Loading color scheme

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน การประชุมคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยยูเนสโก

natcom 2563 01

          เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2563 เวลา 13.00 น. นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ครั้งที่ 1/2563 ณ ห้องประชุมจันทรเกษม อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ การประชุมมีวัตถุประสงค์เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินงานภายใต้กรอบยูเนสโกซึ่งประกอบด้วย 5 สาขา ได้แก่ การศึกษา วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม สังคมศาสตร์ และสื่อสารมวลชน โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานภายในและกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบการดำเนินกิจกรรมและโครงการของแต่ละสาขาเข้าร่วมการประชุม

Unesco1 21 8 2563

          การประชุมมีวาระสำคัญเกี่ยวกับการรายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมการแห่งชาติฯ ในห้วงที่ผ่านมา เช่น การจัดงานเปิดตัวรายงานการติดตามผลการศึกษาโลก (Global Education Monitoring Report) เมื่อปี 2562 ภายใต้หัวข้อ Migration, displacement and education: Building bridges, not wall การดำเนินงานตามอนุสัญญาด้านวัฒนธรรมหลายฉบับ เช่น อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติของโลก (มรดกโลก) ค.ศ. 1972 อนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ค.ศ. 2003 การส่งเสริมเรื่องวิทยาการแบบเปิด (Open Science) เพื่อให้เข้าถึงความรู้และงานวิจัย การประชุมคณะกรรมการระหว่างประเทศว่าด้วยชีวจริยธรรม ครั้งที่ 26 การประชุมคณะกรรมาธิการโลกว่าด้วยจริยธรรมในความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ 11 และการประชุมทางวิชาการว่าด้วยจริยธรรมของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและการพัฒนาที่ยั่งยืน เมื่อวันที่ 2 – 7 กรกฎาคม 2562 ณ กรุงเทพฯ โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทรงเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุม การส่งเสริมการดำเนินงานด้านสื่อสารมวลชนภายใต้คณะกรรมการสภาระหว่างรัฐบาลว่าด้วยโครงการสารนิเทศเพื่อปวงชน เป็นต้น

Unesco2 21 8 2563

          นอกจากนี้ ยังมีความก้าวหน้าในการดำเนินการด้านเครือข่ายความร่วมมือของยูเนสโกในลักษณะการขึ้นทะเบียนเป็นสถานที่ บุคคล หรือวัตถุตามเกณฑ์ของยูเนสโกในลักษณะต่างๆ เช่น มรดกโลก (World Heritage) มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Cultural Heritage) เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ (UNESCO Creative Cities Network - UCCN) เครือข่ายระดับโลกด้านเมืองแห่งการเรียนรู้ (UNESCO Global Network of Learning Cities: GNLC) การเฉลิมฉลองบุคคลสำคัญหรือผู้มีผลงานดีเด่นและเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ (Anniversaries of Great Personalities and Historic Events) อุทยานธรณีโลก (UNESCO Global Geoparks – UGGp) พื้นที่สงวนชีวมณฑล (Biosphere Reserve) แผนงานความทรงจำแห่งโลก (Memory of the World : MOW) เป็นต้น ซึ่งประเทศไทยได้รับการขึ้นทะเบียนแล้วหลายรายการ และมีอีกหลายรายการที่อยู่ระหว่างกระบวนการเสนอต่อยูเนสโก

Unesco3 21 8 2563

          ในส่วนของการประชุมสำคัญของยูเนสโกนั้น ที่ประชุมรายงานผลการประชุมสมัยสามัญของยูเนสโก ครั้งที่ 40 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12 – 27 พฤศจิกายน 2562 ณ องค์การยูเนสโก สำนักงานใหญ่ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นหัวหน้าคณะเดินทางไปเข้าร่วมการประชุม ซึ่งการประชุมครั้งนั้น ประเทศไทยได้รับการเลือกตั้งเป็นคณะกรรมการของยูเนสโกหลายชุด รวมถึงคณะกรรมการบริหารองค์การยูเนสโก โดยได้มีการประชุมคณะกรรมการบริหารฯ ครั้งที่ 209 เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน – 10 กรกฎาคม 2563 ซึ่งเป็นการประชุมในสถานที่ (องค์การยูเนสโก) และถ่ายทอดสดผ่าน webcast ของยูเนสโกด้วย ประเด็นที่สำคัญ เช่น การติดตามผลการดำเนินงานหรือมติจากที่ประชุมสมัยสามัญของยูเนสโกที่ผ่านมา ข้อริเริ่มใหม่ๆ เช่น Futures of Education Initiatives การดำเนินงานเรื่อง Futures Literacy และข้อห่วงกังวลการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ที่มีผลกระทบต่อการดำเนินงานและกิจกรรมของยูเนสโก เป็นต้น ทั้งนี้ ยูเนสโกกำลังอยู่ในระหว่างการจัดทำยุทธศาสตร์ระยะกลาง (Draft Medium-Term Strategy for 2022-2029 (เอกสาร 41 C/4) และโครงการและงบประมาณของยูเนสโก ระยะ 4 ปี (Draft Programme and Budget for 2022-2025 (เอกสาร 41 C/5) โดยมีกระบวนการรวบรวมแบบสอบถามจากประเทศสมาชิก การจัดประชุมหารือระดับต่างๆ แบบออนไลน์ เพื่อเสนอร่างแผนงานและงบประมาณดังกล่าวต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การยูเนสโก และการประชุมสมัยสามัญในลำดับต่อไป

Unesco5 21 8 2563

          ที่ประชุมรับทราบผลการดำเนินงานและให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินงานภายใต้กรอบยูเนสโก โดยเห็นว่า ประเทศไทยได้รับประโยชน์จากการเข้าร่วมเป็นเครือข่ายการดำเนินงานในหลายรูปแบบ ดังนั้น จึงควรสนับสนุนและส่งเสริมการดำเนินงานดังกลาวอย่างเข้มแข็ง และมีความเชื่อมโยงกับภาคส่วนอื่นๆ และการใช้องค์ความรู้ของยูเนสโกมาพัฒนาแก้ไขปัญหาในสถานการณ์ปัจจุบันต่อไป

unesco6 21 8 2563

unesco7 21 8 2563

Unesco4 21 8 2563

**********************************************************

สรุปและเรียบเรียง : รัชนินท์ พงศ์อุดม
สุปราณี คำยวง
ภาพประกอบ : กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานรัฐมนตรี
รายงานโดย : กลุ่มสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
ข้อมูล ณ วันที่ : 21 สิงหาคม 2563