (UNESCO Global Network of Learning Cities: GNLC) ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยมีความพร้อมมากขึ้นในการเผชิญกับความท้าทายทางสังคมและเศรษฐกิจในอนาคต ปัจจุบันประเทศไทยมีเมืองที่ได้รับการรับรองให้เป็นสมาชิกเครือข่าย GNLC แล้วจำนวนกว่า 10 เมือง ซึ่งได้รับการชื่นชมจากประเทศสมาชิกและนับว่าเป็นแนวปฏิบัติที่ดีในการส่งเสริมให้ระดับท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับประชาชนในพื้นที่ในทุกช่วงวัยซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของยูเนสโก
ในโอกาสเดียวกันนี้ มหาวิทยาลัยเปิดเซี่ยงไฮ้ซึ่งเป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุม 2024 Digital Transformation and Lifelong Learning International Conference ระหว่างวันที่ 24-25 ตุลาคม 2567 ยังได้เชิญคณะผู้แทนประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ เข้าร่วมในเวที International Conference เพื่อรับฟังแนวทางจากผู้เชี่ยวชาญในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้ในการส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิตอีกด้วย
สรุป/เรียบเรียง: พนิดา ทวีลาภ
จิตรลดา จันทร์แหยม
กลุ่มความร่วมมือกับองค์การยูเนสโก
รายงานโดย : กลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
25 ตุลาคม 2567