Loading color scheme

ผู้บริหารบริษัท Google เข้ารับฟังนโยบายการศึกษาและหารือความร่วมมือด้านการศึกษากับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

digi 7.1

Mr. Ted Osius Vice-President for Public Policy and Government Relations Google (Asia-Pacific) เข้าพบนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อรับฟังนโยบายทางการศึกษาและหารือความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างบริษัท Google และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันศุกร์ที่ 30 สิงหาคม 2562 เวลา 12.30น.
ในการหารือครั้งนี้ บริษัท Google มีความประสงค์จะต่อยอดความร่วมมือด้านการศึกษา โดยการนำชุดแอพพลิเคชั่น G Suite for Education ที่ถูกออกแบบมาเพื่อสนับสนุนสถาบันการศึกษา ครู และบุคลากรทางการศึกษาในการบริหารจัดการการเรียนรู้มาใช้จริงในสถานศึกษา ซึ่งการใช้ชุดแอปพลิเคชั่นดังกล่าวนั้น ไม่มีค่าใช้จ่ายและมีระบบรักษาความปลอดภัย ตลอดจนระบบสนับสนุนที่มีประสิทธิภาพ โดยเครื่องมือในชุดแอพพลิเคชั่น G Suite for Education ทำงานในระบบคลาวด์ (Cloud Computing) และสามารถปรับให้เข้ากับวัตถุประสงค์ของชั้นเรียนต่างๆ ได้
นอกจากชุดแอพพลิเคชั่นดังกล่าวแล้ว บริษัท Google ได้พัฒนาเนื้อหาวิชาพื้นฐานการเขียนชุดคำสั่งของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือ Coding ที่มีชื่อว่า “CS Unplugged” โดยปูพื้นความรู้ของผู้เรียนให้มีความรู้ความเข้าใจตั้งแต่การเข้าใจความหมายของข้อมูล (Data) ความสำคัญของขั้นตอนหรือลำดับการประมวลผลในการแก้ปัญหา (Algorithm) ความสำคัญของความคิดเชิงตรรกะและทักษะการเชื่อมโยง (Representing Procedure) การฝึกให้ผู้เรียนสามารถแก้ไขปัญหาภายใต้ทฤษฎีความซับซ้อน (Intractability) การปูพื้นฐานหลักการและเหตุผลภายใต้วิทยาการเข้ารหัสลับ (Cryptography) เป็นต้น ทั้งนี้ ครูผู้สอนสามารถนำเนื้อหาดังกล่าวไปใช้กับห้องเรียนได้โดยไม่จำเป็นต้องมีคอมพิวเตอร์ (Computer Science without Computer) เนื่องจากเนื้อหาการเรียนการสอนของ CS Unplugged มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเน้นการคิดที่มีตรรกะ ปลูกฝังการคิดที่เป็นระบบ ตลอดจนปูพื้นฐานให้ผู้เรียนพร้อมสำหรับการเขียนชุดคำสั่งของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ได้จริงต่อไปในอนาคต
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการกล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายในการขับเคลื่อนการพัฒนาขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีการศึกษาของสถานศึกษาทั่วประเทศภายในระยะเวลา 3 ปี โดยจะต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล (Digital Infrastructure) ควบคู่ไปกับการอบรมครูผู้สอนให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการใช้เทคโนโลยีการศึกษาในห้องเรียน อย่างไรก็ตาม การนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้ในสถานศึกษาถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องมีระบบการประเมินและติดตามที่มีประสิทธิภาพและวัดผลได้ นอกจากการพัฒนาทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) แล้ว ครูผู้สอนควรมีทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษในระดับดี เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการสืบค้นและเข้าใจข้อมูลสารสนเทศบนอินเตอร์เน็ท ตลอดจนแหล่งความรู้อื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ ทันสมัย และสามารถต่อยอดนำความรู้ดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ในห้องเรียนได้
สำหรับการนำชุดแอพพลิเคชั่น G Suite for Education และเนื้อหาวิชาพื้นฐานการเขียนชุดคำสั่งของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ “CS Unplugged” มาใช้ในสถานศึกษานั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้มอบหมายให้นายวราวิช กำภู ณ อยุธยา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คัดเลือกสถานศึกษาที่มีความพร้อมทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลและบุคลากรเพื่อพัฒนาเป็นสถานศึกษานำร่องพร้อมพัฒนาระบบประเมินและติดตามที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้แน่ใจว่าเทคโนโลยีการศึกษาและเนื้อหาวิชาพื้นฐานการเขียนชุดคำสั่งของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ดังกล่าว เป็นประโยชน์ต่อตัวผู้เรียน ครูผู้สอน และสถานศึกษาของไทย
การหารือในครั้งนี้มีคณะผู้บริหารจากบริษัท Google ประเทศไทย นายวราวิช กำภู ณ อยุธยา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายศรีชัย พรประชาธรรม เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย นายสมเกียรติ สรรคพงษ์ ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานด้านเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน นายศัจธร วัฒนะมงคล ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา และนายสมทรง งามวงษ์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมหารือด้วย

 digi 222

สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
เครดิตภาพโดย กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานรัฐมนตรี
3 กันยายน 2562

FOLLOW US
f1.1 ff3.3 ff2.2