Loading color scheme

สรุปผล การประชุมคณะกรรมการแห่งภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกว่าด้วยแผนงานความทรงจำแห่งโลกของยูเนสโก ครั้งที่ 8 ระหว่างวันที่ 27 พฤษภาคม 2 มิถุนายน 2561 เมืองควางจู (Gwangju) สาธารณรัฐเกาหลี

pic 8MOWCAP

1. ผู้เข้าร่วมการประชุม
     การประชุมคณะกรรมการแห่งภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกว่าด้วยแผนงานความทรงจำแห่งโลกของยูเนสโก ครั้งที่ 8 ประกอบด้วยคณะผู้แทนจากประเทศสมาชิกองค์การยูเนสโกในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ทั้งหมด 27 ประเทศ จำนวน 109 คน ร่วมด้วยผู้แทนจากสำนักงานยูเนสโกจาการ์ตา (Dr.Ming Kuok Lim) ผู้แทนสำนักงานใหญ่องค์การยูเนสโก (Dr.Fackson Banda) สมาชิกสำนักงานบริหาร (Bureau) ที่ปรึกษา และคณะอนุกรรมการด้านการขึ้นทะเบียน รวมทั้งหมด 125 คน
     คณะผู้แทนไทยประกอบด้วย นายประจักษ์ วัฒนานุสิทธิ์ กรรมการในคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยแผนงานความทรงจำแห่งโลก และนางกุสุมา นวพันธ์พิมล นักวิเทศสัมพันธ์ ชำนาญการพิเศษ สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป. ในฐานะสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษาฯ สหประชาชาติ


2. พิธีเปิดการประชุม
      การประชุมครั้งนี้กล่าวต้อนรับโดย Dr.Lee Jinsik ประธานศูนย์วัฒนธรรมเอเชีย ประจำเมืองควางจู และคำกล่าวจาก Ms.Misako Ito ที่ปรึกษาด้านการสื่อสารและข้อมูลข่าวสาร ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก สำนักงานยูเนสโกกรุงเทพฯ และMr.Li Minghua ประธานคณะกรรมการแห่งภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกว่าด้วยแผนงานความทรงจำแห่งโลกของยูเนสโก กล่าวเปิดการประชุม
     ในพิธีเปิดการประชุมได้กล่าวถึงความสำคัญของการจัดเก็บมรดกความทรงจำในรูปแบบต่าง ๆ ที่มีมาอย่างยาวนาน ความทรงจำที่มีหลากหลายรูปแบบได้สะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านสังคมและวัฒนธรรม การปกป้องมรดกดังกล่าวจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง แต่อย่างไรก็ตามยังพบว่าหลายประเทศ
ยังประสบปัญหาว่าความทรงจำที่ถูกบันทึกไว้ในหลากหลายรูปแบบได้ถูกทำลายโดยภัยจากธรรมชาติ และการจัดเก็บที่ไม่ถูกวิธี ขาดการดูแลและบริหารจัดการที่ถูกต้อง ดังนั้นองค์การยูเนสโกจึงได้ริเริ่มโครงการมรดกความทรงจำแห่งโลกขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ในการสงวนรักษามรดกความทรงจำดังกล่าวจากการถูกทำลาย โครงการนี้ได้เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 1992 การดำเนินงานผ่านมาแล้ว 25 ปี สามารถสร้างความตระหนักให้กับประเทศต่างๆ ในการดูแลรักษามรดกความทรงจำที่ตกอยู่ในสภาวะสูญหายและถูกทำลาย วัตถุประสงค์หลักของโครงการเป็นการมุ่งเน้นในด้านการปกป้องมรดกความทรงจำ การส่งเสริมการใช้ประโยชน์และการสร้างความตระหนักให้แก่สาธารณชนในเรื่องความสำคัญของมรดกเหล่านี้ และนำมาสู่การจัดทำข้อเสนอแนะ Recommendation Concerning the Preservation of, and Access to Documentary Heritage Including Digital Form ที่ได้รับการรับรองจากที่ประชุมสมัยสามัญขององค์การยูเนสโกเมื่อปี 2558 ซึ่งเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารที่ขอให้ประเทศสมาชิกดำเนินการหามาตรการที่เหมาะสมในการปกป้องและการเข้าถึงเอกสารมรดกความทรงจำ กำหนดกรอบการดำเนินงานและสนับสนุนความร่วมมือในระดับนานาชาติ นอกจากนี้ยังถือเป็นโอกาสอันดีของการครบรอบ 20 ปีของการจัดตั้งคณะกรรมการแห่งภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกว่าด้วยแผนงานความทรงจำแห่งโลกของยูเนสโกอีกด้วย


3. วาระการประชุม
     วาระการประชุมที่สำคัญ ประกอบด้วย การรับรองรายงานการประชุม การทบทวนผลการประชุมครั้งที่ผ่านมา การแนะนำตัวประเทศสมาชิกและการใช้สิทธิในการลงคะแนนเสียง การรายงานผลการดำเนินงานของประเทศสมาชิกในช่วง 2 ปี การพิจารณาขึ้นทะเบียนเอกสารมรดกความทรงจำประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก การหารือเพื่อวางแผนการดำเนินงานตามข้อมติของที่ประชุมสมัยสามัญของยูเนสโก ครั้งที่ 39 และการเลือกตั้งประธานคณะกรรมการแห่งภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกว่าด้วยแผนงานความทรงจำแห่งโลกของยูเนสโก (MOWCAP)
     3.1 การใช้สิทธิในการลงคะแนนเสียง
ประเทศสมาชิกมีสิทธิในการลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งคณะกรรมการและการขึ้นทะเบียนเอกสารประเทศละ 1 เสียง โดยจะถือคะแนนเสียงส่วนใหญ่เป็นมติเอกฉันท์ หากคะแนนเสียงในการขึ้นทะเบียนเอกสารมีคะแนนเสียงเท่ากัน จะถือว่าเอกสารชิ้นนั้นจะยังไม่ได้รับการพิจารณาขึ้นทะเบียน สำหรับการประชุมครั้งนี้มีประเทศที่ไม่มีสิทธิในการลงคะแนนเสียงทั้งสิ้น 11 ประเทศ จาก 27 ประเทศ ไม่มา 1 ประเทศ สำหรับประเทศที่ไม่มีสิทธิในการลงคะแนนเสียงเนื่องจากไม่มีการจัดส่งรายงานผลการดำเนินงาน และไม่มีคณะกรรมการระดับประเทศรองรับการดำเนินงาน ดังนั้นองค์การยูเนสโกจึงให้การสนับสนุนและให้ข้อเสนอแนะในการจัดตั้งคณะกรรมการแห่งชาติ ซึ่งขณะนี้ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
มีทั้งหมด 11 ประเทศ ได้แก่ อัฟกานีสถาน บังคลาเทศ ภูฐาน อินเดีย สปป.ลาว เมียนมา ปากีสถาน ซามัว หมู่เกาะโซโลมอน และตูวาลู
     3.2 การรายงานผลการดำเนินงานในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีประเทศต่างๆ ที่จัดส่งรายงานทั้งสิ้น 23 ประเทศ ไม่จัดส่งรายงาน 4 ประเทศ เนื่องจากยังไม่มีความก้าวหน้าในการดำเนินงาน แต่มีการรายงานผลการดำเนินงานครบทั้ง 27 ประเทศ โดยประเทศไทยได้จัดทำรายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยแผนงานความทรงจำแห่งโลกและได้นำเสนอในการประชุมดังนี้
     คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยแผนงานความทรงจำแห่งโลกของประเทศไทยแต่งตั้งขึ้น
ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2558 โดยการดำเนินงานในปี 2559-2560 ได้รับการสนับสนุนจากสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษาฯ สหประชาชาติ กระทรวงศึกษาธิการ และกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งการดำเนินงานในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาได้แก่
     - การจัดการประชุมทุกเดือนเพื่อวางแผนการดำเนินงาน การคัดเลือกเอกสารเพื่อการขึ้นทะเบียนทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ ระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ การดำเนินการด้านการอนุรักษ์เอกสาร การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับหน่วยงานด้านการอนุรักษ์ การจัดงานเฉลิมฉลองเอกสารสำคัญ เป็นต้น
     - การจัดสัมมนาระดับชาติเรื่องการขึ้นทะเบียนมรดกความทรงจำแห่งโลกครั้งที่ 12 และครั้งที่ 13
     - การเข้าร่วมการประชุมนานาชาติ International Symposium; Preservation and Access Southeast Asia’s Document Heritage in the Digital Age
     - ร่วมกับสำนักงานยูเนสโกกรุงเทพฯ ในการให้การสนับสนุนการจัดตั้งคณะกรรมการแห่งชาติในประเทศเมียนมา และสปป.ลาว
     - การขึ้นทะเบียนมรดกความทรงจำในระดับท้องถิ่นจำนวน  9 รายการ และระดับชาติจำนวน 7 รายการ
     สำหรับการดำเนินงานในปี 2016-2018 ที่จะดำเนินการต่อไป คือการประชุมคณะกรรมการฯ การคัดเลือกเอกสารเพื่อเสนอขึ้นทะเบียนในทุกระดับ และการดำเนินการด้าน digitization เพื่อการจัดทำฐานข้อมูลเอกสารเพื่อให้สะดวกต่อการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ การจัดการสัมมนาและการฝึกอบรมเพื่อเสริมสร้างศักยภาพในด้านการอนุรักษ์
ในด้านประเด็นท้าทายในการดำเนินงานคือการส่งเสริมและการอำนวยความสะดวก
ในการเข้าถึงเอกสารในรูปแบบดิจิทัล การจัดทำแค็ตตาล๊อกต่างๆ ให้เป็นปัจจุบัน รวมถึงการสนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยงานและสถาบันต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ให้ได้มาตรฐานสากล และการพัฒนาระบบการจัดเก็บและการเข้าถึงเอกสารเพื่อประโยชน์ในด้านการศึกษาและการวิจัย
     3.3 การพิจารณาเอกสารที่ประเทศต่าง ๆ เสนอขึ้นทะเบียนมรดกความทรงจำในระดับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ทั้งหมด 12 รายการ และได้รับการขึ้นทะเบียน 10 รายการ ดังนี้
1) Agreement with Local Governments (1893-1916) ของ ตูวาลู
2) Anandacandra Stone Inscription ของเมียนมา
3) The Archives of Nanyang Volunteer Drivers and Mechanics
ของสาธารณรัฐประชาชนจีน
4) Culion Leprosy Archives ของฟิลิปปินส์
5) Maninso: Ten Thousand People’s Petitions ของเกาหลี
6) The Emerald Jungee Copy (Film) ของเมียนมา
7) Name Boards and Verse Plaques on Royal Architecture of the Joseon Dynasty ของเกาหลี
8) The Envoyship Journeys to China ของเวียดนาม
9) The Four Treatises of Tibetan Medicine ของสาธารณรัฐประชาชนจีน
10) World War Two Records-British Solomon Islands Protectorate (BSIP)
ของหมู่เกาะโซโลมอน


สำหรับ 2 รายการมีการถอนออกยังไม่มีการพิจารณา ได้แก่
1) Chamu manuscripts ของสาธารณรัฐประชาชนจีน
2) Pacific Manuscripts Bureau ของออสเตรเลีย


     สำหรับการพิจารณาขึ้นทะเบียนเอกสารในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในครั้งนี้จะมีการเสนอเอกสารล่วงหน้าก่อนการประชุม 2 ปี โดยคณะอนุกรรมการด้านการคัดเลือกเอกสารจะพิจารณาเอกสารที่เสนอว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดหรือไม่ หากมีข้อสงสัยจะแจ้งให้ประเทศสมาชิกให้ข้อมูลเพิ่มเติม ก่อนนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการเพื่อพิจารณา โดยประเทศสมาชิกจะร่วมกันพิจารณาจากข้อเสนอของคณะอนุกรรมการ โดยการประชุมครั้งนี้มีเอกสารบางรายการที่เสนอโดยองค์กรอิสระ ภาคเอกชน ทำให้บางประเทศมีข้อสงสัย
ในเรื่องของการเข้าถึงเอกสารดังกล่าว นอกจากนี้ประเทศไทยยังให้ตั้งข้อสังเกตในการเสนอเอกสารในระดับนานาชาติและระดับภูมิภาคว่ามีความเชื่อมโยงอย่างไร การขึ้นทะเบียนในระดับนานาชาติแล้วสามารถนำมาขึ้นทะเบียนในระดับภูมิภาคเพิ่มเติมได้หรือไม่ เนื่องจากโครงการนี้ในกำหนดให้มีการขึ้นทะเบียนเอกสารในระดับนานาชาติมาก่อนที่จะเสนอให้มีการขึ้นทะเบียนในระดับภูมิภาค ซึ่งประเทศไทยมีเอกสารหลายรายการที่ขึ้นทะเบียนในระดับนานาชาติไว้แล้ว ดังนั้นหากจะนำมาพิจารณาขึ้นทะเบียนในระดับภูมิภาคเพิ่มเติมสามารถดำเนินการได้หรือไม่ ซึ่งในเรื่องนี้คณะกรรมการได้รับที่จะนำไปพิจารณาหารือก่อนเนื่องจากยังไม่เคยมีการหยิบยกประเด็นเหล่านี้ขึ้นมาหารือ
     3.4 การหารือเพื่อวางแผนการดำเนินงานตามข้อมติของที่ประชุมสมัยสามัญของยูเนสโก
ครั้งที่ 39 ในส่วนที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์และการเข้าถึงมรดกประเภทเอกสารในรูปแบบดิจิทัล โดยที่ประชุมเห็นควรให้มีการพิจารณาปรับเกณฑ์การเสนอขึ้นทะเบียนในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ตามเกณฑ์ที่องค์การยูเนสโกกำหนดในระดับนานาชาติซึ่งคาดว่าจะสามารถเสนอเอกสารได้ตามเกณฑ์ใหม่ภายในปี 2020 นอกจากนี้ที่ประชุมยังขอให้รัฐสมาชิกดำเนินการแปลและเผยแพร่เอกสาร Recommendation Concerning the Preservation of, and Access to, Documentary Heritage, including in Digital Form
     ในการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาระหว่างประเทศ (International Advisory Committee-IAC) เมื่อปี 2558 ได้เสนอให้มีการทบทวนการดำเนินโครงการดังกล่าวโดยได้เสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารขององค์การยูเนสโกครั้งที่ 204 พิจารณา โดยที่ประชุมได้ขอให้มีการหารือกันอย่างใกล้ชิดกับประเทศสมาชิก ฝ่ายเลขานุการ ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย และเจ้าหน้าที่ด้านจริยธรรม และคาดว่าเอกสารดังกล่าวจะมีการนำเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารครั้งที่ 205 ในช่วงปลายปี 2561 ได้แก่
1) Revised General Guidelines for the Memory of the World Programme
2) Revised Statutes of the International Advisory Committee
3) MoW Code of Ethics
     3.5 การเลือกตั้งประธานคณะกรรมการแห่งภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกว่าด้วยแผนงานความทรงจำแห่งโลกของยูเนสโก (MOWCAP) โดยรัฐสมาชิก ผลการเลือกตั้งมีมติให้ Mr. Kwibae Kim สาธารณรัฐเกาหลี ดำรงตำแหน่งประธาน โดยมีรองประธานทั้งหมด 3 คน จากประเทศญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ และเวียดนาม และมี Mr.Andrew Henderson ทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการ
     นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้รับทราบการจัดตั้งศูนย์แห่งใหม่ภายใต้การอุปถัมภ์ขององค์การยูเนสโกที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานด้านมรดกความทรงจำแห่งโลก ณ Cheongju สาธารณรัฐเกาหลี คือ International Centre for Documentary Heritage (ICDH) ซึ่งคาดว่าจะมีลงนามในข้อตกลงเพื่อการจัดตั้งศูนย์ดังกล่าวร่วมกับองค์การยูเนสโกภายในปี 2561 สำหรับการประชุมคณะกรรมการ MOWCAP จัดขึ้นทุก 2 ปี โดยจะหมุนเวียนไปตามประเทศสมาชิก ซึ่งการประชุมครั้งที่ 9 ในปี 2563 จะจัดขึ้น ณ ประเทศอินเดีย

 

 

****************************

 

 

สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ

สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ

19 มิถุนายน 2561