ข่าวความเคลื่อนไหว
กระทรวงศึกษาธิการขยายเครือข่ายขับเคลื่อน CODING ในการเรียนรู้อย่างเป็นรูปธรรม
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช) เปิดโอกาสให้ Ms. Gita Sabharwal ผู้ประสานงานองค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย (United Nations Resident Coordinator in Thailand) และ Mr. Thomas Davin ผู้แทนกองทุนเพื่อเด็กแห่งองค์การสหประชาชาติ สำนักงานประเทศไทย (Representative of UNICEF Thailand) เข้าเยี่ยมคารวะในโอกาสการเข้ารับตำแหน่งใหม่ของผู้ประสานงานองค์การสหประชาชาติ ณ ประเทศไทย และหารือถึงกิจกรรมความร่วมมือเพื่อพัฒนาการศึกษากับกระทรวงศึกษาธิการอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีผู้อำนวยการสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป. พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมด้วย เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2563 ณ ห้องดำรงราชานุภาพ อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ
ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช) ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการศึกษาที่เป็นระบบอย่างต่อเนื่อง โดยทุกคนต้องสามารถเรียนรู้ได้แบบไม่จำเป็นต้องมีเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ทันสมัย หากแต่เป็นการเรียนผ่านการเล่นหรือการเรียนให้เกิดความรู้ และสามารถพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ที่นำไปสู่การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้ พร้อมหยิบยกกิจกรรมเด่นที่ดำเนินการในปัจจุบัน อาทิ 1) การจัดทำสารานุกรมความรู้ที่ประกอบด้วยองค์ความรู้แบบสหวิทยาการสำหรับผู้อ่านในทุกวัย 2) การขับเคลื่อนโครงการ 1 ไร่/100,000 บาท ต่อเดือน เพื่อสร้างอาชีพและลดภาระค่าใช้จ่ายในการบริโภคของครัวเรือน โดยได้นำร่องโครงการดังกล่าวในสถาบันการอาชีวศึกษาเกษตรจำนวน 47 แห่ง และ 3) การพัฒนาทักษะด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (Science, Technology and Innovation: STI) ในสถาบันการอาชีวศึกษา เป็นต้น
ผู้ประสานงานองค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย และผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทยได้ เห็นพ้องถึงการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของโลก และเล็งเห็นถึงความจำเป็นในการพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับการรับมือกับการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะทักษะทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม รวมทั้ง เพิ่มเติมประเด็นเรื่องความสำคัญกับการพัฒนาทักษะด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมแก่ผู้หญิง เด็กหญิง และการเชื่อมโยงเยาวชนเข้าสู่ตลาดแรงงาน โดยได้พิจารณาแนวทางการดำเนินความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมใน 3 โครงการ ได้แก่ 1) การขับเคลื่อน CODING (Creative Thinking; Organized Thinking; Digital Literacy; Innovation; Newness; and Globalization) สู่การเรียนรู้ในทุกระดับ 2) การพัฒนาทักษะและความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (Science, Technology and Innovation: STI) เพื่อการมีงานทำ และ 3) การพัฒนาเครือข่ายอินเตอร์เน็ตในสถานศึกษา
ปัจจุบัน ประเทศไทยเป็นที่ตั้งขององค์การชำนัญพิเศษ (specialized agencies) ของสหประชาชาติ จำนวน 19 องค์การ ที่ให้การสนับสนุนความร่วมมือด้านต่าง ๆ ของประเทศไทยให้บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดในยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 โดยกระทรวงศึกษาธิการเป็นหน่วยงานหลักประสานการดำเนินความร่วมมือกับองค์การดังกล่าวด้านการศึกษาโดยเฉพาะในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน การอาชีวศึกษา การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ตลอดจนการจัดการพัฒนาทักษะและการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประชาชนไทยด้วย
*******************************************************
สรุปและเรียบเรียง : กชกร คัตตพันธ์ อาสิฬ์เฎร์
สุปราณี คำยวง
ภาพประกอบ : พิมพ์ชนา ดาราธวัช
รายงานโดย : กลุ่มสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
ข้อมูล ณ วันที่ : 4 กันยายน 2563