ความก้าวหน้าด้านการศึกษาของเด็กหญิงในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา กำลังถูกคุกคามจากการระบาดของโควิด-19
รายงานการติดตามผลการศึกษาทั่วโลก (Global Education Monitoring : GEM) องค์การยูเนสโก เรื่อง ความก้าวหน้าด้านการศึกษาของเด็กผู้หญิงในช่วง 25 ปีที่ผ่านมากำลังถูกคุกคามจากการระบาดของ เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19)
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 มีเด็กผู้หญิงกว่า 180 ล้านคนได้เข้าเรียนทั้งในระดับชั้นประถมและมัธยมศึกษา แต่ถึงแม้ว่าเด็กผู้หญิงจะได้เข้าเรียนในระดับการศึกษาที่สูงขึ้นในทุกระดับการศึกษาแต่ก็ยังถูกละเลยมากกว่าเด็กผู้ชาย โดยยิ่งรุนแรงขึ้นจากสถานการณ์โรคระบาดในปัจจุบัน จึงเป็นหน้าที่หลักของภาครัฐที่จะต้องจัดการกับการเลือกปฏิบัตินี้เพื่อสร้างความเท่าเทียมกันสำหรับเด็กผู้หญิงรุ่นต่อไป
“เราทุกคนรู้ว่าการศึกษาเป็นรากฐานที่ทำให้เกิดความเท่าเทียมกัน และการศึกษาของเด็กผู้หญิงและสตรีเป็นก้าวแรกที่จะนำไปสู่การสร้างความเท่าเทียมทางเพศให้เกิดขึ้นในโลก แม้ว่าเรายินดีที่จะรายงานถึงความก้าวหน้าของความสำเร็จในการจัดการศึกษาให้แก่เด็กผู้หญิงและสตรี ที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องโดยประชาคมระหว่างประเทศ แต่ข้อมูลจากรายงานได้แสดงให้เห็นว่าพวกเรายังประสบความล้มเหลวในกลุ่มผู้ด้อยโอกาสที่สุด โดยพบว่า 3 ใน 4 ของเด็กวัยประถมศึกษาที่ยังไม่เคยได้ก้าวเท้าสู่โรงเรียนส่วนใหญ่เป็นเด็กผู้หญิง และยิ่งเมื่อเกิดการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ยิ่งทำให้ความไม่เท่าเทียมกันทางเพศทวีความรุนแรงมากขึ้น เราจึงจำเป็นต้องมีความมุ่งมั่นเพื่อสานต่อในเรื่องการจัดการศึกษาให้แก่เด็กผู้หญิงและสตรี ความก้าวหน้าในการดำเนินงานจะสะท้อนให้เห็นในอีกหลายชั่วอายุคน ไม่เช่นนั้นความก้าวหน้าก็จะกลับกลายเป็นทางตรงกันข้าม”
นางออเดรย์ อาซูเล่ย์ (Audrey Azoulay) ผู้อำนวยการองค์การยูเนสโก
รายงานการติดตามผลการศึกษาทั่วโลกของยูเนสโก เรื่อง ความก้าวหน้าด้านการศึกษาของเด็กหญิงในช่วง 25 ปีที่ผ่านมากำลังถูกคุกคามจากการระบาดของโควิด-19 ที่เปิดเผยเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม อันเป็นวันเด็กผู้หญิงนานาชาติ มีข้อค้นพบที่สำคัญดังนี้
การถูกกีดกันทางการศึกษาในอดีตทำให้ผู้หญิงมีอัตรา 2 ใน 3 ของผู้ใหญ่ที่ไม่ได้รับการศึกษาและในจำนวนนั้น ยังประสบปัญหาความยากจนและพิการ ซึ่งในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา เด็กผู้หญิงสามารถเข้าถึงการศึกษาได้มากขึ้นอย่างชัดเจน ในสัดส่วนการเข้าเรียนที่ลดช่องว่างลงถึงร้อยละ 4 ยิ่งไปกว่านั้น เด็กผู้หญิงยังมีสัมฤทธิ์ในด้านการอ่านและคณิตศาสตร์นำหน้าเด็กชาย อย่างไรก็ดียังมีกลุ่มเด็กผู้หญิงยากจนและพิการที่ยังถูกละทิ้งเป็นจำนวนมากในกลุ่มประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก
การศึกษาเป็นพลังสำคัญในเรื่องสิทธิสตรี การให้ความสำคัญต่อการศึกษาสำหรับเด็กผู้หญิงสามารถลบล้างข้อเสียเปรียบต่าง ๆ และทำให้เด็กได้รับการศึกษาที่สูงกว่าพ่อแม่ แต่อย่างไรก็ตามระดับการศึกษาของพ่อแม่ก็มีส่วนสำคัญต่อการตัดสินใจในเรื่องระดับการศึกษาของลูก ซึ่งมีส่วนสำคัญมากต่อการป้องกันความไม่เท่าเทียมกันที่ยังมีอยู่ ความพยายามในการดำเนินการจากหน่วยงานที่เกี่ยวกับข้องกับการศึกษาแต่เพียงอย่างเดียวจะไม่สำเร็จหากไม่ได้รับความร่วมมือจากภาคประชาสังคม บรรทัดฐานด้านลบในเรื่องเพศมีส่วนสำคัญที่จะชี้นำอคติทางเพศในการได้รับการศึกษา และยังมีผลต่อทัศนคติของครู การเลือกอาชีพ และวิชาที่เรียน รวมถึงโอกาสในอนาคตของผู้หญิง
ทุกประเทศควรต้องให้ความสำคัญในการทำโรงเรียนให้เป็นที่ของนักเรียนทุกคน ไม่ว่าจะมีพื้นฐาน ความสามารถ หรือสถานะอย่างไร ต้องทำให้โรงเรียนมีสิ่งอำนวยความสะดวกด้านสุขาภิบาลที่ดีขึ้น ให้ความสำคัญในเรื่องความรุนแรงทางเพศที่เกิดในโรงเรียนและในโลกออนไลน์ นอกจากนี้ควรมีนโยบายที่พร้อมให้เด็กที่ท้องก่อนวัยอันควรได้กลับมาเรียน โดยเฉพาะช่วงเวลาที่เกิดโรคโควิด-19 ยิ่งต้องมีการสื่อสารข้อมูลเรื่องการอยู่ร่วมกันให้มากขึ้น เพื่อขจัดความไม่เท่าเทียมกันที่เพิ่มขึ้น
รายงานดังกล่าวมีข้อเรียกร้องเพื่อนำไปสู่การดำเนินการ ดังนี้
- ขจัดความเหลื่อล้ำทางเพศในการเข้าถึง การมีส่วนร่วม และประสบความสำเร็จในการศึกษา มีผู้หญิงน้อยกว่า 9 คนต่อผู้ชายทุก ๆ 10 คน ในร้อยละ 4 ของประเทศได้เข้าเรียนในระดับประถมศึกษา ร้อยละ 9 ได้เรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และ ร้อยละ 15 ได้เรียนนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และร้อยละ 21 ได้เรียนในระดับที่สูงขึ้น
- สนับสนุนเด็กผู้หญิงที่ตั้งครรภ์และผู้ปกครองวัยเยาว์ได้ไปโรงเรียน ถึงแม้จำนวนผู้หญิงตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรทั่วโลกจะลดลง แต่ก็ยังมีอยู่มากในพื้นที่ทะเลทรายซาฮาราของแอฟริกาใต้ ในประเทศแชด มาลี และไนเจอร์ มีอัตราสูงขึ้นกว่าในปีค.ศ.1995 นอกจากนี้ยังมีการห้ามเด็กผู้หญิงตั้งครรภ์ไปโรงเรียนในสาธารณรัฐอิเควทอเรียลกินีและสาธารณรัฐแทนซาเนีย
- ครู สถานศึกษา และครูแนะแนวอาชีพต้องได้รับการฝึกอบรม เพื่อป้องกันไม่ให้มุมมองอคติทางเพศอย่างเหมารวมแทรกซึมไปในการสอนและการเลือกวิชาเรียน จำนวนผู้หญิงที่ศึกษาด้านวิศวกรรมหรือไอซีทีมีน้อยกว่าร้อยละ 25 จากสัดส่วน 2 ใน 3 ของประเทศทั่วโลก สัดส่วนของผู้หญิงที่เรียนด้านเทคนิคหรืออาชีวศึกษา (TVET) ลดลงจากร้อยละ 45 ในปีค.ศ.1995 เหลือร้อยละ 42 ในปี ค.ศ.2015 มีผู้หญิงน้อยคนที่จะแสวงหาอาชีพด้านไอซีที
- หลักสูตรและหนังสือเรียนต้องนำเสนอสถานะผู้หญิงในแบบที่ไม่ทำให้เกิดภาพเหมารวมในเรื่องเพศ ในการทบทวนแบบเรียนในหลายๆ ประเทศพบว่า เนื้อหาและภาพประกอบไม่นำเสนอภาพของผู้หญิงในด้านการมีส่วนร่วมทางสังคมและสถานภาพทางเศรษฐกิจ แต่กลับเป็นภาพที่แสดงถึงบทบาทเดิมๆ ในการอยู่บ้าน
- นักเรียนทุกคนจะต้องเข้าถึงการศึกษาเรื่องเพศวิถีอย่างครอบคลุม ซึ่งจะช่วยป้องกันความรุนแรงทางเพศที่เกี่ยวข้องกับโรงเรียน โดยการสนับสนุนให้เกิดความรู้ความเข้าใจและความเคารพในอัตลักษณ์ทางเพศของนักเรียน และยังนำไปสู้การลดอัตราการท้องก่อนวัยอันควร
- ส่งเสริมสตรีให้อยู่ในตำแหน่งผู้นำมากขึ้น เพื่อช่วยเปลี่ยนแปลงสังคมและบรรทัดฐานทางเพศ และเป็นตัวอย่างแก่นักเรียนผู้หญิง จากรายงานพบว่าทัศนคติทางลบต่อสตรีว่าไม่เหมาะกับการเป็นผู้นำ มีเบื้องหลังจากการที่มีครูผู้หญิงในระดับอุดมศึกษาจำนวนน้อย ในภาพรวมทั่วโลกมีสตรีร้อยละ 94 ที่เป็นครูในระดับก่อนประถมศึกษา แต่มีเพียงร้อยละ 43 ในระดับอุดมศึกษา และยิ่งมีสตรีจำนวนน้อยลงไปอีกที่อยู่ในตำแหน่งผู้นำในมหาวิทยาลัยและในตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับการบริหารการศึกษา
Manos Antoninus ผู้อำนวยการโครงการการจัดทำรายงานการติดตามผลการศึกษาทั่วโลก ของยูเนสโกกล่าวว่า “เป็นเวลา 25 ปีแล้วตั้งแต่มีการลงนามรับรองปฏิญญาปักกิ่งและแผนปฏิบัติการ (Beijing Declaration and Platform for Action) แต่เด็กผู้หญิงก็คงถูกกีดกันไม่ให้ไปโรงเรียนและไม่ให้รู้ถึงศักยภาพของตัวเอง การศึกษาเป็นจุดเริ่มต้นให้สามารถบรรลุข้อปฏิบัติร่วมกัน 6 ประการที่กำหนดขึ้นไว้ภายในปีค.ศ.2021ว่าจะมีการทบทวนปฏิญญาปักกิ่งอีกครั้ง ดังนั้นช่วงเวลาของรายงานฉบับนี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง”
Hon Dr David Moinina Sengeh รัฐมนตรีกระทรวงการศึกษาขั้นพื้นฐานและมัธยมศึกษา สาธารณรัฐ เซียร์ราลีโอนและในฐานะประธานคณะที่ปรึกษาการจัดทำรายงานการติดตามผลการศึกษาทั่วโลกฉบับนี้ ได้เสริมว่า “ตั้งแต่มีปฏิญญาปักกิ่งเมื่อปีค.ศ.1995 ถึงแม้ความก้าวหน้าในด้านความเท่าเทียมทางเพศในการศึกษาจะมีความเข้มแข็งขึ้นแต่ก็ไม่สม่ำเสมอ ภาครัฐจะต้องมีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการอย่างเต็มที่และภาคสังคมจะต้องให้ความสนใจในเรื่องการกีดกันทางการศึกษาต่อเด็กผู้หญิงและสตรี จากรายงานการติดตามผลการศึกษาทั่วโลกปีค.ศ. 2020 ในประเด็นที่เกี่ยวกับเรื่องเพศได้แสดงให้เห็นว่าการเติมเต็มสิทธิสตรีมีความเชื่อมโยงกับโอกาสทางการศึกษา ดังนั้นข้อเสนอแนะต่าง ๆ จึงควรนำไปสู่การปฏิบัติในทุกภาคส่วนเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันสำหรับคนรุ่นต่อ ๆ ไป”
จากรายงานการติดตามผลการศึกษาทั่วโลกในประเด็นนี้ได้นำไปสู่การจัดทำแคมเปญภายใต้ชื่อ “#Iamthe1stGirl” โดยมุ่งหวังแสดงให้โลกได้เห็นว่าเกิดผลอะไรขึ้น เมื่อรัฐบาลต่าง ๆ ลงทุนกับการศึกษาของเด็กผู้หญิง และหวังแบ่งปันสิ่งดี ๆ ที่เกิดขึ้นแก่สังคม ที่เป็นผลมาจากสตรีหลายล้านคนซึ่งเป็นกลุ่มแรกในครอบครัวที่เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาหรือมหาวิทยาลัย
ข้อมูลจากองค์การยูเนสโก https://en.unesco.org/news/unesco-report-illustrates-leap-forward-girls-education-over-past-25-years-now-threatened-1 และสามารถศึกษารายงานฉบับเต็มที่ https://en.unesco.org/gem-report/2020genderreport
เรียบเรียงโดย พิมพ์รัชฎา พัฒนสุทธิกุล
รายงานโดย กลุ่มสารสนเทศต่างประเทศ
ติดตามอ่านข้อมูลต่างๆ ที่น่าสนใจได้ที่ "วารสารความร่วมมือกับต่างประเทศฯ"
15 มีนาคม 2563