การปิดเรียนในภาวะโรคระบาด: ข้อกังวล ความท้าทาย โอกาส และแนวทางการจัดการของประชาคมโลก
ยูเนสโกเผยผลการสำรวจข้อมูลเด็กและเยาวชนที่ตกหล่นล่าสุดเมื่อเดือนเมษายน 2563 พบว่าในภาวะการระบาดของไวรัสโควิด 19 มีผู้เรียนกว่า 1.3 พันล้านคนยังคงตกหล่นและไม่สามารถกลับเข้าเรียนได้ แม้ในบางประเทศจะเริ่มเปิดเรียนแล้ว
ยูเนสโกรายงานผลการสำรวจ 199 ประเทศทั่วโลก พบว่าปัจจุบันมี 12 ประเทศได้กลับมาจัดการเรียนการสอน ในห้องเรียน 52 ประเทศได้กำหนดวันเปิดเรียนแล้ว 7 ประเทศอยู่ระหว่างวางแผนการเปิดเรียน ในขณะที่อีก 128 ประเทศยังไม่ได้พิจารณาการประกาศเรื่องการเปิดเรียน โดยห้วงเวลาของการเปิดเรียนในแต่ละประเทศนั้นมีความแตกต่างกันเนื่องจากทุกประเทศคำนึงถึงความปลอดภัยและสุขภาพของผู้เรียน ครู และครอบครัวเป็นสำคัญ
ยูเนสโก จึงทำหน้าที่เป็นสื่อกลางของประเทศสมาชิกในการจัดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้จัดการสัมมนาชุมชนแห่งการเรียนรู้ (Webinars) เพื่อประเทศสมาชิกได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับเงื่อนไขและแนวทางการเปิดเรียนของสถาบันการศึกษา เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2563 และในวันที่ 29 เมษายน 2563 ยูเนสโกยังได้จัดการประชุมทางไกลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการจาก 13 ประเทศเพื่อแลกเปลี่ยนแนวทางการจัดการเรียนการสอนในภาวะการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 และการพิจารณาการเปิดเรียนของประเทศสมาชิก โดยได้ยกตัวอย่างการเปิด-เปิดสถานศึกษาและมาตรการจัดการเรียนการสอนในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด 19 ในบางประเทศ ดังนี้
ประเทศ |
การเปิด-ปิดสถานศึกษา |
มาตรการจัดการเรียนการสอน |
จีน |
โรงเรียนประมาณร้อยละ 30 - 40 ได้กลับมาเปิดการเรียนการสอนแล้ว |
เปิดสอนออนไลน์ควบคู่กับการสอนในห้องเรียน |
ญี่ปุ่น |
โรงเรียนประมาณร้อยละ 30 - 40 ได้กลับมาเปิดการเรียนการสอนแล้ว |
- เปิดเรียนโดยคำนึงถึงระดับการแพร่กระจายของไวรัสในพื้นที่ต่าง ๆ |
สปป. ลาว |
- มีกำหนดเปิดสถานศึกษาในวันที่ 18 พฤษภาคม 2563 - มีกำหนดเปิดสอนในระดับอื่น ๆ ช่วงปลายเดือนพฤษภาคม |
- การสอนในห้องเรียน: ให้เข้มงวดในการวัดอุณหภูมิผู้เข้าเรียน การใส่หน้ากาก และการรักษาระยะห่าง |
สิงคโปร์ |
- มีกำหนดเปิดเรียนวันที่ 19 พฤษภาคม 2563 โดยเริ่มจากระดับที่คาบเกี่ยวกับการเลื่อนระดับชั้นหลัก อาทิ ป. 6 ม. 3 เป็นต้น - การให้บริการของสถานศึกษาสำหรับนักเรียนที่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์การเรียนของโรงเรียนหรือการสนับสนุนใด ๆ |
- ในการเปิดเรียน ให้โรงเรียนมีมาตรการ ดังนี้ |
อิหร่าน |
- มีกำหนดเปิดโรงเรียนในช่วงเดือนกันยายน |
- พิจารณาการจัดการศึกษาให้มีความต่อเนื่องเพื่อให้จบเทอมปัจจุบัน |
เดนมาร์ก |
- เปิดให้มีการเรียนการสอนตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน 2563 |
- มีการกำหนดหลักเกณฑ์ และมาตรการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและอนามัย |
อิตาลี |
- มีกำหนดให้โรงเรียนกลับมาเปิดการเรียนการสอนในช่วงเดือนกันยายน |
- จ้างงานครูกว่า 24,000 คนเพิ่มเพื่อให้ครูรุ่นใหม่ได้เข้าสู่ระบบ |
ฝรั่งเศส |
- มีกำหนดทยอยเปิดการเรียนการสอนตั้งแต่วันที่ 11 พฤษภาคม 2563 |
- ให้แต่ละเขตการปกครองกำหนดวันเปิดเรียนได้เองขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของแต่ละพื้นที่ |
อาเจนติน่า |
- ยังไม่ได้กำหนดวันเปิดภาคเรียน |
- อยู่ระหว่างการจัดทำแนวทางการเรียนรู้แบบดิจิทัล การทำหนังสือ โรงเรียน ทีวี และวิทยุ เพื่อให้มั่นใจว่าการเรียนสามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง |
เลบานอน |
- ยังไม่ได้กำหนดวันเปิดภาคเรียน |
- ให้การสนับสนุนแนวคิดเรื่อง “การศึกษาที่เป็นหนึ่งเดียวกันอย่างยั่งยืน (Resilient Educational Solidarity)” |
คอสตาริกา |
- ยังไม่ได้กำหนดวันเปิดภาคเรียน |
- จัดให้มีการจัดการเรียนการสอนแบบทางไกล |
โคลัมเบีย |
- ยังไม่ได้กำหนดวันเปิดภาคเรียน |
- อยู่ระหว่างการจัดทำ application สำหรับครูเพื่อประเมินสภาวะทางอารมณ์และติดตามความก้าวหน้าในการเรียนของผู้เรียนเป็นรายบุคคล |
เม็กซิโก |
- ยังไม่ได้กำหนดวันเปิดภาคเรียน |
- แจกหนังสือเรียนฟรีให้กับผู้เรียนทุกคน |
เอกวาดอร์ |
- ยังไม่ได้กำหนดวันเปิดภาคเรียน |
- จัดการเรียนการสอนทางไกล โดยจะใช้แนวทางการเรียนการสอนแบบนี้ควบคู่ไปกับการเรียนการสอนปกติในช่วงหลังโรคระบาดด้วย |
จากการหารือระดับนานาชาติข้างต้นพบว่า การปิดเรียน (school closure) นำมาซึ่งประเด็นท้าทายที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในวงกว้าง
โดยประเด็นที่ได้รับการหยิบยกเพื่อหารือในเวทียูเนสโกนั้น อาทิ
1) ความเหลื่อมล้ำทางโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา
2) การตัดสินใจกลับเข้าเรียนและออกกลางคันของผู้เรียน
3) การขาดโภชนาการและการเข้าถึงทางสาธารณสุขที่จำเป็น
4) ผลกระทบของการระบาดของไวรัสโควิด 19 ต่อสภาวะทางจิตใจของผู้เรียน
5) การเพิ่มขึ้นของความรุนแรงต่อเด็กหญิงและสตรี
6) การใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมการเรียนการสอนทางไกลในช่วงหลังภาวะโควิด 19
จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่า แนวคิดเรื่องการเปิดโรงเรียนเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและการกำหนดนโยบายต่าง ๆ นั้นขึ้นอยู่กับวิวัฒนาการของโรคระบาดในแต่ละประเทศ โดยการปิดเรียนไม่ได้สร้างผลกระทบต่อการจัดการศึกษาเพียงอย่างเดียว หากแต่เชื่อมโยงไปยังมิติทางด้านสุขภาพ การสาธารณสุข และความเป็นอยู่ของประชาชนด้วย ดังนั้น การเปิดเรียน เป็นประเด็นที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันพิจารณาโดยคำนึงถึงปัจจัยสำคัญต่างๆ อาทิ ความปลอดภัย และสุขภาพที่ดีของนักเรียน ครู และครอบครัว นอกจากนี้ ควรต้องคำนึงถึงการปรับตารางการสอนให้ครอบคลุมเนื้อหาในช่วงที่ไม่มีการเรียนการสอน ความต่อเนื่องของการเรียนทางไกลกับการเรียนในห้องเรียน การดูแลความสะอาดอาคารสถานที่ของโรงเรียน และการกำหนดมาตรการการป้องกันอื่น ๆ ควบคู่กันไปด้วย ทั้งนี้ แต่ละประเทศ สามารถใช้เอกสาร “แนวทางการเปิดโรงเรียน (Framework for Reopening Schools)” ที่จัดทำขึ้นโดยความร่วมมือของยูเนสโก ยูนิเซฟ โครงการอาหารโลก และองค์การธนาคารโลก เป็นแนวทางประเมินความพร้อมในการเปิดเรียน
สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด 19 แสดงให้เห็นว่า “การศึกษา” เป็นเครื่องมือสำคัญที่มีบทบาทในการยกระดับความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของประชาชนของโลก จึงนับเป็นโอกาสที่ดีของประชาคมนานาชาติทางการศึกษา ที่จะได้ร่วมมือกันสร้างความเข้มแข็งทางการศึกษา โดย Ms. Audrey Azoulay ผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโกเน้นย้ำว่า “การมียุทธศาสตร์ที่ดีสำหรับการเปิดเรียนนั้นจะช่วยป้องกันเด็กออกจากโรงเรียนกลางคัน และลดความเหลื่อมล้ำในทุกมิติอันเนื่องมาจากภาวะการระบาดของไวรัสโควิด 19 ได้” ซึ่งยูเนสโกจะได้ขับเคลื่อนโครงการ “พันธมิตรการศึกษาโลก (Global Education Coalition)” เพื่อประสานความร่วมมือของประชาคมโลกด้านการศึกษา โดยเฉพาะการพิจารณามิติต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเปิดการเรียนการสอนในโรงเรียนควบคู่ไปกับการสนับสนุนการจัดการศึกษาทางไกล เพื่อให้มั่นใจได้ว่าประเทศสมาชิกจะสามารถจัดการเรียนรู้ได้ในทุกสภาวะ และพัฒนากระบวนทัศน์การปฏิบัติงานให้สามารถรับมือกับวิกฤตการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างมั่นคง
แหล่งข้อมูล :
1. https://en.unesco.org/news/13-billion-learners-are-still-affected-school-university-closures-educational-institutions
2. https://en.unesco.org/news/education-ministers-share-plans-reopening-schools-after-covid-19-closures
3. https://www.instagram.com/p/B_q--OgnRhj/?utm_source=ig_web_copy_link
*************************************************************************
ข้อมูล : องค์การยูเนสโก (UNESCO)
แปล/สรุปโดย กชกร คัตตพันธ์ อาสิฬ์เฎร์
เรียบเรียงโดย สุปราณี คำยวง
รายงานโดย: กลุ่มสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป. กระทรวงศึกษาธิการ
ข้อมูล ณ: วันที่ 8 พฤษภาคม 2563