Loading color scheme

สรุปผลการสัมมนาออนไลน์การจัดการศึกษาสำหรับกลุ่มด้อยโอกาสในช่วงโควิด -19 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

Reaching the Unreached 30 6 2563

          เมื่อวันอังคารที่ 30 มิถุนายน 2563 นางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นำเสนอเรื่องการจัดการศึกษาของประเทศไทยในวิถีใหม่ หลังจาก Covid-19 (New-Normal Education Post-COVID-19 response: Thailand) ระหว่างการสัมมนาออนไลน์ หัวข้อ “การจัดการศึกษาสำหรับกลุ่มด้อยโอกาสและการกระตุ้นให้ครูมีส่วนร่วมในการจัดการเรียนการสอนช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019” (Reaching the Unreached and Teachers Call to Action during COVID-19 Pandemic)

          ในโอกาสนี้ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รายแรก ตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม 2563 ต่อมาได้มีการแพร่ระบาดของโรคอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง และมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างมากประมาณกลางเดือนมีนาคม 2563 ในเวลาเดียวกันที่โรงเรียนของประเทศไทยก็มีการปิดภาคเรียนในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ – ต้นเดือนมีนาคม 2563 นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการได้ออกประกาศให้สถานศึกษาในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการปิดเรียนด้วยเหตุพิเศษ ตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป รวมทั้งให้สถานศึกษาจัดให้มีการเรียนการสอนด้วยการไม่ต้องเข้าชั้นเรียน โดยปรับการเรียนการสอนเป็นทางออนไลน์ ซึ่งในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม 2563 ได้ให้โรงเรียนทดลองจัดการเรียนการสอนทางไกล ในรูปแบบออนไลน์และทีวีการศึกษาทางไกลผ่านทางดาวเทียม (DLTV) ทั้งนี้ หลังจากประเทศไทยประสบผลสำเร็จในการรับมือกับวิกฤตโควิด-19 กระทรวงศึกษาธิการจึงได้กำหนดให้โรงเรียนเอกชนเปิดภาคเรียนในวันที่ 15 มิถุนายน 2563 และโรงเรียนรัฐบาลกว่า 30,000 แห่ง เปิดภาคเรียนในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563

          รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงศึกษาธิการจะต้องทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขเพื่อประกันในเรื่องสุขภาพ ความปลอดภัย และความเป็นอยู่ที่ดีของนักเรียนและครู โดยปัจจุบัน กระทรวงศึกษาธิการได้ร่วมมือกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพในการจัดพิมพ์ “คู่มือการจัดการโรงเรียนรับมือโควิด-19” ที่สนับสนุนข้อมูลทางวิชาการจากองค์การยูนิเซฟและองค์การอนามัยโลก โดยคู่มือดังกล่าว ประกอบด้วยข้อมูลสำคัญต่าง ๆ เช่น ความรู้ทั่วไปของโรคโควิด-19 และสุขอนามัยภายในโรงเรียน เป็นต้น

          ในส่วนการบริหารจัดการในโรงเรียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้มอบอำนาจ ให้ผู้บริหารสถานศึกษาจัดเตรียมความพร้อมในการเปิดเรียน และปฏิบัติตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุขด้านการรักษาระยะห่างทางสังคม นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการยังให้แนวทางปฏิบัติกับโรงเรียนในเรื่อง การลดความแออัดในสถานศึกษา ได้แก่ การลดขนาดชั้นเรียน การเหลื่อมเวลาเข้าชั้นเรียน และการลดเวลาเรียน

COVID 19 Pandemic3 30 6 2563

          การสัมมนาออนไลน์ดังกล่าวจัดโดยสำนักงานเลขาธิการซีมีโอ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีในเรื่องการรับมือกับผลกระทบของโรคโควิด-19 การจัดทำแผนปฏิบัติการภายหลังวิกฤตโควิด-19 สถานการณ์ของการจัดการเรียนการสอนและผู้เรียนในสภาวะฉุกเฉิน การจัดทำแผนดำเนินโครงการเร่งด่วนและระยะยาวของศูนย์ระดับภูมิภาคของซีมีโอ รวมทั้งการจัดทำแผนปฏิบัติการ และข้อเสนอแนะที่เป็นรูปธรรมในเรื่องข้อริเริ่มการฟื้นฟูการจัดการศึกษาให้กับเด็กที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ภายหลังวิกฤตโควิด-19 ซึ่งแบ่งเป็น 2 ช่วง ได้แก่ 1) การกล่าวปาฐกถาพิเศษ โดยผู้ทรงคุณวุฒิจาก Education Internationale, Belgium และสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ 2) การอภิปราย โดยผู้แทนจากกระทรวงศึกษาธิการไทย กระทรวงศึกษาธิการและกีฬา สปป. ลาว กระทรวงศึกษาธิการบรูไนดารุสซาลาม องค์กรพัฒนาเอกชนของฟิลิปปินส์ และโรงเรียน SMK Seri Bintang Utara ของมาเลเซีย ทั้งนี้ Dr. Ethel Agnes Pascua-Valenzuela ผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการซีมีโอ ได้กล่าวบรรยายภาพรวมของการสัมมนา และมี Dr. Luh Anik Mayani ผู้อำนวยการศูนย์ซีมีโอคีเท็ปด้านภาษา เป็นผู้ดำเนินรายการ สาระสำคัญ ในการนำเสนอและอภิปราย มีดังนี้

          1. Dr. Dennis Sinyolo ตำแหน่ง Senior Coordinator, Education Internationale (EI), Belgium กล่าวว่า ตามรายงานขององค์การยูเนสโก การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีการปิดเรียน และมีนักเรียนจำนวนมากกว่า 1 พันล้านคน ใน 123 ประเทศ ได้รับผลกระทบ รวมทั้งครูจำนวนมากกว่า 63 ล้านคนทั่วโลกด้วย ทั้งนี้ จากการสำรวจของ EI ระบุว่า โรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อครูและการจัดการเรียนการสอน ได้แก่ ครูมีความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลไม่เพียงพอ มีภาระงานในการเตรียม การเรียนการสอนแบบทางไกลมากเกินไป และขาดการสนับสนุนด้านขวัญและกำลังใจ ดังนั้น EI จึงได้กำหนดมาตรการเพื่อรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 เช่น การจัดทำแบบสำรวจเพื่อประเมินผลกระทบต่อครูและ การจัดการเรียนการสอน การเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาต่อรัฐบาล และการจัดสัมมนาออนไลน์เพื่อส่งเสริม ให้ครูและผู้บริหารโรงเรียนได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และกลยุทธ์ต่าง ๆ ระหว่างกัน เป็นต้น นอกจากนี้ ในการเปิดสถานศึกษา ยังต้องคำนึงถึง 5 ประเด็นสำคัญ ประกอบด้วย การส่งเสริมให้มีเวทีหารือเชิงนโยบายระหว่างครูและสหภาพครู การประกันสุขภาพและความปลอดภัยของชุมชนด้านการศึกษา การให้ความสำคัญกับความเสมอภาคทางการศึกษา การสนับสนุนและฟื้นฟูด้านสุขภาพทางกายและอารมณ์ที่ดี และการสร้างความไว้วางใจด้านวิชาชีพให้กับนักการศึกษา

          2. Dr. Ichiro Miyazawa ตำแหน่ง Programme Specialist in Literacy and Lifelong Learning สำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ กล่าวถึง การจัดการศึกษาต่อเนื่องให้กับนักเรียนใน 3 กลุ่ม ประกอบด้วย 1) นักเรียนที่มาจากครอบครัวรายได้น้อย ได้แก่ การจัดส่งชุดการเรียนให้กับนักเรียนและการให้ครูไปเยี่ยมนักเรียนที่บ้าน การจัดการเรียนการสอนผ่านทางทีวีและวิทยุ การสื่อสารผ่านทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ 2G ระหว่างครู ผู้ปกครอง และนักเรียน การจัดหาคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต และอินเทอร์เน็ตแบบไร้สายให้นักเรียนยืมใช้ และการแบ่งปันแท็บเล็ต 1 เครื่องสำหรับนักเรียน 4 คน 2) นักเรียน/เด็กที่มีความต้องการพิเศษ ได้แก่ การจัดหาที่พัก การใช้รูปแบบการเรียนรู้สากล การจัดการเรียนที่ใช้โครงงานเป็นฐาน และการใช้แผนการเรียนเฉพาะบุคคล การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเรียนการสอน และการสนับสนุนครู ผู้ปกครอง และผู้ดูแลเด็ก ให้มีส่วนร่วมในการจัดการเรียนรู้ 3) ผู้อพยพและผู้ลี้ภัยที่เป็นเด็ก ได้แก่ การส่งเสริมการศึกษาทางเลือก/การศึกษานอกโรงเรียนที่มีความเท่าเทียม การจัดโครงการการเรียนรู้ด้วยตนเองที่บ้าน/ศูนย์การเรียนชุมชน การพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์ม และการแบ่งปันแท็บเล็ต 1 เครื่องสำหรับนักเรียน 4 คน

          3. Assoc. Prof. Dr. Silinthone Sacklokham รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการและกีฬา สปป. ลาว กล่าวว่า สปป. ลาว ได้มีการปิดโรงเรียนและสถาบันการศึกษาทุกแห่ง ตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม 2563 และ เปิดเรียนอีกครั้ง ในวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 ทั้งนี้ กระทรวงฯ ได้มีการจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจในเรื่องโควิด-19 และทำงานร่วมกับคณะทำงานเฉพาะกิจระดับชาติด้านโควิด-19 โดยมุ่งเน้นใน 2 เรื่อง ได้แก่ การให้ความมั่นใจว่านักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษาทุกคนจะมีความปลอดภัย รวมทั้งการสร้างแรงจูงใจให้สถาบันการศึกษาต่าง ๆ จัดการเรียนรู้ที่ต่อเนื่องผ่านทางการศึกษาทางไกล และการเรียนออนไลน์ นอกจากนี้ กระทรวงฯ ยังเสนอแนะให้โรงเรียนและสถาบันการศึกษาจัดการเรียนรู้ให้กับนักเรียนที่อยู่ห่างไกล ผ่านทางทีวีและวิทยุ และมอบหมายการบ้านรายสัปดาห์ให้กับนักเรียน ตลอดจนใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์มในการสอน เช่น Skype, WhatsApp, Facebook และ YouTube เป็นต้น

          4. Mr. Aliuddin bin Haji Abdul Rahman รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการบรูไนดารุสซาลาม กล่าวว่า บรูไนฯ พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายแรก ตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2563 และได้ปิดโรงเรียน ตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2563 ทั้งนี้ กระทรวงฯ ได้จัดการเรียนการสอนให้กับนักเรียนชายขอบในรูปแบบต่าง ๆ ได้แก่ 1) การจัดการเรียนการสอนแบบผสมผสาน ด้วยการเรียนออนไลน์ การเรียนโดยใช้บ้านเป็นฐาน และการเรียนในพื้นที่ห่างไกล (ทีวีเพื่อการศึกษา และชุดการเรียนที่บ้าน) 2) การให้ความรู้แก่ผู้บริหารสถานศึกษา โดยจัด ให้มีการซักซ้อมการเรียนการสอนก่อนวันเปิดเทอม 3) การพัฒนาหลักสูตรและการประเมินผลการสอน 4) การจัดฝึกอบรม และการสัมมนาออนไลน์ให้กับครู 5) การสนับสนุนด้านวิชาการ รวมทั้งขวัญและกำลังใจให้กับโรงเรียน 6) การทำงานร่วมกับหน่วยงานของรัฐ องค์กร NGO และผู้ปกครอง 7) การติดต่อสื่อสารและ ให้การสนับสนุนกับผู้ปกครอง

          5. Fr. Benigno P. Beltran SVD จาก Sandiwaan Learning Centre สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ กล่าวถึง โครงการจัดการเรียนรู้ทางเลือก (Alternative Learning Systems Convergence Project) ซึ่งมีเป้าหมายในการสร้างสิ่งแวดล้อมในการเรียนรู้สำหรับเยาวชนตกหล่น ประมาณ 15,000 คน สำหรับพื้นฐานในการจัดการศึกษา คือ การสอนให้นักเรียนมีความซื่อสัตย์ ความสามัคคี และความคิดสร้างสรรค์ ทั้งนี้ กลยุทธ์ในการพัฒนาครู ได้แก่ การจัดอบรมการใช้เครื่องมือดิจิทัลและการออกแบบการเรียนการสอน การพัฒนาชุมชนนักปฏิบัติระหว่างครู และการจัดหาที่ปรึกษาจากภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เพื่อให้ความรู้ด้านการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาใช้ในการสอน ในส่วนกลยุทธ์ของการพัฒนาผู้เรียน ได้แก่ การจัดกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ การสร้างอาสาสมัครที่ปรึกษาเพื่อสนับสนุนแรงจูงใจให้กับนักเรียน รวมทั้งการจัดทดสอบในชั้นเรียนเพื่อพัฒนาอัตราการสอบผ่าน

          6. Ms. Lee Saw Im ตำแหน่ง Head Chemistry Panel โรงเรียน SMK Seri Bintang Utara ของมาเลเซีย กล่าวถึง เคล็ดลับในการจัดเตรียมการเรียนการสอนออนไลน์ อาทิ การทดสอบการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ การสร้างสถานที่ทำงานให้มีบรรยากาศที่ดี และการสร้างแรงจูงใจให้กับนักเรียน เป็นต้น รวมถึง การส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ของผู้เรียนโดยการเรียนรู้จากสื่อดิจิทัล การให้ความรู้ด้านการทดลอง ทางวิทยาศาสตร์และกิจกรรมที่เกี่ยวข้องโดยใช้บ้านเป็นฐาน และการเรียนรู้ที่ใช้ปัญหาเป็นฐาน

COVID 19 Pandemic2 30 6 2563

สำหรับผู้เข้าร่วมการสัมมนาครั้งนี้ ได้แก่ ผู้กำหนดนโยบายด้านการศึกษา นักการศึกษา รวมทั้งครูและนักเรียนจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และภูมิภาคอื่น ๆ

ทั้งนี้ สามารถดาวน์โหลดข้อมูลเอกสารการนำเสนอและติดตามชมการสัมมนาฉบับเต็ม ได้จากช่อง youtube ของสำนักงานเลขาธิการซีมีโอ ได้ตามลิงก์ด้านล่าง

Keynote 01_DennisSinyolo_SEMEO_Teachers  
Keynote 02_Ichiro Miyazawa for SEAMEO  
Panelist 01_Special E-Forum_Reaching the Unreached -MOE Thailand_FIINAL  
Panelist 02_Final PPT Lao PDR_Reaching the Unreached_Education Disruption and Response  
Panelist 03_FINAL_TSUT_SEAMEO_WEBINAR_2020_BruneiDarussalam  
Panelist 04 ALS Convergence Project
 


***********************************************************

 สรุป/เรียบเรียง : เบญจพร มรรยาทอ่อน
วิไลลักษณ์ ผดุงกิตติมาลย์
กลุ่มความร่วมมือระดับภูมิภาค
ข้อมูล : สำนักงานเลขาธิการซีมีโอ
รายงานโดย : กลุ่มสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
9 กรกฎาคม 2563