Loading color scheme

การสัมมนาหัวข้อ International Development Partnership towards Africa

ด้วย สำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (สพร.) กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ได้จัดให้มีการสัมมนาในหัวข้อ‘International Development Partnership towards Africa’ ขึ้นในวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๕๖ เวลา ๑๕.๐๐ –๑๖.๓๐ น. ณ ห้องนราธิป กระทรวงการต่างประเทศ โดยในการสัมมนาดังกล่าวได้มีการปาฐกถาในหัวข้อ ‘Japan’s Partnership towards Africa’

๑. วัตถุประสงค์ของการสัมมนาและปาฐกถา : การสัมมนาที่จัดขึ้นมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาภูมิภาคแอฟริกา ทั้งนี้ โดยการปาฐกถาในหัวข้อ ‘Japan’s Partnership towards Africa’ โดย Dr.Toshiya Hoshinoถือเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการประชาสัมพันธ์การจัดประชุม The Fifth Tokyo International Conference on African Development  (TICAD V) ที่จะมีขึ้นในช่วงระหว่างวันที่ ๑ –๓ มิถุนายน ๒๕๕๖เมืองโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น

๒. ผู้แสดงปาฐกถา : Dr.Toshiya Hoshino คณบดีของ Osaka School of International Public Policy (OSIPP) มหาวิทยาลัยโอซากา

๓. เนื้อหาสำคัญโดยสังเขปของการปาฐกถา :

๓.๑ ความน่าสนใจของภูมิภาคแอฟริกา : พลวัตรสำคัญที่น่าสนใจของแอฟริกามีประการ คือ ๑) การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างน่าสังเกต โดยพบว่า GDP ของแอฟริกามีมูลค่าใกล้เคียงกับของกลุ่ม BRICS ๒) การขยายตัวของตลาด โดยพบว่า รายได้ประชาชาติต่อหัวของแอฟริกามีมูลค่าใกล้เคียงกับของอินเดีย และจำนวนประชากรของแอฟริกาจะมีเพิ่มขึ้นในอนาคต และ ๓) การเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมาก โดยเฉพาะด้านแร่ธาตุและพลังงาน

๓.๒ TICAD คืออะไร: TICAD คือ การประชุมระดับสุดยอดระหว่างผู้นำของประเทศในแอฟริกาและหุ้นส่วนการพัฒนาต่างๆ เกี่ยวกับการพัฒนาภูมิภาคแอฟริกา ซึ่งการประชุมดังกล่าวประเทศญี่ปุ่นได้ริเริ่มขึ้นมาตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๙๓ โดยมีความคิดที่จะฟื้นฟูและกระตุ้นผลประโยชน์ของประชาคมระหว่างประเทศในการพัฒนาภูมิภาคแอฟริกา เพื่อที่จะสร้างสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาคแอฟริกาผ่านการดำเนินงานความร่วมมือแบบหุ้นส่วน การประชุม TICADจะร่วมกันจัดขึ้นโดยประเทศญี่ปุ่น คณะกรรมาธิการสหภาพแอฟริกา (The African Union Commission – AUC) องค์การสหประชาชาติ ธนาคารโลก และสำนักงานโครงการการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development ProgrammeUNDP) โดยจะมีการจัดการประชุมขึ้นทุกปี

โดยภาพรวมกล่าวได้ว่า TICADถือเป็นผู้บุกเบิกของเวทีระหว่างประเทศเกี่ยวกับการพัฒนาภูมิภาคแอฟริกา ซึ่งได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลา ๒๐ ปี ถือเป็นเวทีการหารือระหว่างองค์กรระหว่างประเทศ ประเทศแหล่งผู้ให้ บริษัทเอกชนและภาคประชาสังคมเกี่ยวกับการพัฒนาภูมิภาคแอฟริกา ทั้งนี้ โดยมีจุดเน้นอยู่ที่ ‘ความเป็นเจ้าของของแอฟริกาในการพัฒนา’ (Africa’s Ownership) และ ‘ความเป็นหุ้นส่วนระหว่างภูมิภาคแอฟริกากับประชาคมระหว่างประเทศ’(Partnership) เป็นสำคัญ

๓.๓ ความสำเร็จที่เกิดจากการประชุม TICAD IV (๒๐๐๘): ความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมมีประการ คือ ๑) ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาของญี่ปุ่นที่ให้แก่ภูมิภาคแอฟริกาได้เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าภายในปี ค.ศ. ๒๐๑๒ คิดเป็นมูลค่า ๑.๘ พันล้านเหรียญสหรัฐ และ ๒) การสนับสนุนให้มีการลงทุนจากภาคเอกชนที่เข้าไปในแอฟริกาเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าภายในปี ค.ศ. ๒๐๑๒ คิดเป็นมูลค่า ๓.๔ พันล้านเหรียญสหรัฐ

๓.๔ การประชุม TICAD V และแนวคิดหลัก: การประชุม TICAD V จะมีขึ้นในช่วงระหว่างวันที่ ๑ –๓ มิถุนายน ค.ศ. ๒๐๑๓เมืองโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น โดยมีแนวคิดหลัก คือ ‘ความร่วมมือกับแอฟริกาที่มีพลวัตร - การเปลี่ยนแปลงเพื่อการเติบโตอย่างมีคุณภาพ’(Hand in hand with a more dynamic Africa – Transformation for quality growth) ซึ่งแนวคิดดังกล่าวประกอบไปด้วยกระแสหลัก คือ

๑) การมีเศรษฐกิจที่เข้มแข็งและยั่งยืน: โดยการเพิ่มการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว การพัฒนาภาคเอกชน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การบูรณาการ
ในภูมิภาค และการสร้างบรรยากาศการลงทุน เป็นต้น

๒) การฟื้นฟูสังคมให้กลับสู่สภาพที่ดี : โดยมุ่งไปที่การจ้างงาน การศึกษา (ทั้งระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษา) การสาธารณสุข การให้ความสำคัญกับสตรีและเด็ก การสร้างความมั่นคงด้านอาหารด้วยการพัฒนาการเกษตร การจัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสร้างความมั่นคงปลอดภัยทางสังคม และการลดภัยพิบัติทางธรรมชาติ

๓) การสร้างสันติภาพและเสถียรภาพความมั่นคง : ด้วยการสนับสนุนพื้นฐานและการรวมตัวกันเพื่อสร้างสันติภาพ และการเพิ่มขีดความสามารถในการรักษาสันติภาพ เป็นต้น

นอกจากกระแสหลักดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังมีประเด็นพิจารณาเพิ่มเติมอีกประการ เพื่อที่จะตอบโจทย์ในเรื่องของปัญหาความยากจนและความไม่เท่าเทียมในระดับโลก ดังนี้

๑) การมีความมั่นใจว่าจะไม่ทำให้เกิดการขึ้นสู่อำนาจของประเทศกลุ่ม South โดยเฉพาะอย่างยิ่งหมายถึงการใช้อำนาจของจีนในเวทีโลก

๒) การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างไทยกับญี่ปุ่นในการพัฒนาภูมิภาคแอฟริกา เพื่อนำแอฟริกาไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals – MDGs)

๓) การส่งเสริมแนวคิดในเรื่อง ‘ความมั่นคงของมนุษย์’ (Human Security Perspective) เพื่อที่จะปกป้องมนุษยชาติจากความหวาดกลัว และให้มีอิสรภาพในการดำรงชีวิตอยู่ในโลกได้อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
๑๘
เมษายน ๒๕๕๖