Loading color scheme

กระทรวงศึกษาธิการจับมือ Sasakawa Peace Foundation และองค์กรเครือข่ายในประเทศญี่ปุ่น สนับสนุนการเรียนรู้ภาษาไทยให้แก่เด็กข้ามชาติ สร้างสังคมแห่งการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ

Sasakawa Peace Foundation 21 2 2568
          วานนี้ (20 กุมภาพันธ์ 2568) เวลา 13.30 น. นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย นายธนากร ดอนเหนือ อธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และนายธฤติ ประสานสอน รองเลขาธิการสภาการศึกษา ให้การต้อนรับ Ms. Masako IWASHINA ผู้แทนมูลนิธิสันติภาพซาซากาวา (Sasakawa Peace Foundation) Mr.Teruhiro SEKIGUCHI ผู้แทนมูลนิธิแรงงานสากลแห่งประเทศญี่ปุ่น (Japan International Labour Foundation: JILAF) และ Mr. Toshiyuki OKUI ผู้แทนองค์กร Nogezaka Glocal องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งได้เดินทางมาติดตามผลการดำเนินงานความร่วมมือภายใต้โครงการสนับสนุนการศึกษาสำหรับเด็กข้ามชาติผ่านการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างไทยและญี่ปุ่น ในระหว่างวันที่ 17 - 21 กุมภาพันธ์ 2568 พร้อมทั้งเข้าร่วม การประชุมหารือความก้าวหน้าโครงการความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ กับมูลนิธิสันติภาพซาซากาวา และองค์กรเครือข่ายในประเทศญี่ปุ่น ณ ห้องประชุมสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ) 2 ชั้น 9 อาคาร สพฐ 5 กระทรวงศึกษาธิการ โดยมีผู้แทนจากสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร และผู้แทนจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย เข้าร่วมด้วย

Sasakawa Peace Foundation1 21 2 2568

Sasakawa Peace Foundation3 21 2 2568

          สืบเนื่องจากกระทรวงศึกษาธิการ โดยกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) ได้ประสานความร่วมมือและลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมกัน (MOU) กับมูลนิธิสันติภาพซาซากาวา มูลนิธิแรงงานสากลแห่งประเทศญี่ปุ่น และองค์กร Nogezaka Glocal เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่เด็กต่างด้าวที่ติดตามผู้ปกครองเข้ามาอยู่ในประเทศไทยในการเรียนรู้ภาษาไทยและได้รับการศึกษาที่เหมาะสม คณะผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการจึงมีนโยบายให้ร่วมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางการปฏิบัติในการส่งเสริมการเรียนภาษาไทยแก่ผู้เรียนต่างด้าว ในสถานศึกษาสังกัดต่าง ๆ และเป็นการขยายผลความร่วมมือให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยกรมส่งเสริมการเรียนรู้กำลังดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรและคู่มือการเรียนรู้ภาษาไทยสำหรับชาวต่างชาติ จำนวน 200 ชั่วโมง และอยู่ในระหว่างการจัดทำสื่อออนไลน์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าว ซึ่งจะได้ประชาสัมพันธ์ให้รับทราบ อย่างเป็นทางการต่อไป ทั้งนี้ ที่ประชุมได้สรุปแนวทางการจัดชั้นเรียนเป็นภาษาไทยเพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่เด็กต่างด้าว โดยอาศัยการนำร่องกิจกรรมการเรียนรู้ภาษาไทย (หลักสูตร 200 ชั่วโมง) ของกรมส่งเสริมการเรียนรู้ ซึ่งได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณบางส่วนจากมูลนิธิสันติภาพซาซากาวา และองค์กรเครือข่ายในประเทศญี่ปุ่น บนพื้นฐานของการส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของผู้เรียนในการเลือกสถานศึกษาที่เหมาะสม กับช่วงอายุและความสะดวกของผู้ปกครอง

Sasakawa Peace Foundation2 21 2 2568

 

สรุป/เรียบเรียง : ภัทร พีระพันธุ์ หินเมืองเก่า
ปานเทพ ลาภเกษร
รายงานโดย : กลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
21 กุมภาพันธ์ 2568