ข่าวความเคลื่อนไหว
การประชุมคณะกรรมการบริหารของศูนย์ซีมีโออินโนเทค ครั้งที่ 64
นางสาวชฎารัตน์ สิงหเดชากุล ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการบริหารของศูนย์ SEAMEO INNOTECH ครั้งที่ 64 (64th SEAMEO INNOTECH Governing Board Meeting) ซึ่งศูนย์ SEAMEO INNOTECH ประเทศฟิลิปปินส์ จัดขึ้นผ่านระบบออนไลน์ ระหว่างวันที่ 27 – 28 ตุลาคม 2563 โดยมีคณะกรรมการบริหารของศูนย์ฯ และผู้แทนจากประเทศสมาชิก เข้าร่วมในการประชุม จำนวน 10 ประเทศ (ยกเว้นติมอร์-เลสเต) ทั้งนี้ ผู้อำนวยการสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป. และเจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องร่วมสังเกตการณ์ประชุมดังกล่าวด้วย
ในช่วงพิธีเปิดการประชุมฯ Dr. Ramon C. Bacani ผู้อำนวยการศูนย์ SEAMEO INNOTECH ของฟิลิปปินส์ ได้กล่าวต้อนรับคณะกรรมการบริหารของศูนย์ฯ และผู้แทนประเทศ พร้อมเน้นว่าผู้เข้าร่วม การประชุมจะได้ประโยชน์จากการรับทราบแนวทางการจัดระบบการศึกษาของประเทศต่าง ๆ เพื่อรับมือกับ การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) รวมทั้งประเด็นสำคัญเกี่ยวกับแผนพัฒนา 5 ปี ของศูนย์ฯ ระยะที่ 10 (ปีงบประมาณ 2021/2022 - 2024/2026) โดยการจัดประชุมออนไลน์ครั้งนี้ เป็นครั้งแรกของศูนย์ฯ ทั้งนี้ Mr. Jesus L.R. Mateo ปลัดกระทรวงศึกษาธิการของฟิลิปปินส์ (ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะประธานการประชุมฯ ชั่วคราว) ได้กล่าวในช่วงพิธีเปิดว่า ฟิลิปปินส์มีข้อริเริ่มในการจัดทำแผนความต่อเนื่อง ทางการเรียนรู้ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน (The Philippines’ Basic Education Learning Continuity Plan) ท่ามกลางความท้าทายจากสภาวะวิกฤตดังกล่าว และการกำหนดกลยุทธ์หลักที่มุ่งจัดการศึกษาบนพื้นฐานของ ความต่อเนื่องและตอบสนองต่อทุกกลุ่มเป้าหมาย นอกจากนี้ Dr. Ethel Agnes P. Valenzuela ผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการซีมีโอได้กล่าวขอบคุณศูนย์ SEAMEO INNOTECH ในการจัดประชุมฯ และมุ่งหวังในเรื่อง การผลักดันการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีของแต่ละประเทศเพื่อจัดการกับคุณภาพการศึกษาในช่วงของวิกฤต โควิด-19
นางสาวชฎารัตน์ สิงหเดชากุล ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะผู้แทนไทยได้กล่าวในช่วงพิธีเปิดเกี่ยวกับการจัดการศึกษาของประเทศไทยในช่วงวิกฤตโควิด-19 ว่า ประเทศไทยมีแนวทางในการจัดการศึกษาเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นโดยส่งเสริมการจัดการศึกษาและให้บริการทางการศึกษาด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล และพัฒนารูปแบบระบบนิเวศการศึกษา (Thailand Education Eco-System Model) เพื่อให้เกิดการศึกษาที่มีความเป็นเลิศ โดยมีกลไกขับเคลื่อนประกอบด้วย Human Capital Excellence (HCEC) หรือ ศูนย์พัฒนาศักยภาพบุคคลเพื่อความเป็นเลิศ Digital Education Excellence Platform (DEEP) หรือ แพลตฟอร์มด้านการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ และ Excellence Individual Development (EIDP) หรือ แผนพัฒนารายบุคคลเพื่อความเป็นเลิศ มีความร่วมมือกับเครือข่ายต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนในการดำเนินงาน
เพื่อให้สอดคล้องกับ 7 ประเด็นหลักของการปฏิรูปการศึกษาของไทย ทั้งนี้ ทุกประเทศควรมีความพร้อมในการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพให้กับนักเรียนในสถานการณ์โรคระบาดที่เกิดขึ้นทั้งในปัจจุบันและอนาคต
ที่ประชุมฯ ได้รับทราบผลการดำเนินงานของสำนักงานเลขาธิการซีมีโอในช่วงปีที่ผ่านมา โดยมีการประชุมสภารัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (สภาซีเมค) ครั้งที่ 50 ที่ประเทศมาเลเซีย การรับหน่วยงานสมทบของซีมีโอเพิ่มอีก 2 แห่ง ได้แก่ British Columbia และศูนย์การศึกษาเพื่อความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศแห่งเอเชียแปซิฟิก (Asia-Pacific Centre of Education for International Understanding: APCEIU) การรับรองแผนพัฒนา 5 ปีของศูนย์ระดับภูมิภาคของซีมีโอ รวมถึงการจัดเวทีหารือผ่านระบบดิจิทัลและ การประชุมออนไลน์ผ่าน Webinar และการจัดกิจกรรมต่าง ๆ นอกจากนี้ ศูนย์ SEAMEO INNOTECH ได้รายงานผลความสำเร็จและความก้าวหน้าของการดำเนินงาน อาทิ โครงการวิจัย การส่งเสริมและพัฒนาการเรียนรู้วิจัยและนวัตกรรมของภูมิภาค การบริหารทรัพยากรมนุษย์ การจัดทำแผนพัฒนา 5 ปีของศูนย์ฯ ระยะที่ 10 (ปีงบประมาณ 2021/2022 - 2024/2026) โดยมุ่งพัฒนาผู้เรียนในทุกกลุ่มของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อส่งเสริมทักษะชีวิตและเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น เสริมสร้างสมรรถนะครูและผู้บริหารโรงเรียน เพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดการเรียนรู้ของโลกในอนาคต รวมทั้งจัดการศึกษาแบบยืดหยุ่น สามารถนำไปปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของประเทศและภูมิภาค ตลอดจนจัดการศึกษาแบบเรียนร่วมให้มีคุณภาพ ผลักดันการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อออกแบบโปรแกรมการพัฒนาการศึกษาที่มีความหลากหลาย
ในโอกาสนี้ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะผู้แทนไทยได้กล่าวแสดงความคิดเห็นต่อแผนพัฒนา 5 ปี ของศูนย์ SEAMEO INNOTECH โดยเน้นย้ำเรื่องการเสริมสร้างศักยภาพของครูและนักเรียนในช่วงสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะการเรียนรู้และการจัดทำสื่อการสอนในรูปแบบดิจิทัล ซึ่งต้องมีการจัดฝึกอบรมครูเพื่อให้สามารถผลิตและใช้สื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการเตรียมพร้อมด้านทักษะชีวิตให้กับนักเรียนทั้งด้านการศึกษาและการจัดการชีวิตอย่างเหมาะสมในอนาคต
************************************************
กลุ่มความร่วมมือระดับภูมิภาค
รายงานโดย : กลุ่มสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
29 ตุลาคม 2563