ข่าวความเคลื่อนไหว
การสัมมนาออนไลน์ระดับรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAMEO Ministerial Policy e-Forum: SMPeF)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ)
นำเสนอแนวคิดในการพัฒนาการศึกษาของไทย
ต่อที่ประชุมระดับรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
วันพฤหัสบดีที่ 18 มิถุนายน 2563 ระหว่างเวลา 09.25 – 12.30 น.
ณ ห้องประชุมวชิราวุธ อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ
-----------------------------------------
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 18 มิถุนายน 2563 นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้เข้าร่วมการสัมมนาออนไลน์ระดับรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAMEO Ministerial Policy e-Forum: SMPeF) เพื่อนำเสนอและอภิปรายในหัวข้อ “การจัดการศึกษาภายหลังวิกฤตโควิด-19 ของโลก - Education in a Post COVID-19 World” โดยผู้อภิปราย ประกอบด้วย รัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ประเทศสมาชิกซีมีโอ 11 ประเทศ) ได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไนดารุสซาลาม กัมพูชา อินโดนีเซีย สปป. ลาว เมียนมา ฟิลิปปินส์ ไทย ติมอร์-เลสเต และเวียดนาม
ในการนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของไทย กล่าวถึงการจัดการศึกษาของประเทศไทยในช่วงโควิด-19 รวมทั้งประเด็นการปฏิรูปการศึกษา โดยใช้โมเดลการศึกษายกกำลังสองในการพัฒนาบุคลากร ทางการศึกษาเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงจากเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Disruption) การสร้างทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต และทักษะในศตวรรษที่ 21 โดยให้นักเรียนมีทักษะที่สอดคล้องกับความต้องการของโลกและ ความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วจากปัจจัยภายนอก การเสริมสร้างสมรรถนะของครูเพื่อพัฒนาศักยภาพของนักเรียนแต่ละคนให้สูงที่สุด การร่วมมือกับภาคเอกชนในการสร้างนักออกแบบการศึกษา (Education Designer) การสร้างแพลตฟอร์มเพื่อสร้างข้อมูลแผนการพัฒนาตัวเอง ทั้งของครูและนักเรียน และการลดช่องว่าง ทางการศึกษาของกลุ่มด้อยโอกาส
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวเพิ่มเติมว่า สืบเนื่องจากผลกระทบของโควิด-19 ประเทศไทยได้เลื่อนการเปิดภาคเรียนของโรงเรียนรัฐบาลกว่า 30,000 แห่ง จากเดีอนพฤษภาคม 2563 เป็นวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 นอกจากนี้ ได้มีทดลองการจัดเรียนการสอนผ่านระบบการเรียนทางไกล และ การออกอากาศทางทีวีดิจิทัล 17 ช่อง โดยในอนาคตจะมีการพัฒนาเนื้อหารายการจากครูผู้ที่เป็นนักออกแบบการศึกษาและบริษัทสตาร์ทอัพ ทั้งนี้ ในการเปิดภาคเรียน สถานศึกษาจะต้องปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัยของกระทรวงสาธารณสุข และให้แต่ละโรงเรียนพิจารณาการจัดการเรียนการสอนตามบริบทความเหมาะสมของพื้นที่ต่อไป
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ยังได้ให้ข้อเสนอแนะว่า หากประเทศสมาชิกซีมีโอร่วมมือกันในการพัฒนาระบบการจัดการเรียนการสอนทางไกล ก็จะสามารถช่วยให้ต้นทุนในการจัดหาวัสดุอุปกรณ์ ที่ใช้ในการจัดการเรียนการสอนทางไกลลดต่ำลง (Economy of Scale)
การจัดสัมมนาออนไลน์ครั้งนี้ H.E. YB Mohd Radzi bin Md Jidin รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของมาเลเซีย ในฐานะประธานสภารัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (สภาซีเมค) ได้เป็นเจ้าภาพร่วมกับสำนักงานเลขาธิการซีมีโอ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดี และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมและการบริหารจัดการการศึกษา การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการเรียนการสอน เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็ตาม การศึกษาที่ประกันว่า ต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง รวมถึงการมุ่งเน้นการส่งเสริมศักยภาพของครู การสนับสนุนสิ่งแวดล้อมในการเรียนรู้ ที่ไม่มีข้อจำกัด และการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ที่ยั่งยืน ตลอดจนการวางแผนการศึกษาในอนาคตให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนผ่านจากการจัดการศึกษาในภาวะวิกฤตสู่การเรียนรู้ภายหลังวิกฤตโควิด-19 ทั้งนี้ การสัมมนา SMPeF แบ่งเป็น 3 ช่วง ได้แก่
1. การบรรยายภาพรวมและกลไกของการจัดสัมมนา โดย Dr. Ethel Agnes Pascua-Valenzuela ผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการซีมีโอ รวมทั้งการกล่าวปาฐกถาพิเศษ โดย H.E. YB Mohd Radzi bin Md Jidin รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของมาเลเซีย ในฐานะประธานสภาซีเมค และ H.E. Mr. Ong Ye Kung รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของสิงคโปร์ ในฐานะรองประธานสภาซีเมค
2. การอภิปรายกลุ่มที่ 1 ในหัวข้อ “Education during Covid-19 Pandemic” โดยรัฐมนตรีศึกษาของบรูไนดารุสซาลาม กัมพูชา อินโดนีเซีย สปป. ลาว และเมียนมา
3. การอภิปรายกลุ่มที่ 2 ในหัวข้อ “School Opening and Education after the Lockdown” โดยรัฐมนตรีศึกษาของฟิลิปปินส์ ไทย ติมอร์-เลสเต และเวียดนาม
สำหรับผู้รับฟังการสัมมนาออนไลน์ครั้งนี้ มีประมาณ 20,000 คน ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่อาวุโสระดับปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้านการศึกษาจากประเทศสมาชิกซีมีโอ สมาชิกสมทบ รวมทั้งหน่วยงานที่เป็นสมาชิกสมทบ ศูนย์ระดับภูมิภาคของซีมีโอ และสถานศึกษาเครือข่ายซีมีโอ โดยเข้าชมผ่านทางช่องยูทูปของซีมีโอ และมี Dr. Ethel Agnes Pascua-Valenzuela ผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการซีมีโอ เป็นผู้ดำเนินรายการ
อนึ่ง สาระสำคัญจากการประชุม (Key Takeaways) ระดับรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีดังนี้
1. การเตรียมความพร้อมของผู้เรียนให้สอดคล้องกับความก้าวหน้าและการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี
2. การพัฒนาแพลตฟอร์มที่หลากหลายและยืดหยุ่นตามบริบทด้านการศึกษา
3. การยกเลิกเงื่อนไขข้อจำกัดของครูและบุคลากรทางการศึกษา และการขยายโอกาสทางอาชีพให้กับผู้เรียนทุกคน
4. การสร้างโอกาสให้ผู้เรียนที่ด้อยโอกาสได้เข้าถึงการศึกษา
5. การพัฒนาศักยภาพ ทักษะ ทัศนคติ และค่านิยมของผู้เรียนต่อการมีงานทำในศตวรรษที่ 21
6. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและแหล่งเงินทุนเพื่อการศึกษา
7. การเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ และองค์กรระหว่างประเทศในระดับทวิภาคีและพหุภาคีเพื่อผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ทางการศึกษา
สามารถติดตามชมการสัมมนาฉบับเต็มของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการทั้ง 11 ประเทศ ได้จากช่อง youtube ของสำนักงานเลขาธิการซีมีโอ ได้ตามลิ้งก์ด้านล่าง
*********************************************************
สรุปและเรียบเรียง : เบญจพร มรรยาทอ่อน
วิไลลักษณ์ ผดุงกิตติมาลย์
กลุ่มความร่วมมือระดับภูมิภาค
ภาพประกอบ : พิมพ์ชนา ดาราธวัช
รายงานโดย : กลุ่มสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
ข้อมูล ณ วันที่ : 19 มิถุนายน 2563