Loading color scheme

ยูเนสโกขึ้นทะเบียน “เมืองโบราณศรีเทพ” เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม

อุทยานศรีเทพ1 21 9 2566

เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2566 ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 45 ที่ขยายออกมา ณ กรุงริยาด ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ได้มีมติรับรองการขึ้นทะเบียน “เมืองโบราณศรีเทพ” เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ซึ่งจะถือเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 4 และเป็นมรดกโลกแห่งที่ 7 ของประเทศไทย

อุทยานศรีเทพ2 21 9 2566

          “เมืองโบราณศรีเทพ”ตั้งอยู่ที่ตำบลศรีเทพ อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นจุดเชื่อมโยงเครือข่ายของการแลกเปลี่ยนสินค้า เส้นทางการค้า และวัฒนธรรมระหว่างพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีความสำคัญมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายต่อเนื่องจนถึงวัฒนธรรมเขมรโบราณ (พุทธศตวรรษที่ 8 - 18) จากหลักฐานทางโบราณคดี และงานศิลปกรรมที่มีอยู่ แสดงให้เห็นว่าเมืองโบราณแห่งนี้มีการรับอารยรรมจากภายนอก ทั้งจากอินเดีย เขมร และวัฒนธรรมทวารวดีแหล่งอื่น ๆ จนเมืองมีความเจริญรุ่งเรือง หลังการค้นพบ “เมืองโบราณศรีเทพ” ในปี พ.ศ. 2447 โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และได้มีการบูรณะเป็นโบราณสถานมาอย่างยาวนาน จนกระทั่งเมืองโบราณศรีเทพ และแหล่งต่อเนื่องที่มีความเกี่ยวเนื่องและสัมพันธ์กัน จำนวน 3 แหล่ง ได้แก่ เมืองโบราณศรีเทพ อำเภอศรีเทพ โบราณสถานเขาคลังนอก อำเภอศรีเทพ และโบราณสถานถ้ำเขาถมอรัตน์ อำเภอโคกสะอาด จังหวัดเพชรบูรณ์ เข้าสู่บัญชีเบื้องต้นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม (Tentative List) ในปี พ.ศ. 2562 และใช้เวลา 4 ปี จนได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 4 ของไทย ภายใต้คุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล (Outstanding Universal Value) ตามเกณฑ์ของยูเนสโก ข้อที่ 2 ความสำคัญของการแลกเปลี่ยนคุณค่าของมนุษย์ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง หรือพื้นที่ในวัฒนธรรมใด ๆ ของโลก ผ่านการพัฒนาด้านสถาปัตยกรรม หรือทางเทคโนโลยี การวางแผนผังเมือง หรือการออกแบบภูมิทัศน์ และข้อที่ 3 เป็นพยานหลักฐานที่ยอดเยี่ยม หรือหาที่เสมอเหมือนไม่ได้ของประเพณี วัฒนธรรม หรือวัฒนธรรมที่ยังคงอยู่ หรือสูญหายไปแล้ว

          “เมืองโบราณศรีเทพ” ถือเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมของไทย ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียน ในรอบ 30 ปี นับจากแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี ได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางวัฒนธรรม ในปี พ.ศ. 2535 ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยมีมรดกโลก รวม 7 แหล่ง โดยแบ่งออกเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม 4 แห่ง และมรดกโลกทางธรรมชาติ 3 แห่ง ได้แก่

มรดกโลกทางวัฒนธรรม 4 แห่ง คือ
• เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร (2534)
• นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา (2534)
• แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง (2535)
• เมืองโบราณศรีเทพ (2566)

มรดกโลกทางธรรมชาติ 3 แห่ง คือ
• เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง (2534)
• ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ (2548)
• กลุ่มป่าแก่งกระจานปี (2564)

สรุป/เรียบเรียง : ปริตา จรัลชวนะเพท
จิตรลดา จันทร์แหยม
กลุ่มความร่วมมือกับองค์การยูเนสโก
รายงานโดย : กลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
21 กันยายน 2566