การจัดการศึกษาอย่างครอบคลุมสำหรับทุกคน (Inclusion and Education: All Means All)
การทำให้การศึกษาเป็นสิทธิสากลและเป็นจริงได้สำหรับทุกคนเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะเมื่อโลกมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และต้องเผชิญกับความท้าทายตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความขัดแย้ง การเคลื่อนย้ายถิ่นฐานโดยไม่สมัครใจ การขาดความอดทนอดกลั้น และความเกลียดชัง สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันที่เพิ่มมากขึ้น และสร้างผลกระทบต่ออนาคตของทุกคน การระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ยิ่งเป็นตัวเร่งที่ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม ระบบสาธารณสุข และการศึกษา
องค์การยูเนสโก ได้จัดทำ “รายงานการติดตามผลการศึกษาระดับโลก (Global Education Monitoring Report)[1]” ปี 2563 ในหัวข้อ “ความครอบคลุมและการศึกษา: ทั้งหมดหมายถึงทุกคน (Inclusion and Education: All means all)” โดยมีสาระสำคัญในการเรียกร้องประเทศต่าง ๆ ให้ความสำคัญกับผู้ที่ตกหล่นจากการศึกษาและสร้างความเข้าใจและความเคารพในแนวคิดเรื่อง “การศึกษาที่ครอบคลุม” ที่มุ่งเน้นการพัฒนาปัจเจกบุคคลตามความถนัดและความจำเป็นบนแนวทางที่หลากหลาย โดยรายงานฉบับนี้นับเป็นรายงานฉบับที่ 4 นับจากที่ได้เริ่มจัดทำรายงานการติดตามผลการศึกษาระดับโลกเมื่อปี 2560 และกระทรวงศึกษาธิการ ได้ร่วมกับสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ จัดการเปิดตัวระดับชาติของรายงานการติดตามผลการศึกษาทั่วโลกขึ้น ในหัวข้อ “ความครอบคลุมและการศึกษา: ทั้งหมดหมายถึงทุกคน” เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2563 ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ
รายงานการฉบับนี้มองกลไกด้านสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ซึ่งเลือกปฏิบัติต่อเด็ก และเยาวชนซึ่งเปราะบาง ทำให้เข้าไม่ถึงหรือด้อยโอกาสทางการศึกษา และเรียกร้องประเทศต่าง ๆ ให้ความสำคัญกับทุกคน โดยเฉพาะผู้ที่ผู้ถูกกีดกันออกจากการศึกษาอันเนื่องมาจากเรื่องเพศ การย้ายถิ่น การอพยพ ชาติพันธุ์ ภาษา ความยากจน ความพิการ หรือคุณลักษณะอื่น ๆ ตลอดจนสร้างความเข้าใจและความเคารพในแนวคิดเรื่อง “การศึกษาที่ครอบคลุม” ในฐานะกระบวนการสร้างให้เกิดสังคมที่สอดประสานความร่วมมือของทุกภาคส่วนเพื่อให้เกิดการศึกษาที่มุ่งพัฒนาปัจเจกบุคคลตามความถนัดและความจำเป็นบนแนวทางที่หลากหลาย โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และกำหนดให้ความหลากหลายเป็นส่วนสำคัญของระบบ แต่การนำกฎหมายและนโยบายซึ่งมีเจตจำนงที่ดีไปปฏิบัติจริงมักจะไม่ราบรื่น รายงานฉบับนี้ซึ่งตีพิมพ์ ณ ช่วงเริ่มต้นของทศวรรษเพื่อการปฏิบัติการปี 2030 ให้เหตุผลว่าการไม่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้เรียนทุกคน เป็นอุปสรรคต่อการบรรลุเป้าหมายด้านการศึกษาระดับโลกอย่างยิ่ง
ความครอบคลุมและการศึกษา: ทั้งหมดหมายถึงทุกคน ระบุวิธีการปฏิบัติในการกำกับดูแลและการเงิน หลักสูตร หนังสือแบบเรียน และการประเมิน การศึกษาของครู ระบบโครงสร้างของโรงเรียน และความสัมพันธ์กับนักเรียน ผู้ปกครอง และชุมชน ซึ่งสามารถสร้างความครอบคลุม และให้ข้อเสนอแนะด้านนโยบายซึ่งทำให้ความหลากหลายของผู้เรียนเป็นจุดแข็งซึ่งน่ายินดี และเป็นพลังสำหรับความสมานฉันท์ในสังคม
การศึกษาแบบครอบคลุม หมายถึงการรับรองว่าผู้เรียนทุกคนจะรู้สึกมีคุณค่า และได้รับการเคารพและมีความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งอย่างชัดเจน แต่การจะไปถึงจุดนั้นยังมีอุปสรรคอยู่มาก การเลือกปฏิบัติ การเหมารวม และการทำให้แปลกแยกทำให้เกิดการกีดกันต่อบุคคล
นางออเดรย์ อาซูเลย์ ผู้อำนวยการใหญ่องค์การยูเนสโก (Audrey Azoulay, Director-General of UNESCO) กล่าวถึงรายงานที่แสดงให้เห็นการกีดกันในรูปแบบต่างๆ สาเหตุ และหนทางแก้ไขที่สามารถทำได้ จึงเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ดำเนินการในสิ่งที่ควรทำเพื่อสร้างหนทางไปสู่สังคมที่มีความยืดหยุ่นและเท่าเทียมในอนาคตผ่านการเรียกร้องให้มีการเก็บข้อมูลที่ดีขึ้น เพื่อให้เข้าใจและรู้ถึงขอบเขตที่แท้จริงของปัญหา การสร้างนโยบายสาธารณะที่คลอบคลุมมากขึ้น โดยอ้างอิงจากนโยบายที่ได้ผลในปัจจุบัน และร่วมกันทำงานเพื่อแก้ไขความด้อยโอกาสต่างๆ |
นางเฮเลน คลาร์ก ประธานคณะที่ปรึกษาการจัดทำรายงานการติดตามผลการศึกษาทั่วโลก (Right Honourable Helen Clark, Chair of the GEM Report ) กล่าวว่าการศึกษามีส่วนสำคัญในการสร้างสังคมซึ่งทุกคนมีส่วนร่วม และเป็นประชาธิปไตย ที่ทุกคนสามารถแสดงความเห็นที่แตกต่างได้อย่างอิสระ และมีการรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลายเพื่อสร้างความสมานฉันท์ทางสังคมและการยินดีในความหลากหลาย รายงานการติดตามผลการศึกษาทั่วโลกในปี 2563 ย้ำเตือนว่าระบบการศึกษาจะรวมทุกคนเป็นส่วนหนึ่งได้ก็ต่อเมื่อผู้สร้างระบบทำให้เป็นเช่นนั้น ความด้อยโอกาสอาจเกิดขึ้นจากระบบและบริบทเหล่านั้น และคงอยู่หากความต้องการของบุคคลไม่ได้รับการตอบสนอง ความครอบคลุมไม่ได้เป็นเพียงทางเลือกสำหรับผู้กำหนดนโยบาย การบังคับจากผู้มีอำนาจระดับบนจะไม่มีทางประสบผลสำเร็จ |
นายชิเกรุ อาโอยางิ ผู้อำนวยการสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ ? (Mr.Shigeru Aoyai, UNESCO BANGKOK) เน้นย้ำให้ทั่วโลกตระหนักถึงการจัดการศึกษาอย่างครอบคลุม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างโอกาสในการศึกษาร่วมกันอย่างเท่าเทียม โดยในรายงานดังกล่าวได้เสนอแนะแนวทางที่ประเทศต่าง ๆ สามารถดำเนินการทั้งในระดับนโยบายและระดับกิจกรรม อาทิ การจัดสรรงบประมาณที่สามารถพัฒนาการศึกษาได้จริง การสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ การสร้างพันธมิตรระหว่างรัฐ-เอกชน-ประชาสังคม และการจัดการข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้มั่นใจได้ว่าการศึกษาสามารถเกิดได้อย่างครอบคลุมและมีคุณภาพ |
นายณัฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงความสำคัญของการพัฒนาการศึกษาให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมในเรื่อง “ความครอบคลุมทางการศึกษา” ที่กระทรวงศึกษาธิการได้ผลักดันและดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องการจัดสรรงบประมาณที่เน้นเรื่องประสิทธิภาพในการจัดการศึกษาที่ครอบคลุม เช่น การสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับการเรียนของผู้เรียนพิการ การใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาสำหรับทุกคน ตลอดจน การจัดการเรียนการสอนที่ให้ความสำคัญกับการอาชีวศึกษา การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เป็นต้น โดยเห็นว่าทุกหน่วยงานควรใช้ประโยชน์จากรายงานขององค์การยูเนสโกเพื่อพัฒนาการศึกษาไทยให้มีมาตรฐาน และสามารถจัดการศึกษาอย่างครอบคลุมได้ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง |
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติองค์การยูเนสโก ได้แสดงให้เห็นว่ามีเด็กและเยาวชนจำนวนหนึ่งในสี่พันล้านคนไม่ได้เข้าเรียนในโรงเรียน นอกจากนี้ผลลัพธ์ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญยังแสดงถึงความไม่เท่าเทียมกันในประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง ใน 30 ประเทศที่พบว่าร้อยละ 41 ของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีจากครัวเรือนที่ยากจนที่สุด และร้อยละ 20 มีภาวะทุพโภชนาการ ซึ่งมีจำนวนมากกว่าในครัวเรือนที่ร่ำรวยที่สุดถึง 2 เท่า ทำให้เด็กเหล่านี้ต้องสูญเสียโอกาสที่จะได้รับประโยชน์จากการศึกษา
นอกจากนี้ยังมีการประมาณการว่าเด็กและเยาวชนจำนวน 258 ล้านคนหรือคิดเป็นร้อยละ 17 ของจำนวนทั้งหมดไม่ได้เข้าเรียนในโรงเรียน ความยากจนมีผลกระทบต่อการเข้าเรียน การจบการศึกษา และโอกาสในการเรียนรู้ในทุกภูมิภาค ยกเว้นในยุโรป และอเมริกาเหนือ ความด้อยโอกาสมักจะมาควบคู่กับการถูกกีดกันทางการศึกษา เนื่องจากมาจากภาษา สถานที่อยู่ เพศสภาพ และชาติพันธุ์
รายงานฉบับนี้ ได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับทางออกด้านนโยบายที่สำคัญ อุปสรรคในการดำเนินงาน กลไกการประสานงาน ช่องทางการหาเงินทุน และการติดตามการศึกษาแบบครอบคลุม ซึ่งความครอบคลุมเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อน จึงได้มีการกล่าวถึงความท้าทายที่ต้องเผชิญทั้งหมด 7 ประการ ได้แก่ 1) กฎหมายและนโยบาย 2) ข้อมูล 3) การกำกับดูและการเงิน 4) หลักสูตร หนังสือแบบเรียน และการประเมิน 5) ครูและบุคลากรสนับสนุนด้านการศึกษา 6) โรงเรียน และ 7) นักเรียน ผู้ปกครอง และชุมชน ความท้าทายเหล่านี้ทำให้แต่ละประเทศมีการจัดการศึกษาแบบครอบคลุมที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อการถูกกีดกันทางการศึกษา และอุปสรรคที่ผู้เรียนต้องเผชิญ
โลกมีพันธกิจเพื่อการศึกษาที่ครอบคลุม ซึ่งเป็นพื้นฐานของระบบการศึกษาที่มีคุณภาพ ทำให้เด็ก เยาวชน และผู้ใหญ่ได้เรียนรู้และบรรลุศักยภาพของตน ปัจจัยต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น เพศสภาพ อายุ สถานที่ ความยากจน ความพิการ ชาติพันธุ์ การเป็นชนพื้นเมือง ภาษา ศาสนา สถานการณ์โยกย้ายถิ่นหรือพลัดถิ่น เพศวิถีหรือการแสดงออกถึงอัตลักษณ์ทางเพศ การกักขัง ความเชื่อ และทัศนคติ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ไม่ควรเป็นสาเหตุในการเลือกปฏิบัติในการมีส่วนร่วมและการได้รับการศึกษา สิ่งสำคัญที่สุดคือ การมองว่าความหลากหลายของผู้เรียนไม่ใช่ปัญหา หากแต่เป็นโอกาสในการเรียนรู้ และระบบการศึกษาต้องตอบสนองต่อความต้องการของผู้เรียนทุกคน
[1] เป็นกลไกติดตามและรายงานผลของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อที่ 4 รวมทั้งการศึกษาในเป้าหมายอื่น ๆ ตามข้อกำหนดในปฏิญญาอินชอนและกรอบปฏิบัติการด้านการศึกษาปี 2030 (Education 2030 Incheon Declaration and Framework for Action) โดยรายงานฉบับดังกล่าวเป็นรายงานประจำปีที่มีการจัดทำอย่างเป็นอิสระ และได้รับเงินทุนสนับสนุนจากกลุ่มรัฐบาล หน่วยงานพหุภาคี และมูลนิธิเอกชน โดยมีองค์การยูเนสโกเป็นผู้สนับสนุนและอำนวยความสะดวก
เรียบเรียงโดย กชกร คัตตพันธ์ อาสิฬ์เฎร์
กลุ่มความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศ
รายงานโดย กลุ่มสารสนเทศต่างประเทศ
ติดตามอ่านข้อมูลต่างๆ ที่น่าสนใจได้ที่ "วารสารความร่วมมือกับต่างประเทศฯ"
3 มีนาคม 2563