Loading color scheme

เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทยเข้าเยี่ยมคารวะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

aus 24 1 2561

 

H.E. Mr. Paul  Robillard, the Australia Ambassador to the Kingdom of Thailand paid a courtesy call on Clin. Prof. Udom Kachintorn, M.D., to congratulate him on his appointment as Deputy Minister of Education and discuss educational cooperation at MOE, January 24 2018.

เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2561 เวลา 10.00 น. นายพอล โรบิลลียาร์ด (H.E. Mr. Paul Robilliard) เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะนายอุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อแสดงความยินดีในโอกาสเข้ารับตำแหน่งและหารือความร่วมมือด้านการศึกษา ณ ห้องรับรอง 2 อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวต้อนรับเอกอัครราชทูตออสเตรเลียฯ และกล่าวว่าระบบการศึกษาออสเตรเลียมีคุณภาพและมาตรฐานสูงระดับโลก และปัจจุบันประเทศไทยกำลังอยู่ในระหว่างการปฏิรูปการศึกษา ดังนั้น จึงเห็นว่าหากกระทรวงศึกษาธิการได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวปฏิบัติและประสบการณ์การจัดการศึกษากับออสเตรเลียอย่างต่อเนื่อง จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการปฏิรูปการศึกษา ในการนี้ ได้กล่าวชื่นชมการดำเนินความร่วมมือด้านการศึกษาที่ผ่านมาว่า ทั้งสองฝ่ายได้ดำเนินโครงการและกิจกรรมที่เป็นประโยชน์หลายโครงการ ภายใต้แผนการทำงาน ปี 2559-2560 ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการประชุมคณะทำงานร่วมด้านการศึกษาไทย-ออสเตรเลีย (Joint Working Group Meeting: JWG) ที่กรุงแคนเบอร์รา เมื่อปี 2558 ในโอกาสนี้ ได้เสนอประเด็นความร่วมมือ เพื่อให้ประเทศไทยและออสเตรเลียหยิบยกขึ้นหารือในการประชุม JWG ครั้งต่อไปที่กระทรวงศึกษาธิการจะเป็นเจ้าภาพภายในปี 2561 ดังนี้
          1. การพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษให้แก่ผู้เรียนทุกระดับการศึกษา : ประเด็นดังกล่าวนับเป็นหนึ่งในความท้าทายการพัฒนาคุณภาพการศึกษา เนื่องจากปัจจุบันภาษาอังกฤษมีความสำคัญในการค้นคว้า หาความรู้ และการทำงานมากขึ้น จึงขอเสนอให้ฝ่ายออสเตรเลียพิจารณาสนับสนุนองค์ความรู้และประสบการณ์ จากผู้เชี่ยวชาญของออสเตรเลีย
         2. การพัฒนาคุณภาพการอาชีวศึกษา : ปัจจุบันประเทศไทยกำลังขาดแคลนแรงงานทักษะฝีมือ ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการจึงมุ่งเน้นการผลิตและพัฒนากำลังคนที่มีทักษะและความเชี่ยวชาญที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน หากเป็นไปได้ต้องการขยายความร่วมมือกับออสเตรเลียด้วย เพราะออสเตรเลียเป็นอีกประเทศหนึ่ง ที่มีมาตรฐานการอาชีวศึกษาที่ประเทศไทยสามารถนำมาเป็นแนวทางการพัฒนาคุณภาพอาชีวศึกษาได้        
         3. การปฏิรูปการศึกษาในภาพรวม : จากผลการทดสอบโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ หรือ PISA เมื่อปี 2558 พบว่า ไทยมีคะแนนเฉลี่ยทั้งสามด้านต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของ OECD จึงขอความร่วมมือจากฝ่ายออสเตรเลียพิจารณาเชิญผู้เชี่ยวชาญมาแบ่งปันองค์ความรู้และประสบการณ์ เพื่อสร้างแผนงานหรือกรอบมาตรฐานการปฏิรูปหลักสูตร เพื่อนำไปสู่ “การศึกษาที่มุ่งผลลัพธ์” (Outcome-based Education)
         4. การเสนอให้ฝ่ายออสเตรเลียพิจารณาประสานจัดการศึกษาดูงานให้แก่คณะผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ ณ Tertiary Education Quality and Standard Agency (TEQSA) : เนื่องจาก TEQSA เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทในการควบคุมมาตรฐานการศึกษาขั้นสูงของออสเตรเลีย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการนำมาประยุกต์เป็นแนวทางพัฒนาและรักษาคุณภาพมาตรฐานการอุดมศึกษาของไทย และอาจต่อยอดไปสู่การดำเนินความร่วมมือในอนาคต
         5. การเชิญชวนให้สถาบันการศึกษาออสเตรเลียที่มีศักยภาพสูงมาเปิดสอนในประเทศไทย : ที่ผ่านมา สถาบันการศึกษาต่างประเทศอาจประสบกับข้อจำกัดเกี่ยวกับกฎระเบียบและหลักเกณฑ์การเปิดสถาบัน การศึกษาในประเทศไทย แต่ปัจจุบันได้มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (มาตรา 44) ที่ช่วยผ่อนปรน กฎระเบียบ หลักเกณฑ์ และเพิ่มสิทธิประโยชน์และแรงจูงใจต่าง ๆ จึงขอให้ฝ่ายออสเตรเลียเชิญชวนสถาบัน การศึกษาเข้ามาเปิดหลักสูตรในประเทศไทย เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยคาร์เนกี เมลลอน (Carnegie Mellon University) สหรัฐอเมริกา ที่ได้เข้ามาจัดการศึกษาร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
    เอกอัครราชทูตออสเตรเลียฯ ได้แสดงความยินดีต่อการเข้ารับตำแหน่งใหม่ของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และกล่าวชื่นชมความร่วมมือด้านการศึกษาที่ไทยและออสเตรเลียดำเนินร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งกล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยนิยมเดินทางไปศึกษาต่อในออสเตรเลียมากขึ้น ทั้งในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและอุดมศึกษา และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้ดำเนินความร่วมมือ  ในทุกระดับการศึกษาภายใต้แผนการทำงาน ปี 2559-2560 เอกอัครราชทูตออสเตรเลียฯ ยังได้กล่าวว่ายินดีที่จะให้การสนับสนุนข้อเสนอของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยจะนำประเด็นต่าง ๆ ไปหารือกับกระทรวงการศึกษาและฝึกอบรม ออสเตรเลีย เพื่อผลักดันให้เป็นรูปธรรมมากที่สุด ทั้งนี้ นางสาวออคเทเวีย บอร์ธวิค อัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย กล่าวเสริมว่า ออสเตรเลียมีหน่วยงาน สถาบัน และผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมแบ่งปันข้อมูล องค์ความรู้ และประสบการณ์ ที่เป็นประโยชน์กับประเทศไทย
ในโอกาสนี้ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (นางวัฒนาพร ระงับทุกข์) ได้กล่าวสนับสนุนให้ฝ่ายออสเตรเลียเชิญชวนมหาวิทยาลัยที่มีความเชี่ยวชาญใน 5 อุตสาหกรรมอนาคต (New S-curve)  มาเปิดสอนในประเทศไทยและขยายความร่วมมือด้านการอาชีวศึกษา และผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (นางสาวชฎารัตน์ สิงหเดชากุล) ได้เสนอขอความร่วมมือจากฝ่ายออสเตรเลียในการพิจารณาผลักดันการดำเนินความร่วมมือระหว่างเครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัยกับกลุ่มมหาวิทยาลัยวิจัยของออสเตรเลีย (Group of Eight) อย่างต่อเนื่อง ทั้งใน 5 อุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ (First S-curve) และ 5 อุตสาหกรรมอนาคต (New S-curve)

aus2 24 1 2561

**********************************

สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
ภาพ : สำนักงานรัฐมนตรี
24 มกราคม 2561