การจัดงาน African Week ระหว่างวันที่ 16 – 19 กันยายน 2553 ณ ศูนย์การค้าสยามพารากอน ปทุมวัน กรุงเทพฯ
ความเป็นมา
การจัดงาน African Week ในประเทศไทยครั้งนี้ถือเป็นครั้งปฐมฤกษ์ที่รัฐบาลไทยโดยกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน และสถานเอกอัครราชทูตของกลุ่มประเทศแอฟริกาในไทย ได้มีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่จะจัดให้มีงานนี้ขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้เพื่อเป็นสิ่งสะท้อนถึงความตั้งใจจริงในการที่จะสร้างความรู้ความเข้าใจระหว่างกัน รวมถึงการกระชับและเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคแอฟริกาให้มีความแน่นแฟ้น
การจัดงาน African Week ในครั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจากการประชุมหารือกันระหว่างนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ H.E. Mr.Olabiyi Yai อดีตประธานคณะกรรมการบริหารและประธานกลุ่มประเทศแอฟริกาในยูเนสโก เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2552 ณ สำนักงานใหญ่ขององค์การยูเนสโก กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้เห็นพ้องที่จะให้มีการกระชับและเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันให้มากขึ้น และต่อมาระหว่างวันที่ 23-27 ธันวาคม 2552 Professor Dr.Abdul-Rasheed Na’Allah, Vice Chancellor and Chief Executive of Kwara State University ประเทศไนจีเรีย ได้เดินทางมาเยือนไทยและเข้าเยี่ยมคารวะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยสยาม ซึ่ง Prof. Dr.Abdul-Rasheed Na’Allah ได้ให้ความสนใจต่อการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในกลุ่มแอฟริกากับซีกโลกตะวันออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง และประสงค์ให้มีการริเริ่มจัดงาน African Week ขึ้นในประเทศไทย เพื่อเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจ และสร้างเสริมความสัมพันธ์ระหว่างกันให้เข้มแข็งและกว้างขวางมากขึ้น
จากจุดเริ่มต้นดังกล่าว กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงวัฒนธรรม สถาบันอุดมศึกษาต่างๆ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้พิจารณาเล็งเห็นถึงความเหมาะสมที่จะมีการจัดงาน African Week ขึ้นในประเทศไทยเพื่อเป็นอีกกลไกหนึ่งที่จะช่วยส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างประชาชนชาวไทยกับชาวแอฟริกัน เพื่อประโยชน์ต่อการเชื่อมโยงกันทั้งภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรมรวมทั้งการท่องเที่ยวด้วย ทั้งนี้ โดยในชั้นต้นได้กำหนดจัดงาน African Week ในช่วงเดือนพฤษภาคม - มิถุนายน 2553 แต่เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองของไทยในช่วงเวลาดังกล่าวไม่เอื้ออำนวย ในที่สุดจึงได้เลื่อนกำหนดการจัดงานฯ มาเป็นระหว่างวันที่ 16 - 19 กันยายน 2553 ณ ศูนย์การค้าสยามพารากอน
วัตถุประสงค์ของการจัดงาน
1. เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในมิติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การค้า การลงทุน วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ การศึกษา ฯลฯ ของภูมิภาคแอฟริกาให้แก่ประชาชนและบุคคลผู้สนใจ
2. เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างนักวิชาการ และนักธุรกิจที่จะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างไทยกับกลุ่มประเทศแอฟริกา
3. เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม และเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างไทยกับแอฟริกา
กำหนดการจัดงาน
ระหว่างวันที่ 16 - 19 กันยายน 2553
สถานที่การจัดงาน
ศูนย์การค้าสยามพารากอน บริเวณ Life Style Hall และ Life Style Gallery ชั้น 2
หน่วยงานผู้รับผิดชอบ
กระทรวงศึกษาธิการ โดยทุกองค์กรหลัก ร่วมกับ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงวัฒนธรรม การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา รวมทั้งสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และได้รับความร่วมมือจากสถานเอกอัครราชทูตของกลุ่มประเทศแอฟริกาประจำประเทศไทย และบริษัทสายการบินของแอฟริกาในประเทศไทย
กิจกรรมของงาน
ประกอบด้วยกิจกรรมหลักๆ ดังนี้
1.การจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับความสัมพันธ์ไทย – แอฟริกาในมิติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบูธของกระทรวงการต่างประเทศเพื่อประชาสัมพันธ์เว็บไซต์ www.thaiafrica.net ซึ่งจะเป็นแหล่งสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับภูมิภาคแอฟริกา การแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับความร่วมมือทางการศึกษาและวิชาการระหว่างไทยกับแอฟริกา การแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับพลอย การแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับงานวิจัยด้านการเกษตรที่ไทยดำเนินการร่วมกับแอฟริกา การแสดงนิทรรศการภาพถ่ายเพื่อสนับสนุน UN Millennium Development Goals (MDGs) นำเสนอเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งการแสดงนิทรรศการของสถานเอกอัครราชทูตของกลุ่มประเทศแอฟริกาประจำประเทศไทย และบริษัทสายการบินของแอฟริกาในประเทศไทย เป็นต้น
2. การแสดงสินค้าและผลิตภัณฑ์ไทย-แอฟริกา โดยภายในงานจะมีการจัดแสดงสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจของภูมิภาคแอฟริกา ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสถานเอกอัครราชทูตของกลุ่มประเทศแอฟริกาประจำประเทศไทย และบริษัทสายการบินของแอฟริกาในไทย
3. การจัดสัมมนา / เสวนาทางวิชาการในหัวข้อต่างๆ ซึ่งจะเป็นการเปิดเวทีให้ได้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และการถกแถลงอย่างกว้างขวางระหว่างนักวิชาการทั้งของไทยและแอฟริกา รวมทั้งการให้แง่คิดมุมมองจากทัศนะของนักธุรกิจและนักลงทุนเกี่ยวกับโอกาสทางธุรกิจระหว่างไทยกับแอฟริกา ซึ่งสาระความรู้และข้อมูลจากเวทีดังกล่าวจะสามารถนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อการขยายความร่วมมือระหว่างกันในอนาคตต่อไป
4. การแสดงภาพวาด ในหัวข้อ “แอฟริกา / แอฟริกันที่ฉันรู้จัก” ของเด็กนักเรียนระดับมัธยมศึกษาของไทย ที่ส่งเข้าประกวดและผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
5. การแสดงทางศิลปวัฒนธรรมไทย-แอฟริกา โดยจะมีการแสดงแลกเปลี่ยนด้านศิลปวัฒนธรรมของนักเรียนไทย และนักศึกษาชาวแอฟริกัน ประจำทุกวัน ๆ ละ 3 รอบ เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวัฒนธรรมระหว่างกัน
6. การพบปะหารือและการศึกษาดูงานของคณะผู้แทนแอฟริกา โดยจะนำคณะผู้แทนกลุ่มประเทศแอฟริกาไปศึกษาดูงานด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการเกษตร การประมง ในสถานศึกษาของไทย ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับไทยที่จะได้นำเสนอถึงความพร้อมและศักยภาพของประเทศไทยต่อแอฟริกาในการที่จะมาเป็นคู่ความร่วมมือกันในอนาคต
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
1. สาธารณชนคนไทย ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน/นักศึกษา ครู/อาจารย์ นักวิชาการ นักธุรกิจ นักลงทุน ได้เกิดความเข้าใจ สนใจ และเล็งเห็นถึงความสำคัญของภูมิภาคแอฟริกามากขึ้น
2. คณะผู้แทนระดับสูงรวมทั้งนักวิชาการของภูมิภาคแอฟริกา จะได้ทำความรู้จักและรับทราบมากขึ้น ถึงความพร้อมและศักยภาพของประเทศไทยในการที่จะมาเป็นคู่ความร่วมมือกับภูมิภาคแอฟริกาที่น่าสนใจในอนาคต
3. การจัดงาน African Week จะเป็นสัญลักษณ์เชิงรูปธรรมประการหนึ่งของความร่วมมือระหว่างไทยกับแอฟริกา ซึ่งความสำเร็จจากงานดังกล่าวจะสามารถขยายผลไปสู่การเพิ่มพูนความสัมพันธ์ร่วมมือระหว่างไทยกับแอฟริกาในด้านต่างๆ ให้เข้มแข็งและกว้างขวางยิ่งขึ้นต่อไป
ข้อมูล : กลุ่มความร่วมมือต่างประเทศระดับนานาชาติ