ข่าวความเคลื่อนไหว
ไทยเสนอยูเนสโกขับเคลื่อนเป้าหมาย SDG4 แบบบูรณาการเพื่อบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก
เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2563 นางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยนายสมทรง งามวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป. ในฐานะรองเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุมทางไกลระดับอนุภูมิภาคว่าด้วยการรายงานความก้าวหน้า การดำเนินการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 4 (ระยะ 5 ปี) (Virtual Sub-regional Consultations on the Report on 5-yar Progress Review of SDG4 in Asia-Pacific) ในกรอบการประชุมของกลุ่มอนุภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจัดโดยสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ ร่วมกับองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ภายใต้คณะทำงาน Asia-Pacific Regional Thematic Working Group (RTWG) on Education 2030 โดยมีผู้แทนจากสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยยูเนสโก ผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ และผู้เชี่ยวชาญจาก 11 ประเทศในภูมิภาค เข้าร่วมการประชุมฯ
การประชุมดังกล่าวได้เริ่มโดยการนำเสนอร่างรายงานความก้าวหน้าการดำเนินการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 4 (Sustainable Development Goal 4: SDG4) ระยะ 5 ปี ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งสาระสำคัญระบุถึงการจัดการศึกษาที่ครอบคลุมและเท่าเทียมของประเทศสมาชิก โอกาสและความท้าทายของการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 4 และข้อเสนอแนะ เพื่อการพัฒนาการศึกษา หลังจากนั้นได้เปิดโอกาสให้แต่ละประเทศได้แลกเปลี่ยนถึงแนวปฏิบัติที่ดีและแสดงข้อคิดเห็นต่อการพัฒนาการศึกษาใน 10 ปีข้างหน้า ซึ่งในส่วนของประเทศไทย นางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้นำเสนอถึงการดำเนินการที่ประเทศไทยให้ความสำคัญกับ การจัดการศึกษาที่ครอบคลุม (inclusion) และเสมอภาค (equity) มาโดยตลอด ผ่านการดำเนินการ ตามยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561 – 2580 และการจัดทำข้อกฎหมายที่เอื้อต่อการเข้าถึงการศึกษาสำหรับทุกคน การจัดตั้งกองทุนเสมอภาคทางการศึกษาเพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาและลดความเหลื่อมล้ำ ทางเศรษฐสังคมของผู้เรียน และการส่งเสริมการศึกษาที่เสมอภาคสำหรับทุกคน ซึ่งขณะนี้ประเทศไทย อยู่ระหว่างการทบทวนการดำเนินงานตาม SDG โดยคณะอนุกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.) มีกระทรวงศึกษาธิการอยู่ในคณะกรรมการได้ประสานหน่วยงานรับผิดชอบหลักราย SDG ในการจัดองคาพยพการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมาย SDG และกระทรวงศึกษาธิการในฐานะผู้ประสานงาน SDG4 ของประเทศไทยจะได้จัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน SDG4 เพื่อบูรณาการการดำเนินงานรวมทั้งการติดตามและประเมินผลการขับเคลื่อน SDG4 ตลอดจนเชื่อมโยงการดำเนินงานเข้ากับเป้าหมาย SDG อื่น ๆ ด้วย
ในตอนท้าย ที่ประชุมได้รับทราบข้อเสนอแนะของประเทศต่าง ๆ ในการดำเนินการเพื่อให้บรรลุ ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายที่ 4 อาทิ การพิจารณาผลกระทบของโควิด 19 ต่อการศึกษา การจัดสรรงบประมาณโดยให้ความสำคัญกับการศึกษา การจัดตั้งคณะกรรมการชุมชน (Village Committee) เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการจัดการเรียนการสอน และการพัฒนาฐานข้อมูลด้านการศึกษาเพื่อผู้กำหนดนโยบายสามารถใช้ข้อมูลในการจัดทำนโยบายได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น ซึ่งคณะทำงาน RTWG จะได้รวบรวมข้อมูลและข้อเสนอแนะเพื่อปรับร่างรายงานครั้งสุดท้ายก่อนนำเสนอในที่ประชุมระดับรัฐมนตรีว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 4 ที่จะจัดขึ้น ณ ประเทศไทยในโอกาสต่อไป
***********************************************************
สรุปและเรียบเรียง: พนิดา ทวีลาภ
กชกร คัตตพันธ์ อาสิฬ์เฎร์
สุปราณี คำยวง
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
26 ตุลาคม 2563