Loading color scheme

รายงานผลการปาฐกถาทางวิชาการหัวข้อ ‘The ASEM Outlook Report ๒๐๑๒’

ศูนย์ยุโรปศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ The Asia - Europe Foundation (ASEF) และ The United Nations University Institute on Comparative Regional Integration Studies (UNU - CRIS) ได้จัดให้มีการปาฐกถาทางวิชาการเกี่ยวกับอนาคตแห่งความสัมพันธ์ระหว่างเอเชียและยุโรป ในหัวข้อ The ASEM Outlook Report ๒๐๑๒ ขึ้นในวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๕๖ เวลา ๑๔.๓๐-๑๗.๐๐ น. ณ อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

๑. วัตถุประสงค์ของการปาฐกถา : เพื่อเป็นการนำเสนอผลการค้นคว้าวิจัยในเอกสาร The ASEM Outlook Report ๒๐๑๒ โดยเอกสารรายงานดังกล่าวได้มีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างเอเชียกับยุโรปทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม รวมทั้งได้มีการนำเสนอแนวทาง ฉากทัศน์สำหรับอนาคต (Future scenario approach) ในความสัมพันธ์ของเอเชียกับยุโรป ทั้งนี้ โดยมุ่งเน้นไปที่ ๔ ประเด็นหลัก คือ การบูรณาการทางด้านเศรษฐกิจและการคลัง ความมั่นคงและการบริหารจัดการความขัดแย้ง การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการสาธารณสุขและการเตรียมการสำหรับการแพร่ระบาด

๒. ผู้แสดงปาฐกถา : Mr. Ronan Lenihan ผู้บริหารโครงการของ The Asia - Europe Foundation (ASEF) เป็นผู้นำเสนอผลการค้นคว้าวิจัยในเอกสาร The ASEM Outlook Report ๒๐๑๒

๓. เนื้อหาสำคัญโดยสังเขปของการปาฐกถา :
          ๓.๑ สาระสำคัญของเอกสาร The ASEM Outlook Report ๒๐๑๒ คือการพยายามแสวงหาคำตอบที่ควรจะเป็นสำหรับคำถาม ๓ คำถาม ดังนี้ ๑) อะไรคือสถานการณ์ที่เป็นจริงของความสัมพันธ์ระหว่างเอเชียกับยุโรปในปัจจุบัน ๒) เอเชียกับยุโรปมีมุมมองต่อกันอย่างไร และ๓) เอเชียกับยุโรปจะพัฒนาหรือมีวิวัฒนาการแห่งความสัมพันธ์ต่อกันอย่างไรในอนาคต ซึ่งในเอกสารฯ ดังกล่าวได้มีการนำเสนอข้อมูลทั้งเชิงพรรณนาและเชิงสถิติในสถานการณ์ที่เป็นจริงเกี่ยวกับเรื่องของประชากรและตัวชี้วัดทางประชากรศาสตร์ การอพยพเคลื่อนย้ายของประชากรและแรงงาน การเข้าถึงและพัฒนาเทคโนโลยี รวมทั้งประเด็นต่างๆ ทางด้านสาธารณสุข เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ความมั่นคงและประเด็นทางด้านสังคม

          ๓.๒ สำหรับมุมมองที่เอเชียและยุโรปมีต่อกัน พบว่ามีความแตกต่างกันไป ในสายตาของคนเอเชียเมื่อพูดถึงยุโรปในปัจจุบันมักนึกไปถึงประเทศเยอรมนี สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส สหภาพยุโรป (EU) ความเป็นประชาคมยุโรป เงินตราสกุลยูโร การลงทุน วิกฤติการณ์ทางการเงินที่เกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศในยุโรป ความเป็นระบบราชการ ความเป็นสิ่งที่น่าเบื่อ ฯลฯ ส่วนในสายตาของคนยุโรปเมื่อพูดถึงเอเชียในปัจจุบันมักนึกไปถึงประเทศจีน อินเดีย ญี่ปุ่น การมีประชากรจำนวนมหาศาล มีวัฒนธรรมที่น่าสนใจและมีความหลากหลาย เรื่องของข้าวและอาหาร การที่ยังมีปัญหาความยากจนในบางพื้นที่ในขณะที่บางประเทศกำลังมีความเติบโตทางด้านเศรษฐกิจอย่างน่าจับตามอง และที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่ง ก็คือ ปฏิสัมพันธ์ที่ยุโรปมีต่อประเทศต่างๆ ในเอเชียจะมีความแตกต่างกันไป กล่าวคือ สิ่งที่ยุโรปดำเนินการกับจีนจะมีความแตกต่างไปจากสิ่งที่ดำเนินการกับประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และจะมีความแตกต่างไปจากสิ่งที่ดำเนินการกับอินเดียและเอเชียใต้ เป็นต้น

          ๓.๓ สำหรับการให้ฉากทัศน์สำหรับอนาคต (Future scenario) ของความสัมพันธ์ระหว่างเอเชียกับยุโรปตามที่ปรากฏในเอกสาร The ASEM Outlook Report ๒๐๑๒ นั้น มิได้หมายถึงการทำนายว่าสิ่งใดจะต้องเกิดขึ้นในอนาคต แต่จะเป็นการให้เค้าโครงโดยสังเขปของสิ่งที่มีลักษณะพิเศษบางประการและมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ โดยเอกสารดังกล่าวได้ทำการ

ศึกษาพิจารณาใน ๔ ประเด็นหลักที่จะมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างเอเชีย-ยุโรป ดังนี้
          ๑)การบูรณาการทางด้านเศรษฐกิจและการคลัง : รัฐบาลของกลุ่ม ASEM ควรต้องมีการผลักดันให้เกิดกลไกการเจรจาหารือที่ดีขึ้นในระดับของการประชุม G ๒๐ และสถาบัน Bretton Woods เพื่อที่จะกำจัดหรือบรรเทาผลกระทบของวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และเพื่อที่จะช่วยกันแสวงหามาตรการต่างๆ ที่จะป้องกันและลดความเสี่ยงของวิกฤติการณ์ในลักษณะนี้ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

          ๒)ความมั่นคงและการบริหารจัดการความขัดแย้ง : ควรมีการปรับปรุง การประสานงานร่วมระหว่างเอเชียและยุโรปในการบริหารจัดการความขัดแย้ง ทั้งนี้ โดยให้มีการเพิ่ม
การดำเนินงานระหว่างกันของหน่วยงานรักษาความสงบและสันติภาพแห่งชาติโดยผ่านการฝึกอบรม การมีการแลกเปลี่ยนวิธีการปฏิบัติที่ดีในเรื่องที่เกี่ยวกับภัยคุกคามต่อความมั่นคงรูปแบบใหม่ๆ หรือมีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อการเตือนภัยล่วงหน้าและการเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นต้น

          ๓) การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม : ควรมุ่งเน้นความสนใจไปที่ความมั่นคงทางด้านพลังงาน อาหาร และน้ำ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและการเพิ่มพูนคุณภาพชีวิต
ของประชาชน โดยเอเชียกับยุโรปควรจะมีการสำรวจและพัฒนาเทคโนโลยีร่วมกันและมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน เพื่อให้สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลและนวัตกรรมต่างๆ ในเรื่องเกี่ยวกับการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม

          ๔) การสาธารณสุขและการเตรียมการสำหรับการแพร่ระบาด : การเคลื่อนย้ายทางด้านประชากรไม่ว่าจะเป็นการอพยพเข้า-ออก หรือการเคลื่อนย้ายของกลุ่มผู้สูงอายุ จะเป็นประเด็นสำคัญต่อเรื่องของการเข้าถึงการรับบริการด้านสุขภาพ ซึ่งถ้าให้มีการแข่งขันกันอย่างเหมาะสมจะทำให้เกิดนวัตกรรมเกี่ยวกับการบริการด้านสุขภาพได้ดีขึ้น ดังนั้น จึงเสนอว่ารัฐบาลของกลุ่ม ASEM ควรป้องกันมิให้เกิดการแข่งขันราคาที่ไม่เหมาะสมในการพัฒนาเทคโนโลยีด้านสาธารณสุข ด้วยการใช้ระบบสิทธิบัตรร่วมแบบเปิด (open source patent pooling system)

          ๓.๔ The ASEM Outlook Report ๒๐๑๒ ได้ให้ข้อเสนอแนะโดยภาพรวมสำหรับความสัมพันธ์ระหว่างเอเชียและยุโรปในอนาคตอีก ๓๐ ปีข้างหน้า ดังนี้

          ๑) เอเชียและยุโรปจะต้องสร้างความร่วมมือแบบหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ระหว่าง สองภูมิภาคโดยมีพื้นฐานอยู่บนการมีผลประโยชน์ร่วมกันในประเด็นหลักต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น

          ๒) เอเชียและยุโรปจะต้องมีการหารือและเตรียมการร่วมกันในเรื่องของการเข้าถึงข้อมูลอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศ อาหาร น้ำ แหล่งพลังงานที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างความมั่นคงเกี่ยวกับเรื่องความจำเป็นพื้นฐานของมนุษย์และการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของประชากร

          ๓) เอเชียและยุโรปจะต้องตระหนักและบูรณาการความร่วมมือจากองค์กรที่มิใช่ภาครัฐให้เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดและดำเนินการตามนโยบายอย่างจริงจัง โดยมิใช่อยู่ในฐานะที่เป็นเพียงผู้ตรวจสอบการดำเนินงานของภาครัฐเท่านั้น

          ๔) เอเชียและยุโรปจะต้องทำให้เกิดความเป็นกลางและความยืดหยุ่นในกระบวนการดำเนินงานของกลุ่ม ASEM ทั้งนี้ โดยมีการประสานงานระหว่างประเทศในระดับพหุภาคีและหลากหลายภาคส่วน

สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
๒ เมษายน ๒๕๕๖