Loading color scheme

9 ข้อเสนอแนะในการปรับตัวสู่การจัดการศึกษายุคหลังโควิด-19

9 idea covid

 

"โควิด-19 สามารถเปลี่ยนโลกไปอย่างสิ้นเชิง แต่เราก็ไม่ควรเอาแต่นั่งมองอยู่เฉย ๆ ตอนนี้ได้เวลาแล้วที่เราจะใช้ ‘การประชาเสวนาหาทางออก (Public Deliberation)’ และ ‘จิตสำนึกรับผิดชอบทางประชาธิปไตย (Democratic Accountability)’ ในการแก้ปัญหา ถึงเวลาที่ต้องร่วมมือร่วมใจกันดำเนินการอย่างชาญฉลาดแล้ว” 

นาง Sahle-Work Zewde ประธานาธิบดีเอธิโอเปีย
ประธานคณะกรรมาธิการระหว่างประเทศว่าด้วยอนาคตของการศึกษา

โรคติดเชื้อโควิด-19 เผยให้เห็นความเปราะบางและเครือข่ายความเชื่อมโยงที่มีอยู่อย่างหนาแน่นในสังคมโลกในทุกวันนี้ นิวนอร์มัล (New Normal) กลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ในชีวิตประจำวัน มุมมองของคนส่วนใหญ่เป็นไปในทิศทางเดียวกันว่าโลกได้เปลี่ยนโฉมหน้าในทศวรรษที่กำลังมาถึงโดยสิ้นเชิง สถานการณ์การระบาดที่กินระยะเวลานานหลายเดือนได้เปลี่ยนรูปแบบการให้บริการและระบบสาธารณสุขไปแล้ว ข้อปฏิบัติในการตรวจและติดตามโรค การเว้นระยะห่างทางสังคมกลายเป็นมาตรฐานทั่วไปในชีวิตประจำวัน การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและมิติต่าง ๆ ต่อสังคมนั้นจะเกิดขึ้นยาวนานหลายเดือนและมีแนวโน้มว่าจะเป็นความเปลี่ยนแปลงถาวร ทั้งระยะห่างทางสังคม ข้อแนะนำด้านสาธารณสุข การเดินทาง ธุรกิจและกิจกรรมสาธารณะ

ในขณะที่ภาคการศึกษาเองก็ต้องตั้งคำถามต่อบทบาทของการเรียนรู้ในโลกใหม่ เตรียมตัวให้พร้อมสำหรับรูปแบบการเรียนที่เปลี่ยนไปและการพัฒนาทักษะใหม่ ๆ สำหรับยุคหลังโควิด-19 ด้วยเช่นกัน การตัดสินใจดำเนินการต่าง ๆ ในวันนี้จะส่งผลต่อการจัดการศึกษาในวันข้างหน้าในระยะยาว ดังนั้น ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจึงควรต้องตัดสินใจโดยมีวิสัยทัศน์ด้านการศึกษาและการพัฒนา และสิทธิมนุษยชนเป็นแนวทางด้วย

คณะกรรมาธิการระหว่างประเทศว่าด้วยอนาคตของการศึกษา (The International Commission on the Futures of Education) ตระหนักถึงความสำคัญในประเด็นดังกล่าว จึงได้ตีพิมพ์รายงานเรื่อง “การศึกษาในโลกยุคหลังโควิด-19: 9 ข้อแนะนำสำหรับการปฏิบัติที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ” ซึ่งนำเสนอข้อแนะนำที่สามารถกระตุ้นให้เกิดความตระหนักรู้ซึ่งที่จะนำไปสู่การพูดคุย หารือและการนำไปปฏิบัติเพื่อพัฒนาการจัดการศึกษาในอนาคตให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น โดยผู้เขียนได้สรุป 9 ข้อเสนอแนะในการปรับตัวสู่การจัดการศึกษายุคหลังโควิด-19 ของคณะกรรมาธิการระหว่างประเทศว่าด้วยอนาคตของการศึกษาจากรายงานฉบับดังกล่าว ดังนี้

  1. ควรมีการเสริมสร้างความเข้มแข็งและสนับสนุนการจัดศึกษาเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ เพราะการศึกษาจะสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นได้ การสาธารณสุขและการจัดการศึกษามีความเชื่อมโยงกันอยู่อย่างใกล้ชิดซึ่งจะเห็นได้ว่าต้องมีการทำงานที่สอดประสานกันจึงจะประสบความสำเร็จและก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะได้อย่างแท้จริง กล่าวคือ ถ้าชุมชนมีความปลอดภัยตัวเราก็มีความปลอดภัยด้วย ถ้าชุมชนมีความเจริญก้าวหน้าเราก็จะสามารถมีความเจริญก้าวหน้าด้วยเช่นกัน
  1. ควรมีการร่วมหารือในระดับนานาชาติเกี่ยวกับการขยายสิทธิในการเข้าถึงการศึกษาเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์และบริบทโลกในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งการหารือนี้ควรต้องมีการพูดถึงเรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิต การเชื่อมต่อ และการเข้าถึงองค์ความรู้และข้อมูลด้วย
  1. ผู้กำหนดนโยบายด้านการศึกษาควรให้ความสำคัญและเห็นคุณค่าในวิชาชีพครูและการทำงานร่วมกันของครู จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้มีนวัตกรรมด้านการศึกษาที่ตอบสนองต่อสถานการณ์ดังกล่าวมากมาย ซึ่งเห็นได้ว่านวัตกรรมด้านการศึกษาที่ตอบสนองต่อสถานการณ์โควิด-19 ได้ดีนั้นจะต้องมีความร่วมมือของครอบครัวและชุมชนเป็นองค์ประกอบหลักเสมอ ดังนั้น เราควรสร้างสภาพการทำงานที่เอื้อต่อการดำเนินการที่เป็นอิสระและสามารถส่งเสริมการทำงานร่วมกันของครูได้
  1. ผู้เกี่ยวข้องในแวดวงการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล ครู รวมถึงผู้ปกครองควรให้ความสำคัญและสนับสนุนสิทธิและการมีส่วนร่วมของนักเรียน เยาวชนและเด็กในการแสดงความคิดเห็นเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในรูปแบบที่ทุกคนคาดหวังจะให้เกิดขึ้น
  1. ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการจัดการศึกษาควรร่วมมือกันปกป้องพื้นที่สำหรับจัดการศึกษาภายในสถานศึกษาในแง่ของการเป็นพื้นที่และเวลาที่มีวัตถุประสงค์สำหรับการเรียนการสอนโดยเฉพาะซึ่งต่างจากที่บ้านหรือพื้นที่อื่น ๆ ที่จัดไว้สำหรับการเรียนการสอน จริงอยู่ที่ว่าการเรียนการสอนในห้องเรียนแบบเดิมนั้นอาจต้องมีการปรับตัวโดยมีการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ ๆ เข้ามาเติมเต็ม ถึงกระนั้นก็ยังไม่สามารถทดแทนพื้นที่การศึกษาในโรงเรียนได้ทั้งหมด
  1. รัฐบาลและองค์การที่ไม่แสวงหาผลกำไรต่าง ๆ ควรพัฒนาและแจกจ่ายสื่อการเรียนการสอนที่ใช้เทคโนโลยีหรือแอปพลิเคชันเพื่อการเรียนรู้ที่เปิดให้ครูและนักเรียนเข้าใช้ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ต้องยอมรับว่าในปัจจุบันสื่อการเรียนการสอนในลักษณะดังกล่าวส่วนมากมีการจัดทำโดยภาคเอกชนเป็นหลัก เนื้อหาสาระการเรียนรู้นั้นควรมีการจัดทำโดยคำนึงถึงผู้ที่จะนำไปใช้งานจริงอย่างเช่นครูและนักเรียน ไม่ควรพึ่งพาเทคโนโลยีหรือแอปพลิเคชันจากบริษัทเอกชนมากเกินไป
  1. ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการจัดการศึกษาควรให้ความสำคัญในการจัดหลักสูตรการเรียนการสอนโดยเน้นให้ผู้เรียนมีความฉลาดรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างข้อเท็จจริงและองค์ความรู้ต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยให้สามารถสร้างความเข้าใจในจุดยืนของตนเองในโลกที่มีความซับซ้อนได้ การจัดหลักสูตรการเรียนการสอนควรมีการเพิ่มหัวข้อหรือปัญหาที่จะช่วยให้ผู้เรียนเรียนรู้ที่จะอาศัยอยู่ร่วมกันกับชุมชนอื่น ๆ ในโลกอย่างสันติ
  1. รัฐบาล องค์การระหว่างประเทศ ภาคประชาสังคมและประชาชนทั่วไปควรร่วมกันปกป้องการจัดการศึกษาและการจัดสรรเงินเพื่อการศึกษา ผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจในการนำเงินงบประมาณดังกล่าวไปใช้ในการจัดการศึกษาควรมีความรับผิดชอบในการตัดสินใจของตน การระบาดของโควิด-19 ทำให้ความก้าวหน้าในการดำเนินการด้านต่าง ๆ ต้องหยุดชะงักไป ทั้งรัฐบาลและประชาชนควรตระหนักถึงความรับผิดชอบในการจัดการด้านสาธารณสุขและการบริการทางสังคมให้มากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ควรปกป้องการจัดและการจัดสรรเงินเพื่อการศึกษาด้วย
  1. รัฐบาลในประเทศต่าง ๆ ควรร่วมมือกันเพื่อเพิ่มความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมในระดับนานาชาติ การระบาดของโควิด-19 ทำให้เห็นอย่างชัดเจนว่าสังคมในระดับโลกของเรานั้นมีการใช้อำนาจที่ขาดความสมดุลและระบบต่าง ๆ ก็ไม่มีความเท่าเทียม ดังนั้น รัฐบาลในประเทศต่าง ๆ ควรร่วมมือกันให้มากขึ้นในการดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายร่วมกันที่มีประโยชน์ของมนุษยชาติเป็นหลักสำคัญ

          ทั้งนี้ ข้อเสนอแนะเหล่านี้อาจก่อให้เกิดการโต้เถียง หรือกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมและการดำเนินการจากในส่วนของรัฐบาล องค์การระหว่างประเทศ ภาคประชาสังคม ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา รวมถึงผู้เรียนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุก ๆ ระดับ การศึกษาจะคงอยู่ได้และมีประสิทธิภาพก็ขึ้นอยู่กับการปรับตัว ทักษะ รวมถึงการคิดค้นพัฒนาการเรียนรู้สิ่งใหม่ โควิด-19 เป็นทั้งความท้าทายและความรับผิดชอบอย่างยิ่งยวดซึ่งอาจจะไม่โหดร้ายต่อการศึกษาเสมอไป แต่เป็นการเตือนให้เราเกิดการตั้งรับ ตื่นตัว สร้างสรรค์นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่มีความยืดหยุ่นกับธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมหรือโรคระบาดที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อให้เกิดความสมดุลในอนาคต และไม่ว่าการศึกษาในอนาคตจะเป็นรูปแบบใด สิ่งที่เราทุกคนและทุกประเทศหนีไม่พ้นเลยก็คือ “การเปลี่ยนแปลง” เราทุกคนต้องไม่หยุดที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ กล้าที่จะเริ่มต้นและยอมรับในการเปลี่ยนแปลง

                    ท่านที่สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถอ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่ Education in a post-COVID world: Nine ideas for public action

เอกสารอ้างอิง

United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization. (2020). Education in a post-COVID world: Nine ideas for public action. https://unesdoc.unesco.org/ark:/48223/pf0000373717/PDF/373717eng.pdf.multi.

เรียบเรียงโดย ฐิติ ฟอกสันเทียะ
รายงานโดย กลุ่มสารสนเทศต่างประเทศ
ติดตามอ่านข้อมูลต่างๆ ที่น่าสนใจได้ที่ "วารสารความร่วมมือกับต่างประเทศฯ"

25 มีนาคม 2563