Loading color scheme

การประชุมรัฐมนตรีศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 10 สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา

asean 10th nov 2561นายแพทย์ ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนประเทศไทยเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 10 ในวันที่ 31 ตุลาคม 2561 ณ โรงแรม Kempinski กรุงเนปยีดอ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา โดยมี ดร. สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา นางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ และผู้แทนองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการเข้าร่วมการประชุมที่ประชุมได้รับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานตามแผนงานการศึกษาของอาเซียน พ.ศ.2559 – 2563 ตลอดจนความร่วมมือกับประเทศคู่เจรจาของอาเซียน อาทิ การเคลื่อนย้ายระหว่างกันระดับอุดมศึกษาด้วยการพัฒนาระบบการประกันคุณภาพและการถ่ายโอนหน่วยการเรียน การสนับสนุนทุนการศึกษาการพัฒนาการจัดการศึกษาระดับอาชีวศึกษาให้พร้อมพัฒนาคนเพื่อ industrial 4.0 และ society 5.0 การจัดกิจกรรมภายใต้ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนที่ ตกหล่น และการเทียบเคียงคุณวุฒิแห่งชาติกับกรอบอ้างอิงคุณวุฒิอาเซียน เป็นต้น

asean1 10th nov 2561ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวปาฐกถาในระหว่างการประชุมร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการประเทศสมาชิกอาเซียน โดยกระตุ้นเตือนและเรียกร้องให้ผู้นำทางการศึกษาตระหนักถึงการขับเคลื่อนนโยบายอย่างมีประสิทธิภาพ โดยให้ความสำคัญกับการบริหารทรัพยากรอย่างสมดุลเพื่อให้เกิดการจัดการศึกษาที่เท่าเทียม ทั้งนี้ นวัตกรรมทางนโยบายที่สำคัญของประเทศไทยที่ประยุกต์ใช้ในการพัฒนาการจัดศึกษาให้มีคุณภาพและสร้างให้เกิดความเท่าเทียมอย่างมีประสิทธิภาพประกอบด้วย 1) การพัฒนาครู ประเทศไทยได้ริเริ่มการใช้ระบบคูปองครูเพื่อจัดการฝึกอบรมครูให้มีทักษะเพิ่มขึ้น ผ่านการร่วมมือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในการสื่อสารซึ่งผลลัพธ์ที่ได้พบว่าครูได้รับการพัฒนาตรงตามความต้องการ ภาระด้านงบประมาณการพัฒนาครูลดลง และลดทอนการคอรัปชั่นในวงราชการ 2) การทำงานร่วมกับเครือข่ายทางการศึกษา โดยประเทศไทยตระหนักว่าการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาคนให้รองรับการเป็นคนไทยในยุค 4.0 นั้น กระทรวงศึกษาธิการไม่อาจทำได้เพียงลำพัง หากแต่จำเป็นต้องร่วมมือกับทุกภาคส่วน ดังนั้น จึงได้สร้างเครือข่ายความร่วมมือเพื่อพัฒนาการศึกษาหลากหลายโครงการ อาทิ การร่วมมือกับสถาบัน KOSEN ของญี่ปุ่น เป็นต้น และ 3) การพัฒนาทั้งระบบ กระทรวงศึกษาธิการไทยคำนึงว่าการพัฒนาการศึกษาจำเป็นต้องสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบ การพัฒนาการศึกษาหากเลือกจะทำการพัฒนาเพียงจุดเดียวไม่อาจสร้างให้เกิดผลกระทบที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ท้ายที่สุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้เน้นย้ำว่า การจัดการศึกษาจำเป็นต้องดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงรอบด้าน (education must be completed to meet all the demand that nature brings with it) ดังนั้น การจัดการศึกษาในปัจจุบันควรคำนึงถึงการจัดการศึกษาเพื่อการดำรงชีวิต ทั้งนี้ ประเด็นเร่งด่วนที่จำเป็นต้องเร่งดำเนินการ คือ การพัฒนา mindset 4.0 การสร้างโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และการสร้างพันธมิตรเพื่อการพัฒนา โดยการร่วมมือกันของทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นครู ผู้ปกครอง และผู้เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาจะเป็นกลไกสำคัญที่ก่อให้เกิดการพัฒนาที่สัมฤทธิ์ผลได้ - Everybody is a hero!
ในวันเดียวกัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้หารือระดับทวิภาคีกับ H.E.Prof. Dr. Muhadjir Effendy รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและวัฒนธรรมอินโดนีเซีย และ H.E. Leonor Magtolis Briones รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการฟิลิปปินส์ โดยทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาความร่วมมือระหว่างกัน โดยเฉพาะประเด็นการประเมินสอบวัดความรู้นักเรียนนานาชาติ (PISA) ซึ่งพบว่าคะแนนที่ออกมาอาจไม่สะท้อนกับข้อมูลที่แท้จริง ทั้งนี้ประเทศไทยร่วมกับ OECD กำหนดจัดสัมมนานานาชาติเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การประเมิน PISA ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2561 และประสงค์จะขอเชิญประเทศสมาชิกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าร่วมงานดังกล่าวด้วย ซึ่งทั้งอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์แจ้งว่ายินดีจะส่งผู้แทนระดับนโยบายมาเข้าร่วมงาน สำหรับประเด็นบันทึกความตกลงด้านการศึกษา (MOU) กับอินโดนีเซียที่หมดอายุลงตั้งแต่ปี 2560 ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบที่จะขยายเวลาบันทึกความตกลงดังกล่าวต่อไป หรืออาจพิจารณาปรับปรุงแก้ไขฉบับเดิมให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันยิ่งขึ้น ส่วนประเด็นความร่วมมือกับฟิลิปปินส์ที่สำคัญ ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบที่จะหารือเกี่ยวกับการจัดตั้งศูนย์ดูแลครูฟิลิปปินส์ที่เข้ามาสอนในโรงเรียนของไทยอย่างเป็นระบบ

asean2 10th nov 2561อนึ่ง ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้มอบหมายให้นายสุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษาเป็นผู้แทนเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีศึกษาอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 4 และการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกด้านการศึกษา ครั้งที่ 4 ซึ่งที่ประชุมได้รับทราบถึงโครงการ/กิจกรรมความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา อาทิ การพัฒนาการประกันคุณภาพการศึกษาระดับอาชีวศึกษาร่วมกับออสเตรเลีย การสนับสนุนการแลกเปลี่ยนทางการศึกษาโดยการสนับสนุนทุนการศึกษาและโครงการแลกเปลี่ยนต่าง ๆ อาทิ JENESYS ของญี่ปุ่น, Fulbright ของสหรัฐอเมริกา, ASEAN-Canada Scholarship ของแคนาดา ฯลฯ ตลอดจน การสร้างเครือข่ายอาชีวศึกษาระหว่างสมาชิกสุดยอดเอเชียตะวันออกที่ริเริ่มโดยสาธารณรัฐเกาหลี และการดำเนินความร่วมมือด้านการศึกษาเพื่อพัฒนาไปสู่อนาคตรัสเซีย เป็นต้น

asean3 10th nov 2561ทั้งนี้ สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ได้ประกาศในที่ประชุมว่าจะเป็นเจ้าภาพการประชุมการประชุมรัฐมนตรีศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 11 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ในช่วงเดือนตุลาคม 2563 ณ เมือง Davao หรือ Cebu หรือ Manila

*****************************

ข้อมูล/ภาพโดยสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป.
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
5 พฤศจิกายน 2561