ข่าวความเคลื่อนไหว
ไทยชูประเด็นการจัดการศึกษาอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ในการประชุมสหประชาชาติ- HLPF 2019
รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (นางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์) ได้รายงานความคืบหน้าของไทยในด้านการศึกษา ตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ เป้าหมายที่ 4 ด้านการศึกษา ในการประชุมเวทีระดับสูงทางการเมืองว่าด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืน ภายใต้คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ ประจำปี 2562 (High-Level Political Forum on Sustainable Development - HLPF 2019) ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2562 โดยได้กล่าวถึง การจัดการศึกษาของไทยว่าสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เน้นเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และจัดการศึกษาให้กับประชาชนทุกคน โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งจะครอบคลุมถึงเด็กที่ไม่มีทะเบียนราษฎร์ เด็กไร้สัญชาติ และลูกหลานแรงงานต่างด้าว ซึ่งพ่อแม่เดินทางมาทำงาน ดังนั้นรัฐบาลจึงได้จัดสรรงบประมาณให้กับการจัดการศึกษามากที่สุด ซึ่งถือเป็นการจัดการศึกษาแบบไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
ปัจจุบันการเข้าเรียนในระดับปฐมวัยที่มีอายุระหว่าง 3 - 5 ปี จะอยู่ในอัตราที่สูงขึ้น โดยในปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 92.6 อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังมีเด็กวัยเรียนที่ยังไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาได้อยู่บ้าง ดังนั้น รัฐบาลไทยจึงได้จัดตั้งกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มเด็กที่มาจากครอบครัวที่ยากจนได้เข้าถึงการศึกษามากขึ้น และได้จัดตั้งศูนย์ดิจิทัลชุมชนมากกว่า 7,000 แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้โอกาสกับผู้สูงอายุได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาเพื่อการมีงานทำ สำหรับด้านเทคนิคและอาชีวศึกษา ได้ปรับหลักสูตรที่เน้นการปฏิบัติมากขึ้น โดยพัฒนาความร่วมมือร่วมกับภาคเอกชนในการจัดทำหลักสูตรที่เน้นการปฏิบัติ เพื่อเป็นการเชื่อมโยงการศึกษาเข้ากับการประกอบอาชีพอย่างแท้จริง ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาใน 6 ภูมิภาค รวม 18 แห่ง เพื่อทำการศึกษาวิจัยความต้องการแรงงานของภาคธุรกิจและนำมาใช้ประกอบการผลิตกำลังคนให้มีความสอดคล้องกัน
สำหรับการลดความเหลื่อมล้ำ ประเทศไทยมุ่งการสำรวจหาเด็กตกหล่นและเด็กออกกลางคันเพื่อนำกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา โดยจะใช้ระบบข้อมูลกลางที่กำลังดำเนินการร่วมกับหน่วยงานการศึกษาอื่นๆ เพื่อเป็นการเชื่อมโยงและส่งต่อเด็กกลุ่มดังกล่าว นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการและกองทุนความเสมอภาคทางการศึกษายังได้แบ่งกลุ่มนักเรียน กลุ่มยากจนและกลุ่มยากจนพิเศษ โดยกลุ่มยากจนพิเศษจำนวน 600,000 คน จะได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนค่าครองชีพและสถานศึกษาของนักเรียน เพื่อลดการลาออกกลางคัน รวมถึงการสนับสนุนทุนการศึกษาเด็กยากจนในพื้นที่ห่างไกล ที่ประสงค์จะกลับไปเป็นครูในท้องถิ่นของตน ทั้งนี้ เพื่อสร้างโอกาสและแก้ไขปัญหาการขาดแคลนครู
อนึ่ง การประชุมเวทีระดับสูงทางการเมืองว่าด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายใต้คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ ประจำปี 2562 (High-Level Political Forum on Sustainable Development - HLPF 2019) จัดขึ้นเป็นครั้งแรก ระหว่างวันที่ 9 - 19 กรกฎาคม 2562 ที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก โดยมีหัวข้อหลัก คือ “Empowering people and ensuring inclusiveness and equality” มีวัตถุประสงค์เพื่อทบทวนความคืบหน้าเชิงลึกการดำเนินงานตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนรายเป้าหมาย โดยเป็นการประชุมประจำปีที่จัดขึ้นเพื่อติดตามและทบทวนผลการอนุวัติวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ซึ่งในปีนี้จะทบทวนเชิงลึกเป้าหมายที่ 4 (การศึกษา) 8 (การจ้างงานที่มีคุณค่า การพัฒนาทางเศรษฐกิจ) 10 (การลดความไม่เท่าเทียม) 13. (การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) 16 (สังคมสงบสุข เข้าถึงกระบวนการยุติธรรม) และ 17 (หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน)
***************************************************
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
11 กรกฎาคม 2562