ข่าวความเคลื่อนไหว
สรุปสาระสำคัญการประชุม “3rd Asia-Pacific Regional Policy Forum on Early Childhood Care and Education”และการประชุมคู่ขนาน เรื่อง “2018 Asia-Pacific Regional Early Childhood Development Conference” ระหว่างวันที่ 5 – 7 มิถุนายน 2561 ณ กรุงกาฐมาณฑุ ประเท
1. การประชุมครั้งนี้ จัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษา วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งประเทศเนปาล ร่วมกับองค์การยูเนสโก ยูนิเซฟ และเครือข่ายภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกสำหรับเด็กปฐมวัย (Asia-Pacific Regional Network for Early Childhood: ARNEC) มีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เข้าประชุม ได้แบ่งปันและแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ รวมทั้งหารือในประเด็นยุทธศาสตร์เชิงนวัตกรรม เพื่อพัฒนาด้านการดูแลและการศึกษาเด็กปฐมวัย (ECCE) ให้มีคุณภาพและเกิดความเท่าเทียม สร้างแรงผลักดันในการพัฒนา ECCE ที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 4 เรื่องคุณภาพการศึกษา ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานตามแถลงการณ์ปุตราจายา ปี 2559 (2016 Putrajaya Declaration) ตลอดจนหารือเชิงนโยบายเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการดำเนินความร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว
2. การประชุมฯ แบ่งเป็น 1) การประชุม “3rd Asia-Pacific Regional Policy Forum on Early Childhood Care and Education (ECCE)” หัวข้อ “Taking SDG 4.2 from Policy to Action” ระหว่างวันที่ 5 – 6 มิถุนายน 2561 และ 2) การประชุมคู่ขนาน เรื่อง “2018 Asia-Pacific Regional Early Childhood Development (ECD) Conference” หัวข้อ “Towards Achieving the Sustainable Development Goals: What is a Successful Multi-Sectoral Approach to ECD?” ระหว่างวันที่ 5 – 7 มิถุนายน 2561 โดยรูปแบบการประชุม ประกอบด้วย การประชุมทางวิชาการ การประชุมโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรี และการประชุมกลุ่มย่อย ผู้เข้าประชุมเป็นผู้แทนระดับรัฐมนตรี ผู้บริหารระดับสูง ผู้กำหนดนโยบาย ผู้บรรยาย ผู้อภิปราย ผู้ดำเนินการอภิปราย และผู้นำเสนอผลงานทางวิชาการ จากประเทศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก รวมทั้งผู้แทนจากหน่วยงานสหประชาชาติ องค์การระหว่างรัฐบาล และหน่วยงานผู้บริจาคที่เกี่ยวข้อง ด้าน ECCE รวมประมาณ 40 ประเทศ ทั้งนี้ ประเทศไทย โดยสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการได้เสนอชื่อ นางวัฒนาพร ระงับทุกข์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (หัวหน้าคณะ) และ นางสาวสิริภัคค์ ธรรมบุศย์ นักวิเทศสัมพันธ์ ชำนาญการ สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป. และผู้แทนสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ได้แก่ นางเกื้อกูล ชั่งใจ ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ นางสาวจันทิมา ศุภรพงศ์ นักวิชาการศึกษา ชำนาญการพิเศษ และ นางสาวแววดาว อุทิศ นักวิชาการศึกษา ปฏิบัติการ เข้าร่วมการประชุมฯ
3. ในช่วงพิธีเปิดการประชุม Mr K P Sharma Oli นายกรัฐมนตรีเนปาล ให้เกียรติเป็นประธาน ร่วมกับ Mr Giriraj Mani Pokharel รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษา วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งประเทศเนปาล โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย Dr Sheldon Shaeffer ประธานกรรมการผู้อำนวยการของ ARNEC Ms Jean Gough ผู้อำนวยการสำนักงานยูนิเซฟแห่งเอเชียใต้ Mr Shigeru Aoyagi ผู้อำนวยการสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ และ Mr Lu Mai เลขาธิการ China Development Research Foundation (CDRF) ร่วมกล่าวต้อนรับ
4. สาระสำคัญของการประชุม
4.1 การประชุมทางวิชาการ เป็นการบรรยายและนำเสนอในหัวข้อต่าง ๆ ได้แก่ การดำเนินงานจากหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อการพัฒนาเด็กปฐมวัย (Multisectoral Approach to ECD) ความก้าวหน้าและแผนการพัฒนาเด็กปฐมวัยของเนปาล แนวโน้มโลกด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย กรอบการดูแล และพัฒนาเด็กปฐมวัย ประสบการณ์และกรณีศึกษาในสปป.ลาวและเมียนมา ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ตระหนักถึงการมีส่วนร่วมรับผิดชอบจากทุกภาคส่วนในการจัดการศึกษา การทำงานของภาคส่วนต่าง ๆ ร่วมกับผู้ดูแล (Caregivers) เพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้ ทักษะ และความชำนาญ การส่งเสริมโอกาสในการเรียนรู้ให้แก่เด็กแรกเกิด การขจัดความไม่เท่าเทียมตั้งแต่แรกเริ่ม การใส่ใจเรื่องโภชนาการและสารอาหารที่จำเป็นซึ่งจะช่วยเสริมพัฒนาการของเด็ก การพัฒนาศักยภาพของผู้ดูแล การสนับสนุนของครอบครัว การสื่อสารแลกเปลี่ยนระหว่างพ่อแม่และชุมชนซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเด็กปฐมวัย การพัฒนาเด็กปฐมวัยแบบองค์รวม (Holistic Early Childhood Development) ซึ่งต้องอาศัยเครือข่ายที่เข้มแข็ง การดำเนินงานวิจัยและการแบ่งปันแนวทางปฏิบัติ รวมถึงการประสานงานระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ
จากประสบการณ์ของประเทศเนปาลในการพัฒนาเด็กปฐมวัยชี้ให้เห็นว่า การดำเนินความร่วมมือแบบครอบคลุมและเปิดโอกาสให้หลายฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม รวมถึงชุมชน เอกชน องค์กรต่าง ๆ และหุ้นส่วนในการพัฒนาเป็นสิ่งสำคัญ รวมถึงการจัดทำยุทธศาสตร์พัฒนาเด็กปฐมวัยที่เน้นเรื่องน้ำ สุขาภิบาล และสุขอนามัย การจัดสรรทรัพยากรเพื่อการพัฒนาเด็กปฐมวัย โดยเฉพาะการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ที่มุ่งบูรณาการแผนชาติ ดำเนินโครงการ/แผนงานที่สอดคล้องกับ SDG จัดทำกรอบตัวชี้วัด ประเมินและติดตาม พร้อมทบทวนแนวทางการดำเนินงาน (Roadmap) และแผนปฏิบัติการเชิงบูรณาการ นอกจากนี้ ที่ประชุมยังให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างข้อตกลงร่วมกันทางการเมือง (Political Commitment) ซึ่งจะนำไปสู่การบรรลุผลลัพธ์ด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย รวมถึงเด็กที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งและอยู่ในสภาวะความตึงเครียดสูง ทั้งนี้ ข้อตกลงร่วมกันทางการเมืองที่สามารถนำไปสู่การดำเนินโครงการและแผนงานต่าง ๆ อาจประกอบด้วย
1) การลงทุนอย่างเร่งด่วนในการให้บริการแก่เด็ก โดยเฉพาะกลุ่มเด็กที่ขาดแคลนมาก ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีต่อการพัฒนาชีวิต
2) การขยายการเข้าถึงการให้บริการที่จำเป็นและมีประสิทธิภาพในการพัฒนาเด็กปฐมวัยทั้งที่บ้าน โรงเรียน ชุมชน และคลินิกสุขภาพ
3) การจัดทำนโยบายส่งเสริมครอบครัวให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาเด็กปฐมวัย
4) การรวบรวมข้อมูลตัวชี้วัดที่จำเป็นด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย และติดตามความก้าวหน้าในการเข้าถึงกลุ่มเด็กที่ขาดแคลนมาก
5) การจัดหาผู้นำที่ทุ่มเทและเสียสละซึ่งสามารถทำงานร่วมกับหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินแผนงานด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย และประสานความร่วมมือให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
6) การขับเคลื่อนความต้องการในการให้บริการที่มีคุณภาพด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัยเพื่อสร้างสมดุลในชีวิต
ดังนั้น การลงทุนเพื่อพัฒนาเด็กจึงสำคัญอย่างมากต่อการแก้ไขปัญหาความยากจนและลดช่องว่างของเด็กที่อาศัยอยู่ในชนบทตามลำพังและขาดการเลี้ยงดูจากพ่อแม่ นอกจากนี้ ยังควรส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ (Breastfeeding) ประสานการดำเนินงานให้เกิดความเชื่อมโยงในทุกระดับ และสนับสนุนการใช้เครื่องมือวัดที่เป็นสากลเพื่อประเมินผลกระทบและคุณภาพในการพัฒนาเด็กปฐมวัย
4.2 การประชุมโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรี (Ministerial Roundtable) แบ่งเป็น 4 ช่วง ซึ่งผู้แทนระดับรัฐมนตรีและผู้บริหารระดับสูง (ประเทศละ 2 คน) ได้ร่วมกันหารือเกี่ยวกับการดำเนินงานด้าน ECCE รายงานความคืบหน้าการดำเนินงานของประเทศตามเป้าประสงค์ที่ 4.2 พิจารณาแนวทางในการพัฒนาแผนปฏิบัติการของอนุภูมิภาคอย่างเป็นรูปธรรมต่อไปเพื่อให้สอดคล้องตามแถลงการณ์ปุตราจายาใน 9 ข้อหลัก และรับรองแผนปฏิบัติการของอนุภูมิภาค ทั้งนี้ จากสรุปผลการสำรวจการเก็บข้อมูลด้าน ECCE ในภาพรวมชี้ให้เห็นว่า ประเทศต่าง ๆ จัดแบ่งระดับอายุของการศึกษาปฐมวัยซึ่งส่วนใหญ่จะเริ่มที่อายุ 6 ปี กำหนดให้การศึกษาปฐมวัยเป็นการศึกษาภาคบังคับที่เด็กทุกคนต้องเข้าเรียนอย่างน้อย 1 ปี โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย มีกระทรวงศึกษาธิการเป็นหน่วยงานหลัก จัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ชุมชน หุ้นส่วนความร่วมมือ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการดังกล่าว จัดฝึกอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพของครูและบุคลากรที่เกี่ยวข้องด้าน ECCE จัดทำแผนงานเชิงบูรณาการและครอบคลุม จัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ
อย่างไรก็ตาม ยังพบว่าหลายประเทศยังไม่มีการดำเนินงานและติดตามผลโดยสอดคล้องกับปฏิญญาปุตราจายา และยังมีสิ่งท้าทายในเรื่องของเครือข่ายความร่วมมือที่ยังไม่เข้มแข็ง การขาดแคลนแหล่งเงินและทรัพยากรมนุษย์ การขาดความเสถียรภาพของหน่วยงานที่ดำเนินการประสานและนโยบายที่ไม่มั่นคง การขาดแคลนครูที่ผ่านการอบรมเฉพาะด้านปฐมวัย ช่องว่างด้านคุณภาพของครูในเมืองและชนบท การขาดเครื่องมือวัดประเมินผลและติดตามการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กแบบองค์รวม โดยเฉพาะเครื่องมือที่ได้มาตรฐานสากล การขาดทักษะการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อนำไปสู่การจัดทำนโยบายและปฏิบัติ ตลอดจนแผนการดำเนินงานด้านการเสริมสร้างความตระหนักและความสำคัญในการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน การลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน การเข้าถึงการพัฒนาเด็กแบบองค์รวม ยังไม่ปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรม รวมทั้งการเสริมสร้างความเข้มแข็งในการดำเนินความร่วมมือทั้งในระดับภูมิภาคและอนุภูมิภาค
อนึ่ง ที่ประชุมยังได้รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานของประเทศ ซึ่งในส่วนของประเทศไทยโดย นางวัฒนาพร ระงับทุกข์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวว่า ประเทศไทยได้เร่งดำเนินการตามแผนปฏิบัติการทั้ง 9 ประการของปฏิญญาฯ โดยมีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติที่กำหนดให้รัฐต้องดำเนินการให้บุคคลมีสิทธิและโอกาสเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า 12 ปี และไม่เก็บค่าใช้จ่าย มีการดำเนินโครงการ 15 ปีเรียนฟรี การกำหนดพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. 2561 ที่เน้นสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการศึกษาแก่เด็กและเยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ และผู้ด้อยโอกาสจนสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐาน การดำเนินโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดู เด็กแรกเกิดที่อยู่นอกระบบประกันสังคม การจัดสรรเงินเป็นค่าอาหารกลางวันสำหรับเด็กปฐมวัย และค่าอาหารเสริมนมสำหรับ เด็กปฐมวัยในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียนสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งให้เงินอุดหนุนเพื่อค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน คนละ 1,700 บาท/คน/ปี นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินโครงการพัฒนาเครื่องมือในการคัดกรองประเมินและวินิจฉัยความผิดปกติของพัฒนาการสำหรับเด็กปฐมวัย และแผนงานส่งเสริมพัฒนาการเด็กและเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รวมทั้งขับเคลื่อนการพัฒนาระบบสารสนเทศและฐานข้อมูลเด็กปฐมวัย การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารราชการและเชื่อมโยงกับการทำ Big data การดำเนินความร่วมมือกับองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย โดยใช้โปรแกรม Multiple Indicators Cluster Survey (MICS) เพื่อสำรวจครัวเรือนในระดับนานาชาติ ตลอดจนการได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานเรื่องสมรรถนะของเด็กปฐมวัยจากองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย
ทั้งนี้ ภายหลังการประชุมข้างต้น ประเทศต่าง ๆ ได้ร่วมกันหารือแนวทางในการพัฒนาแผนปฏิบัติการของอนุภูมิภาค และได้รับรองแผนดำเนินงาน “Kathmandu Statement for Action” ซึ่งมุ่งเน้นประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1) ด้านการเงิน 2) ด้านการวางแผนของภาคการศึกษาในเรื่องการดูแลและการศึกษาเด็กปฐมวัย 3) ความเสมอภาคในการเข้าถึงการศึกษาปฐมวัยอย่างทั่วถึง 4) การปรับปรุงคุณภาพ และ5) การติดตามตัวชี้วัดที่ 4.2
4.3 การประชุมกลุ่มย่อย ประเทศต่าง ๆ ได้เข้าร่วมการประชุมตามหัวข้อย่อยที่สนใจ อาทิ สุขอนามัยและโภชนาการ การตอบสนองการดำเนินงานของผู้ดูแลเด็กปฐมวัย นวัตกรรมและเครือข่ายความร่วมมือด้าน ECD การเสริมสร้างความรู้และทักษะแก่พ่อแม่ในชุมชนที่ด้อยโอกาส ความปลอดภัยและการปกป้องเด็ก การส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูและนักเรียน การบูรณาการการทำงานจากหลายภาคส่วน การให้บริการ แก่เด็กโดยเน้นชุมชนเป็นศูนย์กลาง และการส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาแม่ตั้งแต่แรกเริ่ม เป็นต้น
***********************************
กลุ่มความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
26 มิถุนายน 2561