Loading color scheme

การประชุมสภาซีเมค ครั้งที่ 48 ระหว่างวันที่ 6– 9 พฤษภาคม 2558

การประชุมสภาซีเมค ครั้งที่ 48 ระหว่างวันที่ 6– 9 พฤษภาคม 2558

*********************************

seamec 48 pattaya6 9 may 2558

ประเทศไทย โดยกระทรวงศึกษาธิการจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสภารัฐมนตรีศึกษา แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (สภาซีเมค) ครั้งที่ 48 ระหว่างวันที่ 6– 9 พฤษภาคม 2558 ณโรงแรม Royal Cliff Hotels Group จังหวัดชลบุรีโดยการประชุมสภาซีเมค ถือเป็นการประชุมสูงสุดขององค์การซีมีโอ เพื่อกำหนดนโยบายในการดำเนินงานและพิจารณาแนวทางในการพัฒนาความร่วมมือทาง การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมระหว่างประเทศสมาชิกซีมีโอ โดยมีกำหนดการประชุมเป็นประจำทุก 2 ปี ​ในการประชุมสภาซีเมค ครั้งที่ 48 นี้จะมีผู้เข้าร่วมประชุม ประมาณ 200 คน ประกอบด้วยรัฐมนตรีและผู้แทนระดับสูงจากสมาชิกขององค์การ จำนวน 11 ประเทศ คือ บรูไนดารุสซาลาม กัมพูชา อินโดนีเซีย สปป. ลาว มาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย ติมอร์ เลสเตและเวียดนาม และสมาชิกสมทบ 8 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี นิวซีแลนด์ เนเธอร์แลนด์ สเปน และสหราชอาณาจักร รวมทั้งหน่วยงานที่เป็นสมาชิกสมทบ อีก 3 แห่ง คือสภาระหว่างประเทศด้านการศึกษาทางไกล มหาวิทยาลัย Tsukuba และบริติช เคาน์ซิล โดยการประชุมในครั้งนี้ ประกอบด้วย การประชุมวาระเฉพาะ ในช่วงบ่ายของวันที่ 6 พฤษภาคม 2558 และการประชุมเต็มคณะระหว่างวันที่ 7 – 8 พฤษภาคม 2558

seamec 48 2 pattaya6 9 may 2558

ในช่วงเช้า ได้มีพิธีเปิดการประชุมในครั้งนี้ ณ ห้อง Head of State Chamber ชั้น 2 โดยมีพลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวต้อนรับและเปิดการประชุม ซึ่งมีการบรรเลงเพลงซีมีโอ พร้อมการเชิญธงของประเทศที่เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ โดยวงดนตรีจากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล จากนั้นเป็นพิธีเปิดโดยประธานสภาซีเมคชาวเวียดนาม และการนำเสนอวีดิทัศน์ผลงานขององค์การซีมีโอในรอบ 50 ปีที่ก่อตั้งมา รวมทั้งการมอบรางวัลสำหรับผู้ทำคุณประโยชน์แก่องค์การซีมีโอในรอบ 50 ปี จำนวน 6 ราย และมีการถ่ายภาพที่ระลึกหัวหน้าคณะประเทศที่เข้าร่วมการประชุม

โดย มีผู้บริหารของกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ อาทิ รองศาสตราจารย์ นายแพทย์กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน รองศาสตราจารย์พินิติ รตะนานุกูล เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และผู้ตรวจราชการ ตลอดจนผู้บริหารระดับของกระทรวงศึกษาธิการ

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวในพิธีเปิดว่าในนามของรัฐบาลไทย ขอต้อนรับสมาชิกสภารัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (สภาซีเมค) คณะผู้แทน ตลอดจนผู้อำนวยการศูนย์ระดับภูมิภาคขององค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวัน ออกเฉียงใต้ (องค์การซีมีโอ) และผู้สังเกตการณ์การประชุมสภาซีเมค ครั้งที่ 48 ที่ได้เดินทางมาเข้าร่วมการประชุมในวันนี้ด้วยความยินดีเป็นอย่างยิ่ง และรู้สึกเป็นเกียรติที่ประเทศไทยได้รับโอกาสเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสภาซี เมคที่ประเทศไทยอีกครั้ง ซึ่งการประชุมครั้งนี้นับเป็นเวทีด้านการศึกษาระดับภูมิภาคที่สำคัญยิ่ง โดยผู้กำหนดนโยบายด้านการศึกษาของประเทศสมาชิกซีมีโอจะได้ร่วมกันหารือเพื่อ กำหนดนโยบายและแนวทางการดำเนินงานด้านการศึกษาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงมีความยินดีที่จะเป็นผู้แทนของรัฐบาลไทยในการต้อนรับทุกท่านสู่ประเทศไทย และพร้อมที่จะให้การสนับสนุนเพื่อให้การประชุมครั้งนี้ดำเนินไปด้วยความ เรียบร้อยทุกประการ

ในฐานะ รมว.ศึกษาธิการ มีความตระหนักดีว่าการประชุมสภาซีเมคครั้งนี้มีความสำคัญ เนื่องจากปี 2558 เป็นปีที่องค์การซีมีโอครบรอบ 50 ปี ซึ่งถือว่าเป็นกลไกด้านการศึกษาที่มีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ที่สุดในภูมิภาค องค์การซีมีโอได้ดำเนินโครงการและกิจกรรมต่างๆ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาการศึกษาของภูมิภาคนี้ในช่วงที่ผ่านมาได้ เป็นอย่างดี ขอแสดงความชื่นชมต่อความสำเร็จที่ผ่านมาขององค์การซีมีโอ อีกทั้งเชื่อมั่นว่าด้วยความร่วมแรงร่วมใจและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของ สมาชิกสภาซีเมค จะส่งผลให้องค์การซีมีโอสามารถพัฒนาการศึกษาในภูมิภาคให้บรรลุผลตามเป้าหมาย ที่กำหนดไว้ได้อย่างเข้มแข็งทั้งในปัจจุบันและอนาคต

การประชุมสภาซีเมค ครั้งที่ 48 เป็นเวทีเชิงยุทธศาสตร์ระดับนโยบายด้านการศึกษาของภูมิภาคที่ประเทศสมาชิก ของซีมีโอจะได้ร่วมกันพิจารณาทบทวนผลการดำเนินงานทั้งในด้านอุปสรรคและปัญหา ขององค์การซีมีโอในช่วงที่ผ่านมา พร้อมทั้งร่วมกำหนดนโยบายและทิศทางการดำเนินงานในอนาคตขององค์การซีมีโอ เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมของภูมิภาคให้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ เชื่อว่าตลอดการประชุมสภาซีเมค รวมถึงการประชุมโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรีในหัวข้อ “องค์การซีมีโอในทศวรรษหน้า” (SEAMEO in the Next Decade) ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 8 พฤษภาคม 2558 จะเป็นเวทีที่สะท้อนพลังแห่งภูมิปัญญาและความมุ่งมั่นที่สภาชิกสภาซีเมคจะ ได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น รวมทั้งร่วมกันกำหนดนโยบาย และทิศทางเชิงยุทธศาสตร์ขององค์การซีมีโอในอนาคตเพื่อเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาของประเทศสมาชิกให้มี ความเข้มแข็งรู้เท่าทัน และสามารถผลิตกำลังคนที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

seamec 48 3 pattaya6 9 may 2558

ปัจจุบันกระทรวงศึกษาธิการของไทยตระหนักถึงภารกิจสำคัญในการพัฒนาการศึกษาของชาติและภูมิภาค และได้ร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกับองค์การซีมีโอในการดำเนินงานเพื่อพัฒนาการศึกษาอย่างต่อเนื่อง อาทิ การให้โอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรมเพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำ ทางสังคม การพัฒนาระบบการจัดการศึกษาและหลักสูตรการศึกษาให้มีคุณภาพและมาตรฐาน การปลูกฝังเยาวชนให้มีคุณธรรม มีระเบียบวินัย และตระหนักถึงหน้าที่และความรับผิดชอบต่อสังคม การส่งเสริมและยกสถานะวิชาชีพครู เป็นต้น ประเทศไทยให้ความสำคัญต่อการพัฒนาความร่วมมือด้านการศึกษาในภูมิภาคเอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้ โดยได้ประสานความร่วมมือทั้งในระดับพหุภาคีและทวิภาคีกับประเทศต่างๆ โดยรัฐบาลไทยจะมุ่งมั่นทำงานร่วมกับนานาประเทศ องค์การระดับภูมิภาค และองค์การระหว่างประเทศ เพื่อพัฒนาความร่วมมือด้านการศึกษาอย่างต่อเนื่องต่อไป โดยเฉพาะการพัฒนาให้พลเมืองของชาติ รวมถึงเยาวชนในยุคปัจจุบันให้สามารถดำรงชีวิตในสังคมดิจิตอล สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์ต่อสังคมในองค์รวม นอกจากนี้ ได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาผู้เรียนให้เป็นผู้ที่มีคุณธรรม มีความรู้ความสามารถ มีทักษะชีวิตและสังคมที่เหมาะสม เป็นพลเมืองของชาติที่ดีที่พร้อมก้าวสู่การเป็นประชาคมของภูมิภาคในปัจจุบัน และเป็นพลเมืองของโลกในอนาคต

ใน การนี้ เชื่อมั่นว่าประเทศสมาชิกองค์การซีมีโอจะมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกันเพื่อแลก เปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในการรับมือกับปัญหา อุปสรรค และความท้าทายทางการศึกษาที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ขณะเดียวกันก็จะกำหนดแผนงานด้านการศึกษาในอนาคต โดยคำนึงถึงความจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนการศึกษาเพื่อพัฒนาทรัพยากร มนุษย์ให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกในยุคโลกาภิวัตน์

ทั้งนี้ อาจต้องมองย้อนหลังเพื่อรำลึกถึงผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการทำงาน ขององค์การที่ถือเป็นการวางรากฐานที่มั่นคงไว้ให้กับองค์การในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นบุคคลที่ควรถือเป็นแบบอย่างที่น่ายกย่อง และเพื่อเป็นการแสดงความเคารพบุคคลกลุ่มนี้ องค์การซีมีโอจึงได้จัดให้มีรางวัล “SEAMEO Recognition Award” ให้กับผู้ที่ได้มีส่วนในการทำคุณประโยชน์ให้กับองค์การ จำนวน 6 ท่าน ซึ่งรางวัลนี้ถือเป็นรางวัลที่ทรงคุณค่า จึงถือโอกาสนี้ขอบคุณและขอแสดงความยินดีกับผู้ที่ได้รับรางวัลทั้ง 6 ท่านไว้ ณ ที่นี้

ในท้ายที่สุดนี้ ขอต้อนรับทุกท่านสู่ประเทศไทยอีกครั้ง และหวังว่าตลอดเวลาที่ท่านพำนักในประเทศไทย จะประสบกับความสุข ได้สัมผัสกับประสบการณ์ที่ประทับใจ และขอเชิญทุกท่านแวะเยี่ยมเยือนสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของประเทศไทย โดยเฉพาะจังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและมีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยว ของประเทศไทยและของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยชาวจังหวัดชลบุรีทุกคนมีความยินดีและพร้อมที่จะให้การต้อนรับด้วยมิตร ไมตรี ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ในการต้อนรับแขกผู้มาเยือนซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชาว ไทยทุกคน โอกาสนี้ขออวยพรให้การประชุมสภาซีเมค ครั้งนี้ 48 บรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ทุกประการ

seamec 48 4 pattaya6 9 may 2558

จากนั้น รมว.ศึกษาธิการ และศาสตราจารย์ ดร.ฟาม วู ลุน ประธานสภาซีเมค มอบรางวัลสำหรับผู้ทำคุณประโยชน์ให้องค์การซีมีโอในรอบ 50 ปี (SEAMEO Recognition Award ) จำนวน 6 ราย ดังนี้

1) H.E. Pehin Orang Kaya Laila Wijaya Dato Seri Setia (Dr) Haji Awang Abdul Aziz bin Begawan Pehin Udana Khatib Dato Seri Paduka Haji Awang Umar, ประเทศบรูไน ดารุสซาลาม
2) Prof. Dr. Bambang Sudibyo, ประเทศอินโดนีเซีย
3) Dato’ Dr. Ahamad bin Sipon, ประเทศมาเลเซีย
4) Prof. Dr. Erlinda C. Pefianco, ประเทศฟิลิปปินส์
5) Prof. Dr. Adul Wichiencharoen, ประเทศไทย
6) Mr. Tran Ba Viet Dzung, ประเทศเวียดนาม

ภายหลังพิธีเปิดการประชุมในช่วงเช้า รมว.ศึกษาธิการ พร้อมด้วยศาสตราจารย์ ดร.ฟาม วู ลุน และ Dr. Gatot Hari Priowirjanto ผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการซีมีโอ ได้ร่วมแถลงข่าวการจัดประชุมสภาซีเมค ครั้งที่ 48 ณ ห้องจอมเทียน 8 ชั้น 2

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การประชุมสภารัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ “สภาซีเมค” จัดขึ้นเป็นประจำทุกๆ 2 ปี โดยเป็นเวทีในการกำหนดนโยบายการดำเนินความร่วมมือด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้เป็นแรงงานที่สำคัญของภูมิภาค มีขีดความสามารถและสามารถยืนหยัดเป็นประชาชนของโลกได้อย่างสมบูรณ์ การประชุมสภาซีเมค ครั้งที่ 48 เป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทยจะได้แสดงศักยภาพในการเป็นผู้นำในการพัฒนาไปสู่ การดำเนินงานให้เป็นรูปธรรม และจะได้มีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางการพัฒนาการศึกษา โดยเฉพาะในช่วงของการเชื่อมต่อการเข้าสู่ประชาคมเดียวกันของภูมิภาค ซึ่งในทางปฏิบัติ องค์การซีมีโอได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับอาเซียนมาเป็นเวลายาวนาน เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาการศึกษาอย่างยั่งยืน ทั้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประชาคมโลกในอนาคต

การประชุมครั้งนี้ มีประเด็นสำคัญทั้งสิ้น 6 ประเด็น ได้แก่

1) การต้อนรับหน่วยงานใหม่ที่เข้าร่วมเป็นหน่วยงานที่เป็นสมาชิกสมทบในครอบครัวซีมีโอ คือ China Education Association for International Exchange หรือ CEAIE (ซีอีเอไออี) ซึ่งเป็นองค์กรที่มีการดำเนินกิจกรรมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีความเข้ม แข็ง และกล่าวได้ว่าเป็นหน่วยงานที่มีความมุ่งมั่นและเจตนารมณ์เดียวกับองค์การซีมึโอ

2) การเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปีในการก่อตั้งองค์การซีมีโอในปี 2558 ซึ่งนับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อองค์การซีมีโอและประเทศสมาชิกที่ได้ ดำเนินงานด้วยความเข้มแข็ง โดยในรอบ 50 ปีที่ผ่านมาได้ดำเนินการที่สะท้อนถึงการรวมพลังสำคัญของประเทศสมาชิก และศูนย์ระดับภูมิภาคของซีมีโอ จนทำให้ซีมีโอเป็นกลไกที่สำคัญต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในภูมิภาคและมีประสิทธิภาพ

3) การเป็นประธานสภาซีเมคของประเทศไทยในช่วงสองปีนับจากนี้ ซึ่งขอยืนยันที่จะสืบสานภารกิจการดำเนินงานของซีมีโอให้เป็นไปด้วยความต่อเนื่อง มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น และพร้อมที่จะผลักดันและพัฒนาความร่วมมือกับประเทศสมาชิก เพื่อให้มีการลงทุนด้านการศึกษาเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในภูมิภาคให้เป็น พลเมืองของโลกอย่างมีประสิทธิภาพ

4) เพื่อให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ที่ได้กล่าวไปข้างต้น ประเทศไทยจึงได้กำหนดให้มีการประชุมเชิงนโยบายในหัวข้อ “การเรียนรู้ดิจิตอลเพื่อสร้างพลเมืองโลกในอนาคต” (Digital Learning for Creating Future Global Citizens) เพื่อเปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกได้ร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น และสามารถปรับใช้ในบริบทของประเทศได้อย่างเหมาะสม

5) ในประเด็นการพัฒนาการศึกษาระดับชาติของประเทศไทย ได้มีการเน้นย้ำให้ความสำคัญกับการพัฒนาครูให้เป็นแบบอย่างที่ดี เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาผู้เรียนให้สามารถคิด วิเคราะห์ แก้ไขปัญหา และเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต และจากการให้ความสำคัญต่อการพัฒนาครูข้างต้นประเทศไทยจึงริเริ่มรางวัล “สมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี” (Princess Maha Chakri Award – PMCA) เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระปรีชาสามารถด้านการศึกษาของสมเด็จพระเทพรัตน ราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยจะมีพิธีพระราชทานรางวัลให้แก่ครูผู้เสียสละและอุทิศตนเพื่อพัฒนาการ เรียนการสอนของประเทศ และส่งผลต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างมีคุณภาพในประเทศสมาชิกซีมีโอในวันที่ 2 ตุลาคม 2558

6) ในปี 2558 ซึ่งเป็นปีแห่งการเชื่อมต่อการจัดการศึกษาเพื่อปวงชนที่ทุกประเทศจะต้องมี การดำเนินการให้บรรลุผลและก้าวสู่การพัฒนาการศึกษาภายหลังปี 2558 โดยทุกประเทศมีภารกิจสำคัญเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาการศึกษาให้เป็นไป อย่างสอดคล้องกับเป้าหมายวาระการพัฒนาของสหประชาชาติ

สำหรับการเตรียมความพร้อมในการจัดประชุมสภาซีเมค ครั้งที่ 48 กระทรวงศึกษาธิการไทยมีการเตรียมการมาเป็นระยะเวลานานพอสมควรร่วมกับสำนัก งานเลขาธิการซีมีโอซึ่งตั้งอยู่ในประเทศไทยใน 2 เรื่องหลัก คือ 1) การอำนวยความสะดวก/ความปลอดภัยให้กับผู้เข้าร่วมประชุมชาวต่างชาติ และ 2) สารัตถะของการประชุม โดยในเรื่องแรก ได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากทางจังหวัดชลบุรีและเมืองพัทยา รวมทั้งหน่วยงานราชการและองค์กรในพื้นที่ด้วย สำหรับสารัตถะของการประชุมนั้น ได้มีการเตรียมความพร้อมทั้งด้านสาระ ความรู้ ในการดำเนินร่วมมือกับประเทศสมาชิกซีมีโอ เช่น การประชุมเต็มคณะ การประชุมโต๊ะกลม การบรรยายในหัวข้อที่เกี่ยวกับการศึกษา โดยเฉพาะเรื่องการพัฒนาคุณภาพของบุคลากรในยุคดิจิตอล และการดำเนินการขององค์การซีมีโอในอีก 10 ปีข้างหน้า เพื่อให้สมาชิกสภาซีเมคได้ร่วมกันให้ข้อคิดเห็นและใช้เป็นแนวทางการดำเนินงานต่อไป

ศาสตราจารย์ ดร. ฟาม วู ลุน กล่าวขอบคุณกระทรวงศึกษาธิการไทย หน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประชาชนเมืองพัทยาที่ช่วยอำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัยให้กับผู้ เข้าร่วมประชุม ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือของทุกฝ่ายในการจัดประชุมฯ 50 ปีที่ผ่านมา ประเทศสมาชิกซีมีโอได้ดำเนินความร่วมมือในการพัฒนาในหลายด้านด้วยกัน โดยเฉพาะด้านการศึกษาที่มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และปัญหาซึ่งกันและกัน สมัยก่อนการพัฒนาประเทศจะขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละประเทศ แต่ปัจจุบันใกล้จะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน การดำเนินความร่วมมือ การวางยุทธศาสตร์ร่วมกันเพื่อให้มีการพัฒนาไปในทิศทางเดียวกันจึงมีความ สำคัญ โดยองค์การซีมีโอเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการพัฒนาในด้านดังกล่าว ทุกประเทศในอาเซียนอาจมีการพัฒนาที่แตกต่างกัน แต่ความเห็นที่ตรงกันคือ การพัฒนาทุกด้านจะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีทรัพยากรมนุษย์ และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ถือเป็นการพัฒนาที่สำคัญที่สุดซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาในด้านอื่น ดังนั้น การพัฒนาด้านการศึกษาก็เป็นเรื่องที่มีความสำคัญเช่นกัน จะมีการพัฒนาร่วมกันในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นการให้ความสำคัญด้านการศึกษาในระดับปฐมวัย ระดับมัธยมศึกษา ระดับอุดมศึกษา และการศึกษาในภาคประชาชน ด้วยศักยภาพของกระทรวงศึกษาธิการไทยและประสบการณ์ในการทำงานที่ผ่านมา อีกทั้ง รมว.ศึกษาธิการไทยจะดำรงตำแหน่งประธานสภาซีเมคคนต่อไปในปีนี้ เชื่อมั่นว่าจะสามารถพัฒนาและดำเนินงานต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีการขยายการพัฒนาในส่วนอื่นๆ เพิ่มขึ้นต่อไปในอนาคต

Dr. Gatot Hari Priowirjanto กล่าวว่า มีความต้องการให้เร่งผลักดันการดำเนินความร่วมมือระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้านการศึกษาภายใต้กรอบซีมีโอหลายเรื่องด้วยกัน เช่น ความร่วมมือด้านการอาชีวศึกษา การสร้างเครือข่ายการพัฒนาครู การพัฒนาครูให้สามารถใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการเรียนการสอน เนื่องจากโลกกำลังเข้าสู่ยุคของดิจิตอล การส่งเสริมการเคลื่อนย้ายของนักศึกษาในระดับอุดมศึกษา การจัดทำหลักสูตรเกี่ยวกับศตวรรษที่ 21 เพื่อให้นักเรียนนักศึกษาสามารถเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ และคาดหวังว่าจะเป็นการส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือในระดับนักเรียนนักศึกษา และครูในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น

ในช่วงบ่ายของวันที่ 7 พฤษภาคม 2558 เป็นการประชุมเต็มคณะระดับนโยบายในหัวข้อ “Digital Learning for Creating Future Global Citizens” ซึ่งผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ (นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์) เป็นองค์ปาฐกของไทย

ส่วนในช่วงค่ำของวันที่ 7 พฤษภาคม 2558 เป็นงานเลี้ยงรับรองโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่สำคัญคือวิทยาลัยเทคนิคกำแพงเพชร ได้รับเกียรติให้เป็นผู้รังสรรค์สถานที่จัดงานเลี้ยงในครั้งนี้อย่างยิ่งใหญ่ สมศักดิ์ศรีการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในครั้งนี้

seamec 48 5 pattaya6 9 may 2558

อนึ่ง เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2558 พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้มีการหารือทวิภาคีกับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการประเทศต่างๆ ส่วนในช่วงค่ำ ได้เข้าร่วมงานเลี้ยงรับรองคณะผู้เข้าร่วมการประชุมฯ โดยมีนายเอกชัย คมสัน ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เป็นเจ้าภาพ

******************************************

สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
6 พฤษภาคม 2558