การป้องกันและปราบปรามทุจริตของฟินแลนด์
ด้วยกระทรวงการต่างประเทศ ได้จัดส่งเอกสารเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตของฟินแลนด์ จากสถานเอกอัครราชทูตฟินแลนด์ประจำประเทศไทย เพื่อเป็นตัวอย่างให้กับหน่วยงานของไทย รวมทั้งกระทรวงศึกษาธิการได้เรียนรู้และปรับปรุงกลไกในการดำเนินงานเพื่อให้การป้องกันและปราบปรามการทุจริตของประเทศมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเอกสารดังกล่าว มีจำนวน 2 ฉบับ คือ เอกสาร Combating Corruption – Finnish Experience และเอกสาร Corruption and the Prevention of Corruption in Finland โดยเอกสารทั้งสองฉบับได้กล่าวถึงพัฒนาการ ปัจจัยความสำเร็จของการป้องกันการทุจริตของฟินแลนด์ และสาเหตุที่ฟินแลนด์มีสถิติการทุจริตต่ำ รวมทั้งหลักกฎหมายป้องกันการทุจริตในฟินแลนด์ ซึ่งมีเนื้อหาโดยสรุปดังนี้
1. พัฒนาการของการป้องกันการทุจริต และปัจจัยแห่งความสำเร็จของฟินแลนด์
o ค่านิยมของสังคมฟินแลนด์เน้นการดำรงชีวิตด้วยความซื่อสัตย์ และรักษาผลประโยชน์ของส่วนรวม การศึกษาเป็นสิ่งสำคัญที่สุด โดยฟินแลนด์ส่งเสริมให้ประชาชนทุกคนได้รับการศึกษา และปลูกฝังค่านิยมเหล่านี้โดยถ้วนหน้า
o ในอดีต ฟินแลนด์เป็นสังคมที่มีการทุจริตเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ แต่ต่อมาเมื่อได้มีกลุ่มนักคิด และนักวิชาการเพิ่มขึ้น ประกอบกับการปฏิวัติทางอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่มีอยู่ทั่วไปในยุโรป ทำให้มีการวางระบบสภา และการปกครองที่กระจายอำนาจสู่ประชาชนควบคู่ไปกับการปฏิรูประบบการศึกษาและสวัสดิการสังคม ทำให้ฟินแลนด์มีวัฒนธรรม และค่านิยมที่ต่อต้านการทุจริตเพิ่มมากขึ้น
o ระบบศาล กฎหมายและโครงสร้างของการปกครองแบบกระจายอำนาจ ช่วยลดความเสี่ยงของการทุจริต นอกจากนี้ จากการศึกษาของธนาคารโลกพบว่า สัดส่วนของนักการเมืองหญิงที่มีจำนวนมาก มีส่วนช่วยส่งเสริมหลักนิติรัฐ และช่วยให้สถิติทุจริตลดลง ซึ่งฟินแลนด์มีจำนวนผู้แทนราษฎรเป็นหญิงมากกว่าหนึ่งในสามของจำนวนผู้แทนราษฎรทั้งหมด
2. สาเหตุที่ฟินแลนด์มีสถิติการทุจริตต่ำ และหลักกฎหมายป้องกันการทุจริตในฟินแลนด์
o รัฐบาลฟินแลนด์มุ่งเน้นการกำจัดปัจจัยที่เอื้ออำนวยการให้เกิดการทุจริต โดยจัดวางโครงสร้างทางการเมืองแบบกระจายอำนาจ เน้นให้มีการตรวจสอบคานอำนาจระหว่างหน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น และทำให้ขั้นตอนการตัดสินใจของนักการเมืองโปร่งใส และตรวจสอบได้ในทุกระยะ รวมทั้งให้อำนาจประชาชนในการฟ้องร้องการประพฤติมิชอบของนักการเมือง/เจ้าหน้าที่ของรัฐต่อศาลปกครองโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี
o ระบบสวัสดิการสังคมของฟินแลนด์มีความทั่วถึง และมีการกระจายรายได้ทำให้ประชาชนมีโอกาสในการศึกษา การประกอบอาชีพ และโอกาสทางสังคมที่เท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นพื้นฐานที่ดีในการป้องกันการทุจริตทั้งในภาครัฐและเอกชน
o ฟินแลนด์เป็นหนึ่งในประเทศแรกของโลกที่รัฐบาลจัดสรรเงินบำรุงให้แก่ทุกพรรคการเมืองเนื่องจากเห็นว่าการที่พรรคการเมืองต้องมีค่าใช้จ่ายในการหาเสียงเป็นช่องทางให้เกิดการให้สินบนจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย นอกจากนี้ ยังมีระบบความโปร่งใสที่ประชาชนสามารถตรวจสอบได้
ในการนี้ กระทรวงการต่างประเทศเห็นว่า การปลูกฝังค่านิยมต่อต้านการคอรับชั่นผ่านระบบการศึกษา การขจัดความเหลื่อมล้ำในสังคม และมีกลไกตรวจสอบนักการเมือง และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เข้มแข็งของประเทศฟินแลนด์ สามารถใช้เป็นตัวอย่างในการปรับปรุงกลไกลการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐของไทยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้ โดยหากกระทรวงศึกษาธิการประสงค์ที่จะเรียนรู้ประสบการณ์ในส่วนที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมทาง กระทรวงการต่างประเทศยินดีให้ความร่วมมือดังกล่าว โดยสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ จะเป็นผู้ประสานงานให้อีกทางหนึ่ง
ข้อมูล : กลุ่มความร่วมมือต่างประเทศระดับนานาชาติ
โทร. 02 628 5646 ต่อ 117 105