ข่าวความเคลื่อนไหว
การประชุมระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ว่าด้วยการศึกษา 2030 ครั้งที่ 5 (5th Asia-Pacific Meeting on Education 2030)
สำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ และยูนิเซฟ ได้ร่วมกันจัดการประชุมระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกว่าด้วยการศึกษา 2030 ภายใต้หัวข้อ “Delivering Inclusive and Equitable Quality Education in the Era of Lifelong Learning and Sustainable Development” ระหว่างวันที่ 1 - 4 ตุลาคม 2562 ที่โรงแรมอมารี วอเตอร์เกท
ในโอกาสนี้ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (นางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์) ได้เป็นผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ขึ้นกล่าวในพิธีเปิดการประชุมดังกล่าว ในวันที่ 1 ตุลาคม 2562 โดยมีใจความสำคัญว่า ในปัจจุบันเราต่างได้ตระหนักถึงบทบาทของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในกรอบสหประชาชาติ โดยเฉพาะ เป้าหมายที่ 4 ด้านการศึกษา ว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาด้านอื่นๆ อีก 17 เป้าหมายให้บรรลุผลสำเร็จ อาทิ ช่วยขจัดความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม เป็นพื้นฐานในการพัฒนาด้านสาธารณสุข ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจ และนำไปสู่ความเท่าเทียมทางเพศ นอกจากนี้ การศึกษายังเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้เกิดความสันติภาพภายในสังคม นำไปสู่สังคมที่เท่าเทียมและการเคารพสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 4.1 และ 4.6 ที่มุ่งเน้นในการสร้างหลักประกันว่าเด็กหญิงและเด็กชายทุกคนจะได้รับการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาที่มีคุณภาพ หญิงและชายทุกคนสามารถอ่านออกเขียนได้และคำนวณได้ ทั้งนี้ เป้าหมายดังกล่าวยังมีความท้าทายในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ดังนั้นการประชุมในวันนี้จึงเป็นโอกาสดีที่ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกจะได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ทัศนะต่างๆ ในการที่จะก้าวข้ามความท้าทายเพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
สำหรับประเทศไทย การดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายที่ 4.1 และ 4.6 ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ไทยได้เป็นประเทศผู้นำในการขับเคลื่อนปฏิญญาจอมเทียน(Jomtien Declaration) ได้มุ่งความสนใจไปที่การสร้างหลักประกันในการส่งเสริมการศึกษาอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม รวมทั้งการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับปวงชนทุกคน ประเทศไทยมุ่งหวังที่จะขยายโอกาสในการเรียนรู้สำหรับประชาชนทุกกลุ่ม ทั้งหญิง ชาย ผู้พิการ ชนกลุ่มน้อย และบุคคลไร้สัญชาติ โดยการให้การศึกษาในหลากหลายรูปแบบ หรือแม้แต่การศึกษาทางเลือก โดยขึ้นอยู่กับสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมของผู้เรียน นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้จัดสรรงบประมาณเพื่อการขยายโอกาสทางการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างต่อเนื่องและสูงขึ้นทุกปี เพราะเราเชื่อว่าการได้รับการศึกษาของประชาชนอย่างมีคุณภาพและครอบคลุมจะเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาไปสู่ความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนและความมั่นคงของประเทศ ซึ่งเมื่อวันที่ 16 - 17 กันยายน 2562 กระทรวงศึกษาธิการได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับอาเซียนว่าด้วยเด็กและเยาวชนที่ตกหล่น เพื่อร่างแผนปฏิบัติการ และเกิดการดำเนินการตาม ASEAN Declaration on strengthening Education for Out-of-school Children and Youth
นอกจากนี้ จุดเน้นของการศึกษาไทยในปี 2563 ยังได้มุ่งเน้นในการพัฒนาการเรียนการสอนวิชา Coding หรือการเขียนโปรแกรมคำสั่ง ในโรงเรียนของไทย โดยประเทศไทยมีแผนที่จะเริ่มด้วยการให้ครูใช้วิธีการสอน unplugged coding เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับนักเรียนเกี่ยวกับหลักการของ Coding และเมื่อนักเรียนเกิดความเข้าใจในหลักการดังกล่าวแล้ว จึงจะดำเนินการเรียนการสอนโดยใช้คอมพิวเตอร์ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการมุ่งหวังว่า การเรียนการสอนวิชา Coding จะช่วยพัฒนาทักษะชีวิตของนักเรียนทั้งหมด 6 ด้าน ได้แก่ C-Creative thinking (ความคิดสร้างสรรค์) O-Organized thinking (การคิดอย่างเป็นระบบ) D-Digital Thinking (การคิดแบบดิจิทัล) I-Innovate on ; N – Newness และ G-Globalization (นวัตกรรมที่สร้างสรรค์สิ่งใหม่ และ นวัตกรรมของยุคโลกาภิวัตน์) ซึ่งเราเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าการเรียนการสอนวิชา Coding จะช่วยส่งเสริมให้ผู้เรียนทุกคนเกิดทักษะการคิดอย่างเป็นตรรกะและเป็นระบบ
สำหรับการประชุม APMED ในครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 2 ช่วงหลัก ได้แก่ ช่วงที่ 1 การประชุมเชิงปฏิบัติการ (Technical session) เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับผู้เข้าร่วมการประชุมเกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายที่ 4.1 และ 4.6 และช่วงที่ 2 การประชุมผู้ประสานงานระดับชาติเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายที่ 4 ซึ่งรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (นางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์) ได้รับเชิญให้เป็นประธานในการประชุมย่อยที่ 6 การประชุมหารือการจัดประชุมระดับรัฐมนตรีว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายที่ 4 ด้านการศึกษา (2nd Ministerial Conference on SDG4, 2020) ซึ่งประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพร่วมในการจัดการประชุมดังกล่าวในปี 2563
****************************************************
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
2 ตุลาคม 2562