ยูเนสโกเรียกร้องให้ทั่วโลกรับมือกับผลกระทบด้านวัฒนธรรมจากภาวะวิกฤตโควิต 19
ยูเนสโกได้จัดการประชุมทางไกลรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมจากทั่วโลก จำนวนประมาณกว่า 130 ประเทศ เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2563 เพื่อระดมข้อคิดเห็นและเสนอแนวทางการรับมือด้านวัฒนธรรม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยได้กล่าวถึงผลกระทบที่ได้รับโดยตรงในด้านการท่องเที่ยว พิพิธภัณฑ์ ผู้ประกอบการทางวัฒนธรรมในภาคอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และศิลปิน รวมถึงมาตรการที่ได้ดำเนินการเพื่อบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตการณ์
นางออเดรย์ อาซูเลย์ (Ms. Audrey Azoulay) ผู้อำนวยการใหญ่ของยูเนสโกกล่าวว่า... “เราจำเป็นต้องมีวัฒนธรรม ดังนั้น จึงจำเป็นต้องช่วยกันเพื่อประคับประคองจากเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดนี้ ต้องประเมินผลกระทบของวิกฤตการณ์ ประสานงานและร่วมกันสร้างสรรค์การดำเนินการในชอบเขตงานด้านวัฒนธรรม
ที่ประชุมได้เน้นถึงผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจในด้านวัฒนธรรมในประเทศของตน โดยเห็นพ้องกันร่วมกันว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนในการลงทุนในระหว่างและหลังวิกฤต เนื่องจากมาตรการการห้ามเดินทางและการกักบริเวณที่รัฐบาลนำมาใช้ ส่งผลต่อการเข้าถึงวัฒนธรรม และหากไม่ดำเนินการใด ๆ อาจทำให้ระบบนิเวศทางวัฒนธรรมได้
ผลกระทบของ COVID-19 ต่อวัฒนธรรม
ประเทศต่าง ๆ ส่วนใหญ่ กว่าร้อยละ 90 ได้ปิดแหล่งมรดกโลก โดย 128 ประเทศได้ดำเนินการปิดหน่วยงานทางวัฒนธรรมเทศกาลสำคัญและกิจกรรมถูกยกเลิก ส่งผลกระทบต่อชีวิตทางวัฒนธรรมของชุมชนและรายได้ที่จัดงานตามฤดูกาล
ศิลปิน และผู้ประกอบการทางวัฒนธรรมในภาคอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดโดยในช่วงวิกฤตินี้ ผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวอย่างรุนแรง ในบางประเทศมีผลกระทบทางเศรษฐกิจมากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศ ตัวเลขล่าสุดจากสภาการเดินทางและการท่องเที่ยวโลก แสดงให้เห็นว่า 75 ล้านคน ในภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบ
ศิลปินแห่งชาติ คนทำงานในภาควัฒนธรรม และผู้จัดการแหล่งมรดก ได้รับการส่งเสริมศักยภาพและบทบาทเพื่อให้เข้าถึงวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่อง มีการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการแพร่ระบาดผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ การเข้าชมพิพิธภัณฑ์ ห้องจัดแสดงนิทรรศการและห้องสมุดเสมือนจริง รวมทั้ง นักดนตรี นักแสดง นักเต้น ศิลปิน และนักเขียน ทำงานผ่านระบบออนไลน์ นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือกับสถานีโทรทัศน์ เพื่อเผยแพร่วัฒนธรรม เนื่องจาก ในบางพื้นที่ยังไม่มีโครงสร้างพื้นฐานด้านอินเตอร์เน็ต
วัฒนธรรมมักเป็นกลุ่มสุดท้ายที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ จึงจำเป็นต้องพึ่งพางบประมาณฉุกเฉิน เพื่อการดำรงชีวิตของศิลปิน ช่างฝีมือ และผู้ประกอบการทางวัฒนธรรมในภาคอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ รวมถึงการจ้างงานใหม่ ที่ต้องปรับให้เข้ากับสภาพแวดล้อมดิจิทัลเพื่อให้เกิดรายได้และการเข้าถึงวัฒนธรรม
รัฐบาลจำนวนมากกำหนดกลยุทธ์ในระยะยาว โดยคำนึงถึงการขยายตัวของเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นส่วนสำคัญของกลยุทธ์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์กล่าวว่า “ เราต้องเริ่มการหารือเกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิตัลเชิงวัฒนธรรมแบบ
องค์รวม (holistic digital cultural economy) และวางแผนที่จะสนับสนุนวัฒนธรรมที่ไม่สามารถทำให้ผู้คนเข้าใจได้อย่างง่ายในโลกเสมือนจริง”
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เสนอให้มีการเสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างชาติ การแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดี และการเงินระหว่างประเทศเพื่อสนับสนุนระบบนิเวศทางวัฒนธรรม
ที่ประชุมได้ตั้งข้อสังเกตว่าผลกระทบของวิกฤตการณ์ที่มีต่อภาควัฒนธรรม จะทำให้โลกจะดูเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ในระยะยาวจะต้องปรับตัวให้เข้ากับ "ปกติใหม่" และวิกฤติครั้งนี้เป็นโอกาสที่จะพัฒนากลยุทธ์ด้านวัฒนธรรมระดับโลก ซึ่งในอดีต วัฒนธรรมได้เคยปกป้องมนุษย์มาแล้วและครั้งนี้ก็เช่นกัน
ในส่วนของประเทศไทย นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม เป็นผู้แทนเข้าร่วมประชุม โดยได้แลกเปลี่ยนการดำเนินงานของไทยต่อที่ประชุมว่า รัฐบาลได้สนับสนุนงบประมาณแก่ ศิลปินซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสร้างความตระหนักเกี่ยวกับการระบาดของ COVID 19 และการปฏิบัติตนด้านสุขภาพ ได้จัดหางบประมาณฉุกเฉินสำหรับภาควัฒนธรรม เพื่อธำรงรักษาวัฒนธรรมและการสร้างสรรค์งานศิลปะ นอกจากนี้ ยังมีแผนระยะยาวในการปรับปรุงฐานข้อมูลที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมและงบประมาณ การรวมแนวทางดิจิตอลเข้ากับกลยุทธ์ทางวัฒนธรรม รวมทั้งเชิญชวนให้ประชาชนปรับตัวให้เข้ากับปกติใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคศิลปะและวัฒนธรรมอีกด้วย
**********************************************************
ข้อมูล : องค์การยูเนสโก (UNESCO)
แปล/สรุป โกมุที ยมลนันทน์
เรียบเรียงโดย สุปราณี คำยวง
รายงานโดย: กลุ่มสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป. กระทรวงศึกษาธิการ
ข้อมูล ณ: วันที่ 8 พฤษภาคม 2563