Loading color scheme

รมว. ศธ. พร้อมจับมือเยอรมนี เดินหน้าพัฒนาการศึกษาไทย

german 2 10 2563

เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2563 เวลา 12.00 น. นาย ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ร่วมหารือถึงแนวทางการพัฒนาการเรียนรู้ของไทยกับ H.E. Mr. Georg Schmidt (นายเกออร์ก ชมิดท์) เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ณ ทำเนียบเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย ถนนสาทรใต้ กรุงเทพมหานคร

german1 2 10 2563

เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีได้ชื่นชมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงความคิดเห็นเพื่อร่วมกันพัฒนาการศึกษาไทยอย่างเปิดกว้างและจริงใจ ตลอดจนจัดทำช่องทางการรับฟังความคิดเห็นที่เกี่ยวกับการพัฒนาการศึกษาอย่างรอบด้าน ทั้งนี้ ได้หยิบยกประเด็นความร่วมมือเพื่อให้สามารถขับเคลื่อนการดำเนินอย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่

1. การส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ โดยเห็นว่าการใช้ประโยชน์จากศูนย์วิทยาศาสตร์ในการสร้างความเข้าใจและรักในการเรียนวิทยาศาสตร์ตั้งแต่วัยเยาว์จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต
2. การแลกเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาตำราเรียนประวัติศาสตร์ โดยเห็นว่าการพัฒนาหนังสือเรียนประวัติศาสตร์จะช่วยเสริมสร้างความเข้าใจในสังคมพหุวัฒนธรรมและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ
3. การส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาเยอรมัน โดยสถาบันเกอเธ่ ประเทศไทยยินดีให้การสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนภาษาเยอรมันให้กับครูและนักเรียนในระดับต่าง ๆ ตลอดจนสานต่อโครงการที่ดำเนินการร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อพัฒนาทักษะภาษาเยอรมันให้กับผู้เรียนได้อย่างต่อเนื่อง
4. การส่งเสริมการพัฒนาการอาชีวศึกษา ฝ่ายเยอรมันยินดีให้ความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีด้านการจัดการเรียนการสอนอาชีวศึกษา การพัฒนาหลักสูตรเพื่อผลิตคนให้ตรงตามความต้องการของสถานประกอบการ และยินดีสนับสนุนการส่งผู้เรียนไปฝึกปฏิบัติงานในประเทศเยอรมนีในอนาคต

ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวขอบคุณเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีที่ให้การต้อนรับรวมถึงเสนอประเด็นความร่วมมือดังกล่าว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้กล่าวถึงการปฏิรูปการศึกษาในปัจจุบันว่าอยู่ระหว่างการดำเนินการอย่างเป็นระบบ โดยคำนึงถึงผลลัพธ์สุดท้ายของผู้เรียนเป็นสำคัญ ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการไทยได้ออกแบบแนวทางการพัฒนาการศึกษาอย่างเป็นระบบ โดยให้ความสำคัญในเรื่อง 1) การพัฒนา “ครู” ให้มีองค์ความรู้ เทคนิคการสอน และ mindset พร้อมพัฒนาผู้เรียน 2) การพัฒนาโรงเรียนที่มุ่งเน้นการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ และ 3) การพัฒนาผู้เรียน โดยอยู่ระหว่างการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนในระดับต่าง ๆ และแนวทางการจัดการศึกษาทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน รวมทั้งการสร้างระบบการเรียนรู้แบบผสมผสาน (Hybrid) ที่นำการเรียนรู้ออนไลน์มาใช้ควบคู่ไปกับการจัดการศึกษาในห้องเรียนด้วย โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเน้นย้ำว่า การปฏิรูปการศึกษาจะสำเร็จได้ต้องเริ่มจากความเชื่อมั่นของทุกคนและกระทรวงศึกษาธิการมีแผนการดำเนินการพัฒนาอย่างเป็นระบบ ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนอย่างเปิดกว้างเพื่อให้การพัฒนาสัมฤทธิ์ผลบนพื้นฐานของการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ

ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่าการสื่อสารให้เกิดความเข้าใจเป็นเรื่องที่สำคัญในปัจจุบัน และการสร้างการรับรู้อย่างเป็นระบบจะก่อให้เกิดการมีส่วนร่วม และความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศ ซึ่งจะเป็นพลังในการขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาให้เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

*************************************************

สรุป/เรียบเรียง/ภาพประกอบ : ฐานิศา สันตยานนท์
กชกร คัตตพันธ์ อาสิฬ์เฎร์
จิตรลดา จันทร์แหยม
รายงานโดย : กลุ่มสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป.
ข้อมูล ณ วันที่ 2 ตุลาคม 2563