ข่าวความเคลื่อนไหว
ยูเนสโกประกาศให้กรุงเทพมหานครและสุโขทัย เป็นเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก (UNESCO Creative City Network – UCCN) ประจำปี 2562
เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2562 องค์การยูเนสโก โดยนาง Audrey Azoulay (ออเดรย์ อาซูเลย์) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การยูเนสโก ได้ประกาศให้เมืองสำคัญของประเทศไทย 2 เมืองเข้าร่วมเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ในระดับโลก ได้แก่ กรุงเทพมหานครเป็นเครือข่ายด้านการออกแบบ (Design) และองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุโขทัยเป็นเครือข่ายด้านศิลปะและหัตถกรรมพื้นบ้าน (Crafts and Folk Art) ซึ่งในปี 2562 นี้องค์การยูเนสโกได้ประกาศให้เมืองต่างๆ จากทั่วทุกมุมโลกเข้าร่วมเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโกทั้งสิ้น 66 เมือง ดังนี้
1) ศิลปะและหัตถกรรมพื้นบ้าน (Crafts and Folk) | 12 เมือง |
2) การออกแบบ (Design) | 9 เมือง |
3) ภาพยนตร์ (Film) | 5 เมือง |
4) อาหาร (Gastronomy) |
10 เมือง |
5) วรรณคดี (Literature) | 11 เมือง |
6) มีเดีย อาร์ต (Media arts) | 3 เมือง |
7) ดนตรี (Music) | 16 เมือง |
ทำให้ปัจจุบัน มีเมืองต่างๆ เข้าร่วมเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ในระดับโลกแล้วทั้งสิ้น 246 เมือง โดยในส่วนของประเทศไทยมี 2 เมืองที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์แล้ว คือ เทศบาลนครภูเก็ต เมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร เมื่อปี 2558 และจังหวัดเชียงใหม่ เมืองด้านหัตถกรรมพื้นบ้าน เมื่อปี 2560 ปัจจุบันประเทศไทยมีเมืองต่างๆ ที่เข้าร่วมเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโกแล้ว ทั้งสิ้น 4 เมือง
ประเทศไทย โดยสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา ฯ สหประชาชาติ กระทรวงศึกษาธิการ ได้เสนอชื่อกรุงเทพมหานคร และสุโขทัย ให้องค์การยูเนสโกพิจารณาเข้าร่วมเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2562 เนื่องจากได้เล็งเห็นความสำคัญของทั้ง 2 เมืองที่มีความพร้อมและมีศักยภาพตรงตามเกณฑ์ที่องค์การยูเนสโกกำหนด รวมทั้งมีศักยภาพในด้านการพัฒนาอันจะนำไปสู่การมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการดำเนินงานของเครือข่ายในระดับสากล เป็นการสร้างโอกาสให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างเมืองสมาชิกอื่นๆ ในหลากหลายสาขาเพื่อนำไปสู่การพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนในศตวรรษที่ 21 โดยกรุงเทพมหานคร มีการพัฒนาในเชิงสร้างสรรค์ โดยเฉพาะในด้านการออกแบบเมือง ที่มีการยกระดับความรู้ดั้งเดิม บูรณาการร่วมกับสหสาขาวิชาต่างๆ ทั้งด้านการวางผังเมือง สถาปัตยกรรมและเทคโนโลยี ช่วยในการสร้างสรรค์เมืองให้มีชีวิตและมีความยืดหยุ่นสามารถรับมือกับความท้าทายและความเสี่ยงในด้านต่างๆ ได้ ในขณะที่สุโขทัย ซึ่งเป็นเมืองมรดกโลกยังคงเอกลักษณ์ของงานด้านศิลปะ หัตถกรรมและภูมิปัญญาดั้งเดิมไว้เป็นอย่างดี จนมีการวางเป้าหมายในการพัฒนาอย่างชัดเจนในแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในปี 2560-2564 ที่จะสร้างเมืองให้เป็นศูนย์หัตถกรรมในระดับโลกที่มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และส่งเสริมการค้าระหว่างเมืองเครือข่ายต่างๆ
สำหรับเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก (Creative Cities) ได้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2547 มีทั้งหมด 7 สาขา ได้แก่ 1) หัตถกรรมพื้นบ้าน (Crafts and Folk) 2) การออกแบบ (Design) 3) ภาพยนตร์ (Film) 4) อาหาร (Gastronomy) 5) วรรณคดี (Literature) 6) มีเดีย อาร์ต (Media arts) และ 7) ดนตรี (Music) โดยมีเป้าหมายในการสร้างความร่วมมือระหว่างท้องถิ่นเพื่อส่งเสริมการพัฒนาไปสู่ระดับนานาชาติ สร้างสันติ วัฒนธรรมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นความร่วมมือจากหลากหลายภาคส่วน ตั้งแต่ภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และภาคประชาสังคม ทำให้เห็นพลังของวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ที่มีต่อการพัฒนานโยบายในระดับท้องถิ่นผ่านกิจกรรมต่างๆ ในลักษณะของการเชื่อมโยงเมืองต่างๆ ทั่วโลกเข้าด้วยกัน เน้นการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ที่จะเป็นรูปแบบใหม่ของความร่วมมือในระดับโลก เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโกมีส่วนสำคัญที่จะนำมาซึ่งความร่วมมือและการมีส่วนร่วมอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านกระบวนการคิด การวางแผน การกำหนดนโยบายและการดำเนินงาน เพื่อการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนซึ่งเป็นประโยชน์ต่อคนในชุมชนโดยตรง
การเข้าร่วมเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโกของเมืองต่างๆ จากทั่วทุกมุมโลกที่มีความหลากหลายและแตกต่างกันทั้งรายได้และจำนวนประชากร เป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในด้านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในด้านการพัฒนาเมืองที่สำคัญที่จะนำไปสู่การพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนในอนาคต เนื่องจากปัจจุบันนี้ประชากรมากกว่าครึ่งโลกอาศัยอยู่ในเขตเมือง และมีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2050 จะเพิ่มสูงถึง 70% ทำให้เมืองในวันนี้และในอนาคตยังคงเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ และยังไม่เคยมีมาก่อน ทำให้เมืองหลายแห่งตกอยู่ในภาวะเสี่ยงในหลายๆ ด้าน ทั้งด้านสังคม วัฒนธรรม การศึกษา และสิ่งแวดล้อม ดังนั้นการที่ประเทศไทยตัดสินใจเสนอชื่อเมืองต่างๆ เข้าร่วมเครือข่ายแล้ว 4 เมืองจึงเป็นก้าวที่สำคัญในการที่จะสร้างและวางแนวทางในการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนในอนาคต ซึ่งในอีก 2 ปีข้างหน้าจะมีการพิจารณาร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนและร่วมกันขับเคลื่อนเมืองต่างๆ ให้มีความพร้อมในการเข้าร่วมเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโกทั้ง 7 สาขาต่อไป
ข้อมูลเพิ่มเติม : UNESCO designates 66 new Creative Cities
โครงการเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก (UNESCO Creative Cities Network - UCCN)
******************************************
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
ในฐานะสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษาฯ สหประชาชาติ
31 ตุลาคม 2562