Loading color scheme

การสร้างให้ดีกว่าเดิม : การศึกษาจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงหลังโควิด-19 เพื่อรองรับกับวิกฤติด้านสภาพภูมิอากาศ

build back better 22 7 2563

เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาปัญหาการแพร่ระบาดใหญ่ของโควิด-19 ได้ยึดครองพื้นที่ต่างๆ ในทุกแง่มุมชีวิตของเรา ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกันก็มีผลการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่าในอีก 50 ปีข้างหน้า ประชากรกว่าพันล้านคนจะต้องทนทุกข์กับความร้อนที่เพิ่มขึ้น บ้านที่เราอาศัยอยู่จะมีความร้อนมากกว่าในทะเลทรายซาฮารา ซึ่งครอบคลุมพื้นที่หนึ่งในสามของโลก ขณะเดียวกันประชากรกว่าร้อยล้านคนจะต้องละทิ้งบ้านเรือนเนื่องจากปัญหาการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล

ปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสในครั้งนี้ ได้โจมตีเราภายหลังจากที่เราต้องเผชิญกับทศวรรษที่ร้อนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ที่เคยมีการบันทึกไว้ ไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทั้งด้านอุทกภัยและอัคคีภัย ขณะที่ผลจากการคาดการณ์ได้แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลต่างๆ ทั่วโลกจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายในการลดความร้อนของอุณหภูมิโลกได้ไม่ว่าจะเป็น 1.5 องศาเซลเซียส หรือ 2 องศาเซลเซียส ดังนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบรุนแรงที่มาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เราจึงต้องรวมตัวกันเพื่อต่อสู้กับภัยคุกคามที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งรวมถึงโรคโควิด-19 ที่ได้คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 400,000 คนแล้ว เราไม่สามารถลืมได้ว่าวิกฤติสภาพภูมิอากาศยังคงส่งผลกระทบต่อชีวิตของเราด้วยเช่นเดียวกัน และมีผู้คนที่เสียชีวิตจากวิกฤตนี้เป็นจำนวนมากหากเรายังไม่ทำอะไรในตอนนี้

António Guterres เลขาธิการใหญ่องค์การสหประชาชาติ ได้เรียกร้องให้รัฐบาลประเทศต่างๆ ดำเนินการที่เรียกว่า “การสร้างให้ดีกว่าเดิม (build back better)” ภายหลังวิกฤตนี้โดยการสร้างสังคมแห่งความยั่งยืน ยืดหยุ่นและครอบคลุม ซึ่งการดำเนินการได้นั้นต้องอาศัยการศึกษา เพราะสังคมไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ถ้าสิ่งที่เราเรียนรู้ยังคงเหมือนเดิม

สร้างการศึกษาแบบใหม่เพื่อสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่พร้อมรับกับความท้าทายในระดับโลก
การปิดสถานศึกษากว่า 180 ประเทศทั่วโลกทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันทางการศึกษา ซึ่งเป็นผลมาจากการเรียนรู้แบบทางไกลที่ไม่สมบูรณ์ ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการใช้ดิจิทัล รวมถึงบทบาทสำคัญของสถานศึกษาในการดูแลสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของนักเรียน ภายหลังวิกฤต รัฐบาลทั่วโลกต้องการที่จะคิดทบทวนระบบการเรียนรู้แบบใหม่เพื่อให้พร้อมรับความท้าทายที่ต้องเผชิญ ซึ่งเป็นก้าวที่สำคัญของคนรุ่นต่อไปที่จะพัฒนาด้านการศึกษาควบคู่ไปกับด้านเศรษฐกิจ เพื่อต่อสู้กับวิกฤตด้านสภาพภูมิอากาศ ดังนั้นจึงถือเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ผู้นำด้านการศึกษาจะใช้ช่วงเวลาของการหยุดชะงักนี้เพื่อสร้างความมั่นใจว่าผู้เรียนได้เรียนรู้ในสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของพวกเขาอย่างแท้จริงอันจะนำไปสู่การอยู่รอดของโลกในอนาคต

เมื่อปีที่ผ่านมาที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้ให้การรับรองการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ESD) ซึ่งถือได้ว่าเป็นรูปแบบของการคิดทบทวนการเรียนรู้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยโครงการนี้ได้ทำการประเมินถึงสิ่งที่เราเรียนรู้ แหล่งที่มาของการเรียนรู้และวิธีการเรียนรู้ เพื่อช่วยพัฒนาความรู้ ทักษะ ค่านิยมและทัศนคติ ทำให้ผู้เรียนตัดสินใจและดำเนินการบางอย่างที่เกี่ยวกับปัญหาระดับโลก เช่น วิกฤตสภาพภูมิอากาศ ช่วยให้ผู้เรียนทุกช่วงวัยเปลี่ยนวิธีคิดและทำงานเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน ESD มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ที่ประกอบด้วยการเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อม ศักยภาพทางเศรษฐกิจ วิธีการทำงานเพื่อสร้างสังคมที่เป็นธรรม นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการทบทวนถึงวิธีการจัดการศึกษา และผลลัพธ์ที่มาจากรูปแบบการคิดอย่างมีสติ ผู้เรียนรู้จักความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ทำให้สามารถทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาฉุกเฉินได้ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับโลก
จากการศึกษาขององค์การยูเนสโกเมื่อเร็ว ๆ นี้พบว่าประเทศต่างๆ ให้ความสำคัญมากกับการเรียนรู้เกี่ยวกับอารมณ์ทางสังคมและพฤติกรรม ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างพลังให้ผู้เรียนเกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเครื่องมือเหล่านี้จะเป็นแนวทางให้ผู้เรียนสามารถนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาได้ในอนาคต สามารถต่อสู้กับวิฤตต่างๆ ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพทางภูมิอากาศและสภาพสังคม

การศึกษาควรทำให้เรามีความยืดหยุ่นต่อการรับมือสถานการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการระบาดใหญ่ในปัจจุบันและวิกฤติสภาพภูมิอากาศ
ESD เป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้ง 17 เป้าหมาย และเป็นกุญแจสำคัญในการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับปัญหาวิกฤตต่างๆ ของโลกอย่างเช่นโรคโควิด-19 การแพร่ระบาดใหญ่ได้แสดงให้พวกเราเห็นถึงความสำคัญของคนแต่ละคนและสังคมที่จะสามารถรับมือกับความเสี่ยงที่ไม่คาดคิดได้อย่างรวดเร็ว สิ่งนี้แสดงถึงความสามารถในการเข้าใจถึงความซับซ้อน และการคาดการณ์ในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน การร่วมเจรจาแลกเปลี่ยน การดำเนินการที่รวดเร็วภายใต้ข้อจำกัดของข้อมูล และความร่วมมือกันเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุด ซึ่ง ESD จะช่วยสนับสนุนความสามารถเหล่านี้ได้อย่างแม่นยำเพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน การตอบสนองต่อวิกฤติการณ์ได้อย่างทันท่วงที ดังนั้นทักษะทางสังคมและอารมณ์ของแต่ละบุคคลจึงมีความสำคัญที่เท่าเทียมกัน ทำให้สามารถป้องกันวิกฤตในอนาคตได้ ผลกระทบจากวิกฤตการณ์ในครั้งนี้ได้ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของทุกคน ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงสภาพความเป็นอยู่จึงต้องการความยืดหยุ่นอย่างมากเพื่อรับมือกับความไม่แน่นอน รวมถึงการเรียนรู้ในการอยู่กับความไม่ชัดเจนยังเป็นทักษะที่จำเป็นเพื่อรับมือกับความกดดันและความวิตกกังวลของเวลาที่ไม่แน่นอน การแสวงหาคำตอบ บนพื้นฐานของข้อมูล ผนวกกับทฤษฎีสมคบคิด จะช่วยสร้างทักษะด้านอารมณ์ทางสังคม ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของ ESD และยังสัมพันธ์กับการศึกษาเพื่อความเป็นพลเมืองโลกอีกด้วย

องค์ประกอบต่างๆ เหล่านี้จะช่วยเตรียมผู้เรียนให้พร้อมรับกับสถานการณ์การแพร่ระบาดใหญ่เช่นในครั้งนี้ และยังช่วยส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในเรื่องของการพัฒนาอย่างยั่งยืน การมีแผนงานสู่การศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นการวางรากฐานในด้านการศึกษาในอนาคตซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของเราในการรับมือกับความท้าทายทั้งสองด้านนี้

ความพยายามในการป้องกันปัญหาเหล่านี้.....
เราไม่รู้ว่าโรคโควิด-19 จะอยู่อีกนานเท่าไหร่ เรารู้ว่าโรคติดต่อที่มาจากสัตว์สู่คนมีแนวโน้มมากขึ้นเมื่อสัตว์ป่าสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย มนุษย์มีความสนใจปกป้องที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติในทันทีเพื่อความอยู่รอด วันที่ 22 พฤษภาคม ได้ถูกกำหนดให้เป็นวันความหลากหลายทางชีวภาพของโลก (World Biodiversity Day) เป็นช่วงเวลาที่สะท้อนให้เห็นว่ามนุษย์ได้เปลี่ยนแปลงพื้นที่บนบก 3 ใน 4 และพื้นที่ในมหาสมุทร 2 ใน 3 ดังนั้นการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในเรื่อง ESD จึงมีความสำคัญต่อการคงอยู่ของทรัพยากรโลกเพื่อสร้างความหลากหลายทางชีวภาพในอนาคต นักเรียนจะมีความรู้ความเข้าใจถึงเรื่องสุขภาพของมนุษยชาติที่ต้องขึ้นอยู่กับการคงอยู่ของธรรมชาติโลก

การเรียนรู้ควรส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างกันทั่วโลก
ปัญหาของโลกต้องการการแก้ไขในระดับโลก จะเห็นได้จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความสำเร็จของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ดังนั้นเรื่อง ESD จะช่วยให้เกิดความรู้ความเข้าใจในเรื่องความท้าทายในปัจจุบันของธรรมชาติโลก ซึ่งรวมถึงการกระจายตัวที่ไม่เท่าเทียมกัน การมีเครื่องมือเพื่อใช้ในการค้นหาแนวทางแก้ไขปัญหาในระดับโลก และช่วยในการแปลงไปสู่การแก้ไขปัญหาสภาพแวดล้อมในการอยู่อาศัยในท้องถิ่น จะช่วยส่งเสริมให้เกิดผลลัพธ์การเรียนรู้ร่วมกัน และยังช่วยกระตุ้นให้เกิดการทำงานร่วมกันของนักเรียน

วิกฤตด้านสภาพภูมิอากาศต้องถูกโจมตีด้วยความรวดเร็วเช่นเดียวกับโรคโควิด - 19 และสิ่งนี้จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากไม่มีการทบทวนการเรียนรู้ใหม่ บางคนมุ่งไปที่การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ทั่วโลกเพื่อให้เกิดผลบวก แต่หากปราศจากข้อตกลงร่วมกันแล้วการปล่อยก๊าซก็จะกลับไปสู่จุดเดิมและอาจเพิ่มขึ้น ภาครัฐบาล ผู้กำหนดนโยบายและผู้นำด้านการศึกษาต้องสร้างความมั่นใจว่าประเด็นเรื่องของการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนจะถูกกำหนดไว้เป็นกรอบการทำงานในทุกขั้นตอนของการจัดการศึกษาในระดับชาติความมุ่งมั่นในการบรรจุเรื่อง ESD ไว้ในทุกบริบทของการเรียนรู้ สำหรับผู้เรียนทุกคนโดยไม่จำกัดเพศ ที่ตั้ง หรือสถานะทางเศรษฐกิจสังคม หรือการเชื่อมต่อกันผ่านอินเตอร์เน็ต

เมื่อไม่นานมานี้องค์การยูเนสโกได้มีการเปิดตัว “แผนงานสู่การศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Roadmap towards Education for Sustainable Development)” ที่กำหนดเป้าหมายการทำงานในอีก 10 ปีข้างหน้า ในชื่อ “ESD for 2030” ซึ่งได้รับการรับรองจากรัฐสมาชิกต่างๆ อันเป็นการเชิญชวนให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ผู้นำทางด้านการศึกษาและอบรม ผู้กำหนดนโยบาย ครู นักเรียน และผู้ปกครองให้เข้ามามีส่วนร่วมในการหารือเพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมระดับโลกด้านการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในเดือนพฤษภาคม 2564 ณ กรุงเบอร์ลิน

ปัญหาโรคโควิด–19 นำเรามาสู่คำถามที่เป็นสมมุติฐานพื้นฐานบางประการเกี่ยวกับตัวเราและชีวิตของเรา
เมื่อพูดถึงการจัดการศึกษา เราต้องการที่จะสร้างความเข้มแข็งในเรื่องการส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของคนและและโลกของเรา เราต้องการการศึกษาที่จะให้ความรู้ขั้นพื้นฐานและทักษะที่จะนำไปสู่ความตระหนัก ความคิดและการดำเนินการที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ดังนั้นการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนจึงมีพลังที่จะช่วยให้ผู้เรียนเปลี่ยนแปลงตัวเองและสังคม การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นทันทีเพื่อรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 เราจึงไม่ควรเสียโอกาสนี้ในการเปลี่ยนการเรียนรู้และสร้างโลกที่ดีกว่าเดิม

***********************************************

ข้อมูล: องค์การยูเนสโก
https://en.unesco.org/news/build-back-better-education-must-change-after-covid-19-meet-climate-crisis
โดย Stefania Giannini ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่องค์การยูเนสโกด้านการศึกษา
เรียบเรียงโดย : กุสุมา นวพันธ์พิมล
22 กรกฎาคม 2563