Loading color scheme

ผู้อำนวยการยูนิเซฟประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก เข้าเยี่ยมคารวะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

unicef 1 9 7 2561เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2561 เวลา 09.00 น. Ms. Karin Hulshof ผู้อำนวยการยูนิเซฟประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (The UNICEF Regional Director for East Asia and the Pacific Region (EAPRO) เข้าเยี่ยมคารวะนายธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ณ กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อหารือความร่วมมือในประเด็นด้านการศึกษา โดยเฉพาะเรื่องการพัฒนาเยาวชน การพัฒนาครู ความเท่าเทียมด้านการศึกษา และการพัฒนาเด็กปฐมวัย

ยูนิเซฟมีการดำเนินงานภายใต้โครงการที่หลากหลาย และมีความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ เช่น การพัฒนาเด็กตั้งแต่ปฐมวัย การให้ความรู้แก่พ่อแม่ในการดูแลเด็กอย่างมีคุณภาพ การส่งเสริมด้านโภชนาการ การติดตามการใช้งบประมาณด้านการศึกษาเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและขจัดความเหลื่อล้ำทางการศึกษา การส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพของเด็กด้อยโอกาส และการส่งเสริมทักษะเยาวชนให้สามารถปรับตัวเข้ากับสังคมโลกในปัจจุบันได้ เป็นต้น อีกทั้งยูนิเซฟได้ส่งเสริมการศึกษาที่ใช้ภาษาแม่เป็นสื่อกลาง โดยยูนิเซฟมีความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และมหาวิทยาลัยมหิดลในการดำเนินงานเรื่องพหุภาษา (Multilingual) ภายใต้โครงการ Bridge to a Brighter Tomorrow เพื่อให้เด็กนักเรียนได้ใช้ภาษาแม่ ซึ่งไม่ใช่ภาษาไทย ได้มีโอกาสเข้าถึงความรู้และพัฒนาคุณภาพการศึกษา

นอกจากนี้ ยูนิเซฟมีความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการจัดการศึกษาให้เด็กด้อยโอกาส โดยยูนิเซฟมีความร่วมมือกับเขตพื้นที่การศึกษาในการพัฒนาแหล่งเรียนรู้แก่พื้นที่สูงและที่อยู่ห่างไกล เช่น การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ Satellite Schools การดำเนินงานห้องสมุดเคลื่อนที่ การส่งเสริมการศึกษาแก่เด็กไร้สัญชาติ ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการมีการดำเนินงานเรื่องโรงเรียนประชารัฐ ซึ่งเป็นความร่วมมือในการพัฒนาสถานศึกษาระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยรวมถึงการจัดการศึกษาแก่เด็กต่างด้าวด้วย

ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการได้เสนอให้มีการบูรณาการการดำเนินงานที่สอดคล้องกับยูนิเซฟ เช่น การเชื่อมโยงการดำเนินงานด้านทวิภาษากับการดำเนินงานของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และศูนย์การศึกษาภาคใต้ ในการส่งเสริมการใช้ทวิภาษาในการเรียนการสอนแก่ชนกลุ่มน้อย การส่งเสริมทักษะเด็กในโรงเรียนให้สามารถปรับตัวได้กับภาวะโลกปัจจุบัน โดยนอกจากความรู้ด้านวิชาการแล้ว เด็กนักเรียนจะต้องเรียนรู้ทักษะด้านอื่นๆ ด้วย หรือ soft skills เช่น การสื่อสาร การคิดวิเคราะห์ เป็นต้น

unicef asia2 6-7-2561

unicef asia3 9 7 2561

******************************************************

สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
6 กรกฎาคม 2561